วัคซีนโนวาแวกซ์ อีกหนึ่งความหวังในวิกฤตโควิด-19/บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: Vials labelled "COVID-19 Coronavirus Vaccine" and syringe are seen in front of displayed Novavax logo in this illustration taken, February 9, 2021. REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

วัคซีนโนวาแวกซ์

อีกหนึ่งความหวังในวิกฤตโควิด-19

 

วัคซีนโควิด-19 ของบริษัท “โนวาแวกซ์” เป็นวัคซีนที่เราอาจจะไม่คุ้นเคยชื่อกันเท่าไรนัก แต่ล่าสุด วัคซีนโนวาแวกซ์อาจกลับกลายเป็นเป็นอีกหนึ่งความหวังของมนุษยชาติท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลกในเวลานี้

บริษัทโนวาแวกซ์ บริษัทผู้ผลิตยาในสหรัฐอเมริกาเพิ่งประกาศผลการทดลองเชิงคลินิกในเฟสที่ 3 ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยม ถึงขนาดมีตัวเลขที่สูงกว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA อย่างของบริษัทไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาเสียอีก

ยิ่งกว่านั้น วัคซีนของโนวาแวกซ์ ยังสามารถเก็บรักษาได้ด้วยอุณหภูมิของตู้เย็นทั่วไป ต่างจากวัคซีนอื่นๆ ที่อาจจำเป็นต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำเป็นพิเศษ

นับเป็นอีกข้อได้เปรียบในการขนส่งวัคซีนไปยังทั่วทุกมุมโลก

 

บริษัทโนวาแวกซ์ บริษัทไบโอเทคโนโลยี ในไกเธอร์สเบิร์ก รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา รายงานผลการทดลองเชิงคลินิกในเฟสที่ 3 พบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการระดับปานกลางและรุนแรงได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม

โนวาแวกซ์ระบุว่า ผลการทดลองเชิงคลินิกดังกล่าวเป็นผลจากผู้เข้าร่วมทดลองจำนวนเกือบ 30,000 คนในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก และจะสามารถเป็นวัคซีนชนิดที่ 4 ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในสหรัฐอเมริกา ตามหลังวัคซีนของ “ไฟเซอร์/บิยอนเทค”, “โมเดอร์นา” และ “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน”

อย่างไรก็ตาม สแตนลีย์ เอิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโนวาแวกซ์ เปิดเผยว่า โนวาแวกซ์จะไม่ขออนุมัติในการใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉินในสหรัฐเร็วไปกว่าเดือนกันยายน เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีการดำเนินการฉีดวัคซีนในประชากรวัยผู้ใหญ่ไปแล้วกว่าครึ่งประเทศ

นั่นหมายความว่าวัคซีนโนวาแวกซ์อาจไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงกับโครงการฉีดวัคซีนในสหรัฐมากนัก และมีโอกาสสูงที่จะได้รับการอนุมัติให้ใช้งานเป็นครั้งแรกในประเทศอื่นที่ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา

 

สําหรับวัคซีนโนวาแวกซ์นั้น บริษัทโนวาแวกซ์ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐเป็นเงิน 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการพัฒนาและผลิตวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา และเวลานั้น บริษัทโนวาแวกซ์ถูกตั้งคำถามเนื่องจากไม่สามารถนำวัคซีนออกสู่ตลาดได้

อย่างไรก็ตาม เวลานี้หลังผ่านการทดลองเชิงคลินิกในเฟสที่ 3 แล้ว โนวาแวกซ์ตั้งเป้าผลิตวัคซีนให้ได้ 150 ล้านโดสต่อเดือนภายในสิ้นปีนี้ โดยมีฐานการผลิตที่โรงงานในสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และอินเดีย

วัคซีนโนวาแวกซ์เป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องฉีด 2 โดส มีราคาอยู่ที่โดสละ 16 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 500 บาท หรือราคาเท่าๆ กับวัคซีนซิโนแวคที่ไทยสั่งซื้อมาจากประเทศจีน แต่อาจจะมีราคาแพงกว่าวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และแอสตร้าเซนเนก้าที่ราคาราว 100-300 บาท แต่ก็ถูกกว่าวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา รวมถึงซิโนฟาร์ม ที่อยู่ในหลัก 600-1,000 บาทต่อโดส

อีกข้อได้เปรียบก็คือ วัคซีนโนวาแวกซ์สามารถเก็บได้ในตู้เย็นปกติ ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้นาน 3-6 เดือน มีอายุเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้อง

 

เทคโนโลยีของ “วัคซีนโนวาแวกซ์” นั้นแตกต่างจากวัคซีนที่มีอยู่ในท้องตลาด ทั้งแบบ mRNA ที่ใช้รหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 แบบไฟเซอร์ และโมเดอร์นา รวมถึงต่างจากวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่ใช้เทคโนโลยีไวรัลเว็กเตอร์อดิโนไวรัส และไม่ใช่เทคโนโลยีเก่าที่ใช้ในวัคซีนอย่าง “ซิโนฟาร์ม” และ “ซิโนแวค” ที่ใช้เชื้อตายนำมากระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย

สำหรับวัคซีนโนวาแวกซ์ หรือ NVX-CoV2373 นั้นเป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีเก่าและเทคโนโลยีใหม่ นั่นก็คือการนำไวรัสที่เรียกว่า “บาคูโลไวรัส” ไวรัสจากผีเสื้อกลางคืนจำพวก “มอธ” มาใช้ โดย “บาคูโลไวรัส” นั้นแตกต่างจากไวรัสในแมลงอื่นๆ นั่นก็คือมีความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับสัตว์มีกระดูกสันหลัง

นักวิทยาศาสตร์นำไวรัสชนิดนี้ที่ติดตั้งข้อมูลพันธุกรรมของโควิด-19 ในการสร้างโปรตีนหนามแหลม เมื่อเซลล์ของมอธติดเชื้อบาคูโลไวรัส ไวรัสดังกล่าวก็จะสร้างโปรตีนหนามแหลมแบบที่มีในโควิด-19

จากนั้นนักวิทยาศาสตร์นำโปรตีนหนามแหลมที่ได้นั้นมาผสานเข้ากับอนุภาคนาโนผลิตขึ้นมาเป็นวัคซีนโนวาแวกซ์ ที่ใช้ฉีดเข้าไปกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์ต่อไป

 

บริษัทโนวาแวกซ์ระบุว่า วัคซีนโนวาแวกซ์สามารถกระต้นภูมิต้านทานได้มากกว่า 3,000 ไตเตอร์ หรือหน่วยวัดปริมาณภูมิต้านทานที่สูงที่สุด เมื่อเทียบกับวัคซีนเทคโนโลยีแบบไวรัลเว็กเตอร์ของแอสตร้าเซนเนก้า ที่กระตุ้นได้ 200 ไตเตอร์ และยังมากกว่าเทคโนโลยีแบบ mRNA ที่กระตุ้นได้ที่กว่า 300 ไตเตอร์

ที่สำคัญด้วยเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยชิ้นส่วนโปรตีนของโควิด-19 ทำให้วัคซีนโนวาแวกซ์เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยต่อผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองเชิงคลินิกของวัคซีนโนวาแวกซ์นั้นมีประสิทธิภาพที่ดีสำหรับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่า หรือสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ส่วนการทดลองในสายพันธุ์เบต้า หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้เดิมในการทดลองเฟส 2 พบว่ามีประสิทธิภาพเพียง 48.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งบริษัทโนวาแวกซ์เองก็กำลังปรับปรุงสูตรเพื่อรับมือกับไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ อยู่ด้วย

วัคซีนโนวาแวกซ์เวลานี้อยู่ระหว่างกระบวนการยื่นขออนุมัติจากองค์การอนามัยโลกเพื่อใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน โดยเวลานี้มีรายงานว่าสิงคโปร์เจรจาขอซื้อวัคซีนโนวาแวกซ์แล้วโดยจะได้รับวัคซีนล็อตแรกก่อนสิ้นปี 2021 นี้

ส่วนประเทศไทยนั้นยังไม่มีรายงานว่ามีการเจรจาขอซื้อวัคซีน หรือมีการยื่นขออนุมัติองค์การอาหารและยาของไทยแล้วหรือไม่

และนั่นก็คือวัคซีนอีกชนิดหนึ่งที่อาจจะเป็นความหวังพามนุษยชาติผ่านวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ครั้งนี้ไปได้