ศรัทธายังไม่เข้าที่/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ศรัทธายังไม่เข้าที่

 

หากประเทศเป็นสังคมที่ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งหมายถึงอำนาจรัฐมีไว้แค่ประสานเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้เพื่อผู้คนชัดการชีวิตได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

“ศรัทธา” ต่อพรรคการเมือง ต่อผู้นำประเทศ หรือต่อรัฐบาลก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นนัก เนื่องเพราะหากคนเหล่านี้ทำหน้าที่ไม่ได้ ประชาชนแค่เปลี่ยนให้พ้นไป โดยไม่ลงคะแนนให้กลับเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการประเทศอีก

แค่ไม่เลือกให้กลับเข้ามาก็จบ

แต่สำหรับประเทศไทยเรา ที่สร้างความเหลื่อมล้ำไว้สูงในทุกด้าน ไม่ว่าจะฐานะเป็นอยู่ ความสะดวกสบาย ความปลอดภัยในชีวิต หรือกระทั่งที่ควรจะให้เท่าเทียมที่สุดอย่างโอกาสในการศึกษาหาความรู้ สังคมแบบนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพรรคการเมือง ผู้นำ หรือรัฐบาลที่เป็นที่เชื่อถือศรัทธา

เพราะสังคมที่ประชาชชนส่วนใหญ่ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้เช่นนี้ จะเป็นสังคมที่เคลื่อนไปด้วย “ศรัทธา” และ “ความเชื่อถือ” ที่มีต่อผู้นำ

ผู้นำพาไปทางไหน ประชาชนก็จะไปทางนั้น และนั่นคือทิศทางของประเทศ จะเป็นไปเพื่อการพัฒนาเพราะมีผู้นำที่ดี มีคุณธรรม หรือพากันขยายความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่อยู่ร่วมด้วยสภาวะที่เสื่อมถอย ไม่ให้คุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกับเพื่อนร่วมชาติ ย่อมขึ้นอยู่กับผู้นั้น อันมาจากพรรคการเมือง และเป็นผู้สร้างรัฐบาล

“ศรัทธา” และ “ความเชื่อถือ” ที่มีต่อการนำ จะก่อให้เกิดเอกภาพของคนในชาติ อันเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนประเทศไปได้

สังคมที่ประชาชนยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และยังขาดศรัทธาต่อการนำ จึงน่าเป็นห่วงยิ่ง

 

ประเทศไทยเรา ผลสำรวจ “คะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาสครั้งที่ 2/2564” ของ “นิด้าโพล” เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สะท้อนศรัทธาประชาชนได้ระดับหนึ่ง

ในคำถามที่ว่า “วันนี้ท่านสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี” มากที่สุดคือร้อยละ 37.65 ตอบว่า “ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้”

อาจจะพอเข้าใจได้ว่าตัวบุคคลที่ออกมายืนแถวหน้าให้เลือกยังมิได้รับความศรัทธานัก

แต่เมื่อถามไปอีกคำถามคือ “พรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้” คำตอบว่า “ไม่สนับสนุนพรคคการเมืองใดเลย” ก็ยังมากที่สุดคือร้อยละ 32.68

ท่ามกลางกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย

ขณะที่ความเลวร้ายของการสืบทอดอำนาจปรากฏผลให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย จากวิกฤตของประเทศที่เริ่มรุนแรงจนเสี่ยงต่อความล้มละลายมากขึ้น

ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคการเมืองซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญของประชาธิปไตย สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับศรัทธาจากประชาชนให้มาทำหน้าที่นำประเทศ แต่กลับกลายเป็นคนจำนวนมากที่สุดกลับมองไม่เห็นความหวังในพรรคการเมืองใด

เพื่อไทยได้มากสุด แต่แค่ร้อยละ 19.48 รองลงมาเป็นก้าวไกล ร้อยละ 14.51, พลังประชารัฐ ร้อยละ 10.70, ประชาธิปัตย์ ร้อยละ 5.54, เสรีรวมไทย ร้อยละ 2.90, ไทยสร้างไทย ร้อยละ 2.47, ภูมิใจไทย ร้อยละ 2.43, กล้า ร้อยละ 1.71, พรรคที่เหลือรวมกันแล้วร้อยละ 3.58

นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นกับความนิยมพรรคการเมืองซึ่งเป็นกลไกของระบอบประชาธิปไตย

สังคมที่ประชาชนยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีผู้นำที่ประชาชนให้ความศรัทธาเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ด้วยพลังแห่งเอกภาพประชาชน

จึงน่าคิดอย่างยิ่งว่า ศรัทธาต่อประชาธิปไตยในภาวะอย่างนี้ ประเทศชาติจะพัฒนาไปได้อย่างไร