เครื่องเคียงข้างจอ : คนไม่ยอมแพ้ / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

คนไม่ยอมแพ้

 

เมื่อวันก่อนผมได้เจอน้องคนทำงานสื่อที่ไม่ได้เจอกันนาน นั่นคือ “โสภณ ฉิมจินดา” คนพิการทางร่างกาย ที่ไปไหนมาไหนต้องใช้วีลแชร์เป็นอวัยวะประจำตัว

วันที่ผมเจอเขา เขามากับวีลแชร์เช่นเคย แต่มีทรงผมที่เปลี่ยนไป วันนี้เขามากับทรงเดรดล็อก ที่ขดเป็นเกลียวแข็งอย่างที่นักร้องแร็พหรือเร็กเก้นิยม

หากใครเคยเห็นภาพของเขามาบ้าง จะพบว่าทรงผมเขาเปลี่ยนไปเรื่อย ไม่เคยซ้ำ นั่นสะท้อนบุคลิกความเป็นคนรักสนุก ไม่หยุดอยู่กับที่ของเขา

ครั้งสุดท้ายที่เจอเขาก็เมื่อ 10 ปีก่อน ตอนนั้นโสภณมาเป็นแขกคนสุดท้ายปิดรายการ “สุริวิภา” เมื่อปี 2554

วันที่เจอกันเขายังทักอย่างจำได้ครั้งมาเป็นแขกในรายการดังว่า

 

ครั้งนี้ที่เจอกันเขาก็มาเป็นแขกในรายการอีกครั้ง แต่เป็นของรายการ “D-มีดี” รายการเกี่ยวกับคนพิการ ตอนของเขาจะออกอากาศทางช่อง 5 วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายนนี้ เวลา 18 นาฬิกา ซึ่งเป็นตอนที่มีชื่อว่า “เมื่อคนพิการทำสื่อ”

โสภณเป็นคนทำสื่อมาเกือบจะ 20 ปีได้ ที่ก้าวมาทำสื่อก็มาจากความฝันของเขาในการเป็นคนชอบถ่ายภาพและเล่าเรื่อง

เมื่อบวกกับความพิการ จึงออกมาเป็นรายการที่เขาเป็นตัวแทนคนพิการออกเดินทางไปในที่ต่างๆ ให้ได้เรียนรู้ชีวิต

 

ย้อนไปเมื่อวัยหนุ่ม ครั้งยังไม่ได้สัมผัสกับความพิการ เขาเป็นคนสนุกกับการโบกรถท่องเที่ยว พร้อมสะพายกล้องถ่ายรูปไปเก็บภาพสวยงามต่างๆ ทั่วประเทศ วันที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ เขาโบกรถกระบะแล่นไปบนทางคดเคี้ยวของยอดเขา เพื่อตั้งใจไปถ่ายภาพหมู่บ้านที่อยู่ด้านล่าง

รถมาเสียหลักแหกโค้งพาเขาและเพื่อนพุ่งตกไหล่เขาไปชนกับต้นไม้ใหญ่เบื้องล่าง ร่างกายของโสภณถูกกระแทกจนเส้นประสาทที่กระดูกสันหลังเสียหาย นั่นคือแม้จะไม่ตาย แต่ก็มีความพิการมาเยือน

เขาตื่นขึ้นมาในโรงพยาบาลพร้อมสายระโยงเต็มตัว เมื่อได้เจอหน้าแม่ เขาต้องรีบยิ้มให้พร้อมบอกว่า “ไม่เป็นไร”

ไม่เป็นไร ไม่ได้เป็นแค่คำปลอบใจยามนั้น แต่เขาได้ทำให้มันเป็นจริงด้วยทัศนคติที่บวกของเขาคือ เขาต้องเจอเรื่องติดลบพร้อมกันสองเรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือความพิการของเขา เรื่องที่สองคือฐานะที่ล้มละลายของที่บ้าน

เขาจะยอมปล่อยชีวิตไปเฉยๆ กับชะตากรรมไม่ได้ จึงลุกขึ้นมาสู้ด้วยร่างกายที่พิการ โชคดีที่เขารักการถ่ายภาพ นั่นเป็นพื้นฐานให้เขาเรียนรู้เพิ่มเติมและพัฒนาจนเป็นผู้ผลิตสื่อดังเช่นทุกวันนี้ได้

เขาเล่าว่าวิชาความรู้จากการทำงานผลิตสื่อ เขาได้มาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ที่สอนอาชีพให้คนพิการฟรีๆ เดิมทีชั้นคอมพิวเตอร์ที่เขาเรียนมีแต่สอนการสร้างโปรแกรม ไม่มีการออกแบบดีไซน์หรือการตัดต่อ โชคดีที่ได้อาจารย์สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ สนับสนุนเครื่องมือและโปรแกรมการทำงานให้เขาได้ฝึกปรือ

จนเป็นต้นทุนที่มีค่าให้เขาได้ใช้ทำงานจนทุกวันนี้

 

โสภณคิดว่า เขาอยากเล่าเรื่องคนพิการที่เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเตรียมการ ปรุงแต่งมาก รายการเดินทางของเขาจึงสะท้อนแนวทางนี้ เบื้องหลังการทำงานจึงสนุกไม่แพ้หน้ากล้อง เพราะเขากับทีมงานอีกไม่เกิน 2 คน จะทำหน้าที่ทุกอย่างเพื่อให้กองงานกระชับ เดินหน้าได้ฉับไว คล่องตัว

เพราะความพิการก็เป็นอุปสรรคอยู่แล้ว กองงานที่เล็กจะตอบโจทย์มากกว่า เขาจึงเป็นทั้งครีเอทีฟ พิธีกร ตัดต่อ ลงเสียงเอง เพราะเป็นคนคิดเอง ถ่ายเอง งานตัดต่อจึงง่ายกว่าถ้ามาเบ็ดเสร็จที่เขา

เขาเคยเขียนเล่าประสบการณ์การทำงานของเขาไว้ในหนังสือ “เดินด้วยใจ ไปกับมนุษย์ล้อมหัศจรรย์” ออกมาเมื่อกว่า 10 ปีก่อน หากใครสนใจ ตอนนี้ยังพอหาซื้ออ่านได้ทางช่องทางออนไลน์

“มีผู้ใหญ่บางคนติติงงานที่ผมทำว่าจะดีเหรอ เกิดคนพิการคนอื่นเขาออกไปทำตามบ้าง แล้วเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นมาล่ะ”

แต่เขาคิดว่าอุบัติเหตุถ้าจะเกิดมันก็ต้องเกิด และถ้าจะรอให้โลกภายนอกพร้อมก่อนคนพิการค่อยออกมา ก็จะไม่มีทางพร้อม และคนพิการก็จะไม่มีวันได้ออกมาเผชิญกับความจริงของโลกภายนอก

“บางทีตอนเดินทางที่แข่งกับเวลาในการทำงาน รถวีลแชร์ผมล้ม ผมก็บอกให้ทีมงานไปข้างหน้าเลย ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวผมหาทางลุกแล้วไปต่อเอง”

เลยเป็นเสน่ห์เบื้องหลังกล้องที่เห็นเขาลุยทำงาน บางครั้งก็พลอยได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เพราะเขาไม่ยอมแพ้ก่อน คนอื่นจึงยื่นมือมาเพื่อสนับสนุน

“ผมว่าสำคัญที่ใจ ถ้าใจเราพร้อม ก็ออกไปได้ ไม่มีใครมาห้ามได้”

และโสภณก็เดินทางไปทุกที่ที่สามารถจะไปได้ ไม่ว่าจะในประเทศและต่างประเทศ วีลแชร์ของเขาพาเขาลุยไปทุกหนแห่งที่ไปได้ บางครั้งถึงกับยางแตกต้องเปลี่ยนยาง บางครั้งศึกษาจาก Google Earth แล้วว่าสภาพการเดินทางเป็นอย่างไร แต่พอไปถึงก็ต้องแก้ปัญหากับความชันที่ไม่ได้ปรากฏในข้อมูล

เมื่อรายการออกไป มีเสียงชื่นชมกลับมาไม่น้อย โดยเฉพาะเสียงจากคนพิการและคนสูงอายุว่า เขาเป็นแรงบันดาลใจอย่างดี ทำให้กล้าลุกขึ้นมาทำอะไรที่ครั้งหนึ่งเคยกลัว

นี่คือผลลัพธ์ในการทำงานสื่อ ในฐานะคนพิการคนหนึ่งที่อยากเล่าเรื่องที่โสภณพูดด้วยความภาคภูมิใจ

 

วันที่เจอกันเขาเล่าให้ฟังว่า เขามีโครงการที่กำลังทำอยู่ที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นการทำโครงการเกษตรยั่งยืนให้กับคนพิการและชุมชนที่นั่น โดยมีเมล็ดกาแฟของสังขละบุรีเป็นพระเอก เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนพิการที่ต้องเอาชีวิตให้รอด และมีความสุขได้อย่างยั่งยืน

เมื่อถามว่าทำไมต้องเป็นที่อำเภอสังขละบุรี เขาขยายความว่า

“ที่นั่นมีคนชายขอบที่เป็นคนพิการอีกมาก คนเหล่านี้ไม่ได้รับสวัสดิการและการดูแลจากภาครัฐ เพราะไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูล ผมตั้งใจจะช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ชีวิตมีทางไป”

“โชคดีที่ผมทำงานสื่อมาก่อน เลยพอรู้ช่องทาง รู้จักคนที่จะให้คำปรึกษา ให้การสนับสนุนได้ เชื่อว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จจะช่วยเหลือสังคมของคนพิการส่วนหนึ่งได้จริงๆ”

ดวงตาเขาฉายแววความมุ่งมั่นอย่างเคย

ผมว่านี่คือความงดงามของชีวิต ไม่ว่าคุณจะเป็นคนทั่วไปหรือคนพิการ หากคุณมีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจที่อยากทำอะไรดีๆ ต่อตนเองและผู้อื่น เมื่อนั้นความสุขก็จะเดินมาหาเรา

วันนี้อาจจะไม่สำเร็จ แต่วันหน้าชัยชนะกางแขนรอเราอยู่ หากเพียงแต่เราไม่ยอมแพ้เท่านั้น

จากที่เคยพบเจอกันมาก่อนจนถึงครั้งล่าสุด พลังในการขับเคลื่อนของเขามิได้ลดน้อยถอยลงเลย ยังคงมีอยู่เต็มเปี่ยม และขยายวงกว้างจากเรื่องรอบตัวเองไปสู่ระดับสังคมและประเทศชาติ

ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ สำหรับคนไม่ยอมแพ้คนนี้