ทำไมเราจึงเห็นแก่กลุ่มก๊วน/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

ทำไมเราจึงเห็นแก่กลุ่มก๊วน

 

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่คนอื่นกันแน่?

เราคิดถึงแต่ตัวเองหรือมีน้ำใจไมตรีมากกว่ากัน?

เรื่องความเห็นแก่ตัวเพื่อเอาตัวรอดคงไม่ต้องขยายความ เราท่านต่างรู้ดีอยู่แก่ใจว่าเป็นเช่นนี้กันทุกคน

ที่น่าสนใจคือระหว่างใช้ชีวิตอย่างเห็นแก่ตัวไปเรื่อยๆ เราก็มีแง่มุมที่เห็นแก่คนอื่นด้วยเช่นกัน ทั้งที่มันขัดกัน

อะไรทำให้เราเป็นเช่นนั้น

โจนาธาน ไฮด์ต เขียนไว้ใน The Righteous Mind ว่า “แต่มันก็ถูกต้องเช่นกันที่คนเราเห็นแก่กลุ่มด้วย” เห็นได้จากการที่เราเข้าร่วมทีม ชมรม สมาคม ครอบครัว ทีมฟุตบอล เลยไปถึงประเทศชาติ

เรารับเอาอัตลักษณ์ของกลุ่ม และทำงานกับคนแปลกหน้าเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันอย่างกระตือรือร้น ราวกับธรรมชาติของเราถูกออกแบบมาให้ทำงานเป็นทีม

กระนั้น การที่เรามีธรรมชาติของการส่งเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มก็ไม่ได้หมายความเราใจดีเป็นนักบุญ แต่เราเลือกสนับสนุน ‘กลุ่มตัวเอง’ เพื่อแข่งกันกลุ่มอื่น เราเป็นผู้ร่วมทีมที่ดีเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม

เมื่อมี ‘กลุ่มคู่แข่ง’ เราพร้อมจะหลอมรวมเข้ากับ ‘ก๊วนตัวเอง’ เพื่อสู่กันในอีกสเกล

ไฮด์ตเสนอว่า ธรรมชาติมนุษย์นั้นส่วนใหญ่เห็นแก่ตัว แต่มีความเห็นแก่กลุ่มซ้อนทับอยู่ข้างบน การคัดเลือกโดยธรรมชาติทำงานพร้อมกันในหลายระดับ ปัจเจกแข่งกับปัจเจกเดี่ยวๆ คนชนะก็ได้สืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์ต่อไป ขณะเดียวกัน กลุ่มก็แข่งกับกลุ่ม และทีมที่ดีก็จะได้สืบเผ่าพันธุ์ต่อไป มองแบบนี้พวกเราล้วนแล้วแต่เป็นลูก-หลานของบรรพบุรุษที่เห็นแก่ตัว แต่รู้จักทำงานเป็นทีม

ชาร์ลส์ ดาร์วิน เคยตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า “มันน่าฉงนที่ลูก-หลานของพ่อ-แม่ที่มีความสงสารและใจบุญมากกว่า หรือลูก-หลานของพ่อ-แม่ที่ซื่อสัตย์ต่อเพื่อนพ้องมากกว่าจะมีจำนวนมากกว่าลูก-หลานของพ่อ-แม่ที่เห็นแก่ตัวและทรยศกลุ่ม เพราะผู้ที่เสียสละชีวิตแทนที่จะทรยศไม่น่ารอดชีวิตมามีลูกหลานไว้สืบทอดพันธุกรรมของพวกเขา”

คนดีคนน่ารักไม่น่ารอดตายมาได้

ลองมองในระดับกลุ่มกันก่อน เมื่อกลุ่มยกพวกตีกัน กลุ่มที่ร่วมมือกันได้ดีย่อมชนะ แต่เมื่อเจาะลงไปในกลุ่มนั้น ปัจเจกที่เห็นแก่ตัว (พวกกาฝาก) จะรุดหน้ากว่าคนอื่น เพราะพวกเขาได้รับส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของทั้งกลุ่ม ขณะที่อุทิศตัวน้อย

คือเจ็บตัวน้อย แต่ได้มาก

ออกไปสู้ก็อาจอยู่ข้างหลัง ไม่บาดเจ็บ ชนะมาก็ได้ผลประโยชน์เท่าๆ กันหรือมากกว่าคนอื่น

แถมคนเห็นแก่ตัวแบบนี้ก็มักรอดตายกลับมาเป็นพ่อคนต่อไปด้วย

จุดนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ต่างจาก ‘สัตว์ทีม’ อย่างผึ้งหรือมดปลวก ซึ่งเน้นประโยชน์กลุ่มเสียจนแทบไม่มีความเห็นแก่ตัว

โจนาธาน ไฮด์ต

แล้วมนุษย์เกิดความเป็นทีมขึ้นมาได้ยังไง?

อย่างแรก อาจเป็นเพราะในยุคโบราณหากใครสักคนรักสันโดษชอบอยู่เดี่ยวๆ ย่อมเสี่ยงต่อการถูกล่าทำร้ายมากกว่าพี่น้องที่ชอบเข้าสังคม

คนที่ชอบฉายเดี่ยวจึงตายกันไปหมด

สอง คือเมื่ออยู่กันเป็นกลุ่มก็ได้ฝึกทักษะ ‘ต่างตอบแทน’ คนที่ช่วยเหลือคนอื่นก็จะได้รับความช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการ

และส่วนที่สามซึ่งสำคัญสุดก็คือ พออยู่เป็นกลุ่มผู้คนจะหมกมุ่นอยู่กับคำชมและคำด่าจากเพื่อนรอบตัว คนที่ถูกด่าเยอะย่อมไม่มีเพื่อนคบ จีบใครก็ยาก เพราะชื่อเสียงเสียหายไปแล้ว

สิ่งนี้ทำให้คนที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต้องรักษาภาพลักษณ์ (ศักดิ์ศรี) ไว้เสมอ หากอยากได้รับการยอมรับในกลุ่มก็ต้องปฏิบัตตัวตามหน้าที่และ ‘ศีลธรรม’ ที่กลุ่มยึดถือ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนา

พอการอยู่กันเป็นกลุ่มก๊วนสำคัญมากขึ้น การคัดเลือกระดับปัจเจกจะมีความสำคัญน้อยลง กลุ่มที่รอดจะรอดไปด้วยกัน ยีนของคนกลุ่มที่ชนะก็จะได้สืบทอดต่อไป คือกลุ่มที่ยึดถือศีลธรรมร่วมกันอย่างแข็งแรง ให้ความร่วมมือ ประพฤติปฏิบัติตามศีลธรรมของกลุ่มมักเป็นฝ่ายได้สืบเผ่าพันธุ์เพราะชนะกลุ่มที่ไร้ความสามัคคี

ดาร์วินอธิบายการกำเนิดศีลธรรมไว้ว่า “กำเนิดจากสัญชาตญาณทางสังคม และส่วนใหญ่ถูกนำทางไปโดยความเห็นชอบของผองเพื่อนเรา ควบคุมด้วยเหตุผลและผลประโยชน์ส่วนตัว ต่อมาก็คูณด้วยความรู้สึกเคร่งศาสนา แล้วถูกตอกย้ำด้วยคำสั่งสอนและนิสัย”

คือเริ่มจากสิ่งที่กลุ่มบอกว่าดีหรือควรทำ เพื่อนฝูงในกลุ่มก็เห็นดีเห็นงาม เรารู้ว่าทำ ‘ดี’ แบบนั้นแล้วจะได้รับประโยชน์จากการตามฝูงจึงไม่แปลกที่จะบังคับตัวเองให้เคร่งในคำสอนนั้น พอผ่านเวลามาก็กลายเป็นคำสั่งสอน

กระทั่งกลายเป็นนิสัย

 

นักมานุษยวิทยา พีต ริเชอร์สัน และร็อบ บอย เสนอว่านวัตกรรมทางวัฒนธรรม (เช่น หอก เทคนิคการทำอาหาร และศาสนา) วิวัฒน์ไปในวิถีทางที่คล้ายการวิวัฒน์ของนวัตกรรมทางชีววิทยา คือทั้งวัฒนธรรมและชีววิทยาร้อยรัดแล้ววิวัฒน์ไปด้วยกันเป็นเนื้อเดียว แยกจากกันไม่ได้

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกลุ่มคนเลี้ยงปศุสัตว์ทางตอนเหนือของยุโรปและหลายส่วนในแอฟริกาที่มีน้ำนมสดเอาไว้เลี้ยงดูเด็กๆ กระทั่งยีนของพวกเขากลายพันธุ์ไปเป็น ‘คนดื่มนมได้’ (ยืดเวลาปิดระบบสร้างแลคเตส)

พอพันธุกรรมเปลี่ยนไป สามารถดื่มนมโดยไม่ท้องเสียก็ยิ่งเลี้ยงปศุสัตว์ฝูงใหญ่ขึ้นอีก

จากนั้นพวกเขาก็คิดค้นการแปรรูปนมมากมาย เช่น เนยแข็ง โยเกิร์ต ฯลฯ ทำให้กินได้มากขึ้นอีก

ยิ่งกินไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งกินผลิตภัณฑ์จากนมสัตว์ได้มากขึ้น ทำให้เลี้ยงสัตว์มากขึ้นอีก ส่งผลต่อกันและกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ซึ่งการวิวัฒน์ของพันธุกรรม+วัฒนธรรมเช่นนี้เองช่วยยกระดับมนุษยชาติจากฝูงเล็กๆ เหมือนไพรเมตอื่นให้กลายเป็น ‘ชนเผ่าอภิสังคม’ ซึ่งผูกพันกลมเกลียวใหญ่ไปกว่าครอบครัวหนึ่ง และยิ่งใหญ่ก็ยิ่งเอาชนะก๊วนอื่นได้ง่าย

เพื่อแยกตัวเองออกจากก๊วนอื่น มนุษย์จึงสร้าง ‘สัญลักษณ์’ ขึ้นเพื่อแสดงสมาชิกภาพของกลุ่มตัวเอง รอยสักและการเจาะใบหน้าในชนเผ่าแอมะซอน

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะในชาวยิว

การเจาะใบหน้าของพังก์ในอังกฤษ

กะเหรี่ยงคอยาวที่เราคุ้นเคย

พวกเขาลงทุนทำสิ่งเหล่านี้ (ที่บางทีก็เจ็บตัว) เพื่อใช้ร่างกายประกาศถึง ‘ความเหมือน’ หรือ ‘จุดร่วม’ ของการเป็นสมาชิกของกลุ่มก๊วน

สิ่งเหล่านี้ขยายความเป็น ‘เรา’ มากไปกว่าเครือญาติ และทำให้ทุกคนพร้อมเชื่อใจและร่วมมือกับคนที่มีท่าทาง แต่งตัว ประดับ กระทำในสิ่งคล้ายกับตัวเอง

โดยคาดหวังว่าคนเหล่านั้นเชื่อในความดีงามและให้คุณค่ากับสิ่งเดียวกับตน

การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ยึดถือศีลธรรมเดียวกัน ก่อร่างสร้างอารมณ์แบบใหม่ขึ้นมา เช่น ความละอาย ความรู้สึกผิด ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ที่ค่อยๆ ‘ทำตัวเองให้เชื่อง’ (self-domestication) เพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นเหมือนสัตว์เลี้ยงที่ค่อยๆ นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ฟันซี่เล็กลง ร่างกายเล็กลง ลดความก้าวร้าว และขี้เล่นมากขึ้น

คนที่เข้าสังคมเก่งกว่า สุภาพอ่อนโยนกว่าย่อมรอดชีวิต ไม่ถูกฆ่าทิ้ง ซึ่งรุ่นลูกหลานก็ ‘เชื่อง’ กว่าบรรพบุรุษมาก

 

สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ ถักทอให้เรากลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตใจแบบ ‘เผ่ากู’ ซึ่งพร้อมฟาดฟันกับ ‘เผ่ามึง’ อยู่ตลอดเวลา เพราะเรามีศีลธรรมและวัฒนธรรมในแบบของก๊วนตัวเองซึ่งแตกต่างจากอีกก๊วนหนึ่ง เราจึงรักพวกพ้องมาก (เพราะอยู่ร่วมกันช่วยเหลือกันยาวนาน) ขณะเดียวกันก็พร้อมรบกับก๊วนอื่นเสมอ

การคัดเลือกแบบกลุ่มหนุนให้เกิดความร่วมมือและกดข่มพฤติกรรมต่อต้านสังคม โดยกระตุ้นให้ปัจเจกทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับกลุ่ม เช่นนี้เองที่บางครั้งไปสร้างความเสียหายในกลุ่มอื่น เช่น ทำสงคราม ยกพวกตี สงครามคีย์บอร์ด แต่โดยทั่วไปแล้วความเห็นแก่กลุ่มมุ่งเน้นไปที่การทำให้กลุ่มตัวเองมีชีวิตที่ดีมากกว่าเน้นสร้างความเสียหายให้กลุ่มอื่น กระนั้น ถ้ากลุ่มอื่นมีแนวโน้มจะทำอันตรายก็พร้อมตีเขาก่อนเช่นกัน

ในแง่หนึ่ง ความเห็นแก่กลุ่มช่วยให้เราข้ามพ้นความเห็นแก่ตัวไปได้ โดยใคร่ครวญถึงประโยชน์ของกลุ่มมากกว่าตัวเอง แต่ถ้าซูมภาพออกไปกว้างขึ้นเราอาจเห็นภาพ ‘ร่างยักษ์’ ของสองกลุ่มที่ประกอบขึ้นจากปัจเจกเล็กๆ จำนวนมากเกาะกลุ่มเหนียวแน่นเพื่อฆ่าฟันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพราะยึดถือศีลธรรมคนละชุด ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีธรรมชาติของการเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ร่างยักษ์’ เพื่อรบกับ ‘ร่างยักษ์’ ที่แตกต่าง

ในมุมนี้ การเห็นแก่กลุ่มจึงเป็นการเห็นแก่ตัวในสเกลใหญ่ขึ้น (แม้ในกลุ่มจะช่วยเหลือกันสุดๆ) เพราะอย่างไรมนุษย์ก็พยายามทุกวิถีทางเพื่อเป็นผู้ชนะและได้สืบทอดพันธุกรรมของตัวเองต่อไป

เราจึงมิได้ต่อยตีกันแบบ ‘ตัวต่อตัว’ เท่านั้น แต่เรายังต่อยตีกันแบบ ‘ก๊วนต่อก๊วน’

นามสกุลต่อนามสกุล ทีมต่อทีม บริษัทต่อบริษัท จังหวัดต่อจังหวัด ประเทศต่อประเทศ ทวีปต่อทวีป อุดมการณ์ต่ออุมการณ์ ศาสนาต่อศาสนา ศีลธรรมต่อศีลธรรม

เราจึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารักต่อกลุ่มที่เหมือนกัน ทว่าเมื่อรวมตัวกันแล้วก็น่ากลัวต่อกลุ่มคนที่แตกต่างไป

เพราะยิ่งรวมกันเป็น ‘ร่างยักษ์’ ความวินาศก็ ‘ยักษ์’ ไปด้วย