วิรัตน์ แสงทองคำ/เอสซีจี กับเอสบีเอส (1) ทีมบริหารกับสายสัมพันธ์

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

เอสซีจี กับเอสบีเอส

(1) ทีมบริหารกับสายสัมพันธ์

ยุทธศาสตร์และแผนการธุรกิจใหม่อันท้าทาย กับจังหวะโอกาสเปิดขึ้นครั้งใหญ่อย่างคาดไม่ถึง

ภาพกว้างๆ ความสนใจของผู้คนในสังคมเกี่ยวกับสยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Biosciences หรือ SBS) อาจแตกต่างกันไป บางคนให้ความสนใจการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวกิจการในช่วงไม่กี่ปีมานี้

เริ่มต้นเรื่องราวที่ว่า “บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ก่อตั้งปี 2552 โดยบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด (กิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)” ปรากฏใน website ทางการของบริษัท เข้ากับจังหวะการเปิดตัวต่อสาธารณะครั้งแรกๆ โดยเฉพาะการมาเยือนของนายกรัฐมนตรี (พฤษภาคม 2560)

ต่อมาไม่นาน นิยามบางตอนได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นว่า “ผู้ผลิตยาชีววัตถุรายแรกของอาเซียน” ทั้งเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนข้อความไปจากเดิมเล็กน้อยด้วย “ก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100%” (กุมภาพันธ์ปี 2563)

ปรากฏในถ้อยแถลงเมื่อ SBS เปิดตัวอีกครั้ง มีสื่อมวลชนกลุ่มใหญ่มาเยี่ยมชมโรงงาน เข้าใจเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงนามและปรับโครงสร้างสำนักงานทรัพย์สินฯ ตามพระราชบัญญัติปี 2561

ปัจจุบันในช่วงเวลาผู้คนในสังคมไทยรู้จักอย่างกว้างขวาง เรื่องราว SBS ที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทางการได้ปรับเปลี่ยนอีกครั้ง

“ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะให้ประชาชนชาวไทยสามารถได้รับยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง สร้างความมั่นคงทางยา เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย เครือสยามไบโอไซเอนซ์จึงก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2552 ซึ่งประกอบไปด้วย 2 บริษัทหลักคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และบริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด”

(https://www.siambioscience.com/)

 

ส่วนที่ผมสนใจอย่างจริงจังนั้นแตกต่างออกไป ตั้งใจให้ความสำคัญกับการบริหารกิจการ ถือว่าเป็นทีมที่มีความต่อเนื่อง แม้ว่าประธานกรรมการผู้ก่อตั้ง-ดร.เสนาะ อูนากูล ได้พ้นตำแหน่งไปแล้ว โดยได้ทำหน้าที่ในช่วงต้นอย่างที่ควร

ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นเทคโนแครต ผู้มีบทบาทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเงิน เป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ถึง 2 ครั้ง (2516-2518 และ 2523-2532) คาบเกี่ยวกับตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ (2518-2522) ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งยุคเชื่อมโยงกับอิทธิพลสหรัฐอเมริกา

อยู่เงียบๆ พักใหญ่ เขาเข้ามีบทบาททางการเมืองช่วงสั้นๆ หลังการรัฐประหารปี 2534 เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน จากนั้นได้มาเป็นกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (2535-2558) และกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (2536-2560) ในช่วงคาบเกี่ยวกับการก่อตั้ง SBS

ประธานกรรมการคนใหม่-พล.อ.อ.สถิตพงษ์ สุขวิมล ถือเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในรัชสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะในฐานะประธานกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ตั้งแต่ปี 2560) และประธานกรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือเอสซีจี (ตั้งแต่ปี 2561)

ส่วนทีมบริหาร SBS ผู้มีความเชื่อมโยงกับเอสซีจี ยังอยู่กันครบครันตั้งแต่ต้น มี อภิพร ภาษวัธน์ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร กับกรรมการคนสำคัญอีก 2 คน-อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ และชลณัฐ ญาณารณพ ว่าไปแล้วแต่ละคนมีบทบาทที่แตกต่าง แต่เสริมกันอย่างลงตัว

อย่างไรก็ตาม ภาพทีมบริหารข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในความเคลื่อนไหว ว่าด้วยพัฒนาการอีกยุค เครือข่ายธุรกิจสำนักงานทรัพย์สินฯ

 

เชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์กับ ชุมพล ณ ลำเลียง ผู้จัดการใหญ่เอสซีจียุคคนไทย ผู้อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด (2536-2548) ยังคงบทบาทต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในฐานะกรรมการ (2535-ปัจจุบัน) ถือว่าเป็นกรรมการคนหนึ่งชุดปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเช่นกัน ขณะนี้มีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการเอสซีจีด้วย คนภายในรู้กันดีว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเพียงใดในปัจจุบัน

ชุมพล ณ ลำเลียง มีบทบาทกว้างขึ้น เมื่อเข้ามาเป็นกรรมการในเครือข่ายธุรกิจสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยเฉพาะบริษัทสยามสินธร (2553-ปัจจุบัน) และบริษัททุนลดาวัลย์ (2554-ปัจจุบัน) จากนั้นกิจการทั้งสองจึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ

สยามสินธร เริ่มต้นเปลี่ยนทีมผู้บริหารชุดใหญ่ เป็นอดีตผู้บริหารเอสซีจีในยุคชุมพล ณ ลำเลียง จากนั้น (ปี 2557) เปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ในทำเลใจกลางกรุงเทพฯ บนที่ดิน 56 ไร่ ระหว่างถนนหลังสวนและซอยต้นสน (52 ไร่) กับอีกแปลงถนนหลังสวนติดโรงเรียนมาแตร์เดอี (4 ไร่) เป็นหนึ่งในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ

เป็นอีกขั้นการพัฒนาที่ดินในพื้นที่ขนาดใหญ่ ด้วยการลงทุนจำนวนมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ไม่ว่าโอลด์สยามพลาซ่า (2536) หรือสินธร ทาวเวอร์ (2537) แต่ยังเป็นความต่อเนื่องจากธุรกิจดั้งเดิม

ชลาลักษณ์ บุนนาค กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสยามสินธร เคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เอสซีจี (2538-2548) มีบทบาทในธุรกิจที่แตกแขนงออกจากธุรกิจหลัก มีประสบการณ์ในดีลสำคัญ กรณีร่วมทุนธุรกิจยางรถยนต์ระดับโลก Michelin เชื่อกันว่าเหมาะกับงานดีลกับผู้เช่าที่ดั้งเดิมในย่านสารสิน-หลังสวน

ส่วนทุนลดาวัลย์ “…กิจการลงทุนในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ ปรากฏรายชื่อในฐานะผู้ถือหุ้นรายเล็กในกิจการตลาดหุ้นหลายแห่ง…” (ผมเคยว่าไว้เมื่อปี 2552) จัดตั้งขึ้นราวปี 2544 โดยมีอดีตผู้บริหารเอสซีจีคนหนึ่ง-อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ เข้ามาเป็นกรรมการ (ตั้งแต่ปี 2546)

จนถึงปี 2561 เขาก็ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ

 

อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เอสซีจีอีกคน เกษียณในปี 2548 เช่นกัน มีประสบการณ์ทางด้านวางแผนและการเงิน และเคยบริหารกิจการประกันภัยในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ มานาน (ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) – ปี 2538-ปัจจุบัน) สอดคล้องกับบทบาทการลงทุนใหม่ๆ เขาจึงเป็นกรรมการทั้งสยามสินธร (ตั้งแต่ปี 2555) และ SBS (ตั้งแต่ปี 2552)

สยามสินธรกับโครงการใหญ่ใหม่ เป็นความต่อเนื่องจากพื้นฐานผู้ครอบครองที่ดินสำคัญในกรุงเทพฯ และมีประสบการณ์การพัฒนาที่ผ่านมาในช่วง 2-3 ทศวรรษที่แล้ว

ส่วน SBS เป็นธุรกิจใหม่อย่างแท้จริง และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ด้วย

 

เป็นความลงตัวทีเดียวที่อภิพร ภาษวัธน์ เข้ามาบริหาร SBS ตั้งแต่ต้น เขาเป็นลูกหม้อเอสซีจีคนหนึ่ง มีบทบาทบุกเบิกธุรกิจใหม่ซึ่งกลายเป็นธุรกิจใหญ่ที่สุดของเอสซีจีในปัจจุบัน เป็นทีมผู้บริหารชุดเดียวกัน เกษียณจากเอสซีจีในปีเดียวกัน (2548) ทั้งชุมพล ณ ลำเลียง อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ และชลาลักษณ์ บุนนาค

อภิพร ภาษวัธน์ แม้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เอสซีจี (2542-2548) ที่เป็นจริงเขาเป็นผู้บริหารธุรกิจนี้มาตั้งแต่ต้น แล้วแต่ตำแหน่งจะเรียกกัน ตั้งแต่ปี 2526 เมื่อเอสซีจีเข้าสู่ธุรกิจอย่างจริงจังก็ว่าได้ ประสบการณ์สำคัญที่เขาภูมิใจคือการสร้างทีมงาน

เมื่อมาถึง SBS เขาได้สรรหากรรมการผู้จัดการได้อย่างดีเช่นกัน-ดร.ทรงพล ดีจงกิจ ผู้มีภูมิหลังน่าสนใจ ผ่านการศึกษาด้านเคมีจากสถาบันชั้นนำในสหรัฐ (Massachusetts Institute of Technology และ The Scripps Research Institute)

มีประสบการณ์กับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพอิสระที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง สำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย (Amgen Inc.)

 

ส่วนกรรมการ SBS อีกคน-ชลณัฐ ญาณารณพ มีเรื่องราวน่าสนใจเช่นกัน

ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เอสซีจี (2548-2562) ต่อจากอภิพร ภาษวัธน์

ในช่วงเวลานั้น SCG-Oxford Centre of Excellence in Chemistry (CoE) ก่อตั้งขึ้น (2555) จะเรียกว่าชิ้นส่วนหนึ่งในความบังเอิญ หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ได้มีส่วนชักนำมาสัมพันธ์กับ AstraZeneca