ก่อสร้างที่ดิน/นาย ต. /ซึมยาว

ก่อสร้างที่ดิน/นาย ต.

ซึมยาว

 

ถึงเวลานี้น่าจะสรุปได้แล้วว่า ภาคธุรกิจโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ กำลังซื้อคงไม่เด้งกลับเหมือนกับหลังการ “ล็อกดาวน์” ครั้งแรกเมษายน 2563 ที่ครั้งนั้นกำลังซื้อเด้งกลับบ้านแพงล้นหลาม แต่ครั้งหลังในขณะนี้มิถุนายน 2564 ดูอาการน่าจะเป็นพังพาบหมอบยาวเสียมากกว่า

ลำพังการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่นับความพลาดตั้งแต่การสั่งซื้อวัคซีนปริมาณไม่เพียงพอ ชนิดยี่ห้อไม่หลากหลายพอ ซึ่งถือว่าเหตุการณ์มันผ่านไปแล้ว มาเอาแค่ปัจจุบัน แค่การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนก็ยังกลายเป็นปัญหารายวัน เพราะการบริหารจัดการไม่เป็นโล้เป็นพาย

เป็นผลงานการบริหารประเทศแบบระบบราชการ ตั้งแต่ระดับนโยบายที่ทำเนียบรัฐบาลไปจนถึงการปฏิบัติการให้บริการกับประชาชน

 

มองไปข้างหน้าปัญหาเศรษฐกิจที่จะตามมา

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ไอเอ็มเอฟให้ประเทศไทยติดอันดับบ๊วยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าปี 2564 ไทยจะมีอัตราเติบโต 2.2% ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในแถบเดียวกันเติบโตกว่า 4.0-6.0% หมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะดำดิ่งอยู่ในวิกฤตนานกว่าประเทศอื่นเขา

GDP โต 4.0-5.0% คนหนุ่ม-สาวเพิ่งเรียนจบก็หางานทำยากแล้ว ถ้า 2.2% ก็ตกงานยกรุ่นกันเลยทีเดียว

ผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กซึ่งเป็นธุรกิจที่จ้างงานจำนวนมากของประเทศไปต่อไม่ไหว หยุดกิจการไปแล้วจำนวนมาก ยังไม่มีตัวเลขสำรวจอย่างเป็นระบบ แต่เชื่อได้จากที่รับรู้ด้วยหูด้วยตาตัวเองแล้วมหาศาล

นโยบายการกอบกู้ธุรกิจของรัฐบาล ปีที่แล้ว 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยให้วงเงินซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารพาณิชย์เพื่อปล่อยกู้ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก 500,000 ล้านบาท แต่ปล่อยกู้ได้เพียง 138,000 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่มวงเงินมาอีก 350,000 ล้านบาท เพิ่งเริ่มปล่อยได้ไม่กี่หมื่นล้านบาท

ที่ปล่อยกู้ได้น้อยไม่ได้หมายความว่าความต้องการกู้มีน้อย ตรงกันข้ามความต้องการกู้มากกว่าวงเงินที่ให้มาเป็นเท่าตัวด้วยซ้ำ แต่ที่ปล่อยกู้ได้น้อยเพราะธุรกิจที่ต้องการกู้เข้าไม่ถึงสินเชื่อ หรือไม่ผ่านเงื่อนไขการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ไม่มีรายงานข่าวการสืบสาวหาปัญหาและกำหนดวิธีแก้ปัญหา แค่สักแต่ว่าเปิดวงเงินดอกเบี้ยต่ำให้แล้ว ไม่มากู้เองหรือกู้ไม่ได้เอง

 

การเปิดภูเก็ตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเริ่มวันที่ 1 กรกฎาคม ใกล้จะถึงนี้ ทุกคนในแวดวงธุรกิจล้วนเอาใจช่วยให้สำเร็จ เพราะจะได้เริ่มต้นดึงท่องเที่ยวกลับมา แต่ความจริงในพื้นที่ธุรกิจท่องเที่ยวต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันเป็นอีโคซิสเต็ม ขาดวิ่นปล่อยให้พนักงานกลับบ้านมาเป็นปีแล้ว เคยมีการเรียกพนักงานกลับมาเตรียมตัวเปิดตามนโยบายรัฐแล้ว 1-2 ครั้ง แต่ก็เหลวทุกครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่เตรียมต้องใช้เงินทุนที่เหลือไม่มากนัก ครั้งนี้ใครยังมีทุนเหลือและใครจะเชื่อนโยบายรัฐ เดี๋ยวคงได้รู้กัน

ยังมีปัญหาอุปสรรคใหญ่อีกหลายเรื่อง

รัฐบาลกู้หนี้เพื่อโปะงบประมาณแผ่นดินประจำปีจนชนเพดานแล้ว (60%) ประชาชนมีหนี้ครัวเรือนจะท่วมมิดหัวแล้ว (90% ของ GDP) และธุรกิจเอกชนเป็นหนี้เท่าไหร่ไม่รู้ รู้แต่ว่าแม้แต่กู้เงินช่วยเหลือซอฟต์โลนยังกู้ไม่ได้ อย่างนี้แล้วจะเอาเงินที่ไหนมากินมาใช้ จะเอาเงินที่ไหนมาลงทุนใหม่กัน

ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เขาแก้ปัญหาโควิด-19 ได้จบ และแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดี กลับมาเติบโตเร็วจนต้องหันมากลัวเงินเฟ้อ แล้วเรายังดำดิ่งอยู่ในวิกฤต ผลกระทบจะเป็นอย่างไร แค่เวลานี้ก็มีสัญญาณมาแล้ว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางอย่างในตลาดโลกปรับตัวขึ้นไปแล้ว

ถ้าระดับความสามารถในการรับมือกับปัญหาวิกฤตยังเป็นแบบนี้ อนาคตการบริหารจัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร

หรือคำกล่าวของอดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดนี้เคยพูดไว้จะเป็นความจริง

“ประเทศไทยจะไม่มีคนยากจนเหลืออยู่ คนยากจนจะไม่มีในประเทศนี้”

เพราะ…กันหมด