มาเลเซียเร่งสอบ ฉลามครีบขาวป่วยโรคผิวหนังประหลาด โยงน้ำทะเลอุ่นขึ้น

สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า วันที่ 16 มิ.ย. นักชีววิทยาทางทะเลกำลังตรวจสอบโรคผิวหนังปริศนาที่คุกคามฉลามครีบขาวในมาเลเซีย รายงานเบื้องต้นบางฉบับชี้ว่า อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นอาจเป็นต้นเหตุ

ฉลามครีบขาว ซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามปลายครีบขาวที่มีลักษณะเฉพาะของมัน มักพักผ่อนในฝูงปลารอบแนวปะการังตอนกลางวัน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับนักดำน้ำ ฉลามครีบขาวจะตื่นตัวตอนกลางคืนเพื่อล่าปลาตัวเล็กและสัตว์อื่นๆ

ภาพถ่ายของฉลามครีบขาวตัวหนึ่งที่มีจุดและรอยบนหัวกระจายในสื่อสังคมออนไลน์เมื่อเดือนเมษายน หลังช่าวภาพใต้น้ำลั่นชัตเตอร์นอกชายฝั่งรัฐซาบะฮ์ บนเกาะบอร์เนียว หลังจากนั้นไม่นาน บรรดานักดำน้ำที่เกาะสิปาดัน แหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงในบริเวณใกล้เคียง และทีมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยของรัฐ รัฐบาล และกลุ่มอนุรักษ์ เริ่มเห็นโรคผิวหนังในฉลามทุกกลุ่มที่พบ

ด้วยความพยายามวินิจฉัยว่าอะไรเป็นสาเหตุ ทีมงานพบว่า อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่เกาะสิปาดันเพิ่มขึ้นเป็น 29.5 องศาเซลเซียส ในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าในปี 2528

เดวีส์ ออสติน สปีจี นักชีววิทยาทางทะเลอาวุโส ของ รีฟ การ์เดียน กลุ่มอนุรักษ์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร กล่าวว่า มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นส่งผลต่ออาการฉลามป่วยในเกาะสิปาดัน แต่ไม่ใช่มาจากมนุษย์ เนื่องจากเกาะสิปาดันเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ห้ามการทำประมงโดยเด็ดขาด ไม่มีการตั้งถิ่นฐานหรืออุตสาหกรรมใกล้เคียง

ด้านโมฮาเม็ด ชาริฟฟ์ โมฮาเม็ด ดิน ศาสตราจารย์ในสัตวแพทยศาสตร์ทางน้ำ มหาวิทยาลัยปุตรามาเลเซีย กล่าวว่า รายงานการพบเห็นฉลามป่วยตรงกับรายงานการฟอกขาวปะการังในบริเวณดังกล่าว

“เราไม่สามารถเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น” โมฮาเม็ด ชาริฟฟ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มรูปแบบยังไม่เสร็จสิ้น ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทีมวิจัยพยายามจับฉลามบางตัวเพื่อเก็บตัวอย่างสำหรับการทดสอบแต่ล้มเหลว จึงจะพยายามอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ หากสามารถหาตัวอย่างปลาฉลามได้ อย่างน้อยจะสามารถค้นหาสาเหตุของโรคได้อย่างแน่นอน