“อรุณี” ชี้สังคมไทยยอมรับ LGBTQ+แบบมีเงื่อนไขซ่อน แนะมองเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง

การใช้ธงสีรุ้งสัญลักษณ์ของ LGBTQ ในม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาลภาพโดยชญานีขุนกัน
วันที่ 13 มิถุนายน 2564 ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์และสภาพของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศซึ่งอยู่ในสังคมไทยและแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น เนื่องในเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นเดือนหลักสากลแห่งความภาคภูมิใจหรือไพรด์ว่า

“สังคมยอมรับ LGBTQ+ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้หรือไม่…?”

เข้าสู่เดือนมิถุนายนมาได้สักพักแล้ว และความพิเศษ คือ เดือนนี้ได้รับยกย่องในระดับสากลให้เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจ หรือ Pride Month ของเหล่าพี่น้อง LGBTQ+ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลายท่านจึงจะเห็นการแสดงสัญลักษณ์สีรุ้งเพื่อร่วมแสดงความภาคภูมิใจนี้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กซ์เป็นสีรุ้ง หรือ ประดับตกแต่งอาคารสถานที่ด้วยธงสีรุ้ง เป็นต้น
.
คำถามคือแล้วเดือนนี้มีที่มาอย่างไร หญิงจะเล่าให้ทุกท่านฟังค่ะ ที่มาของ Pride Month ต้องย้อนกลับไปในยุค 70s ในยุคนั้นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต และไม่ได้รับการยอมรับทั้งทางสังคมและทางกฎหมาย ดังนั้นใครที่มีลักษณะรสนิยมทางเพศแตกต่างไปจากบรรทัดฐานสังคมแบบหญิงและชาย จึงถูกตัดสินว่าผิดกฎหมาย ทำให้ความรักของเหล่าพี่น้อง LGBTQ จำเป็นต้องถูกปกปิดและหลายคนต้องพยายามปิดบังอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง เพราะกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสังคมและการถูกเลือกปฏิบัติ
.
การเลือกปฏิบัติในยุคนั้นลุกลามบานปลายไปถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนนำไปสู่การเกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่ขึ้นอย่างที่ Stonewall Riots จนที่ 28 มิถุนายน 1969 ณ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศได้นัดรวมตัวกันเพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ณ บาร์เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง คืนนั้นตำรวจได้เข้าจับกุมและเกิดการปะทะกันขึ้นลุกลามไปจนกลายเป็นการชุมนุมที่มีชาว LGBTQ+ และผู้ที่กล้าแสดงตนที่จะยอมรับถึงความแตกต่าง
.
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1969 นั้น ทำให้ในปีต่อมาคือปี 1970 ผู้คนในสหรัฐอเมริกาต่างพากันออกมาร่วมเดินขบวนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้น และเพื่อยืนหยัดและยันยันความเท่าเทียมและสิทธิที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศควรได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
หญิงย้ำนะคะว่า “ควรได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”
.
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2000 เมื่อประธานาธิบดี Bill Clinton ออกมาประกาศให้เดือนมิถุนายน เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน และ ในปี 2009 ประธานาธิบดี Barack Obama ประกาศให้เดือนนี้ เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของเหล่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้สังคมทั่วโลกเห็นคุณค่าและยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
.
หันกลับมาดูความเคลื่อนไหวและการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในบ้านเรา ประเทศไทยดูเหมือนจะเป็นประเทศที่เปิดกว้างในเรื่องนี้นะคะ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นดินแดนสวรรค์ของเหล่า LGBTQ+ หลายพื้นที่ หลายองค์กรเริ่มให้ความสำคัญและร่วมแสดงสัญลักษณ์ความภาคภูมิใจกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะม็อบเฟสต์ของน้อง ๆ เยาวชนที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือ องค์กรความเคลื่อนไหวอื่น ๆ อีกจำนวนมาก
.
ในทางกลับกันกลายเป็นว่าในทางสังคมและวัฒนธรรมไทย แม้จะเริ่มมีการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นก็จริง แต่การยอมรับนั้นกลับเป็นการยอมรับแบบ “มีเงื่อนไข” ไม่ได้เป็นการยอมรับในแบบที่เขาเป็นหรือในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นการสร้างเงื่อนไขบางอย่างขึ้นมาเพื่อให้เกิดการยอมรับหรือเพื่อกลบปมอคติบางอย่างที่มีต่อผู้หลากหลายทางเพศ เช่น ต้องเป็นคนดี ต้องทำสิ่งนั้นเก่ง ต้องทำอย่างนี้เก่ง
.
เรามักได้ยินคำพูดบ่อย ๆ ว่า “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีของสังคมก็พอ” คำถามของหญิงก็คือว่า ทำไมเราต้องยอมรับเขาเพียงเพราะเขาต้องเป็นคนดี เราสามารถยอมรับเขาแบบไม่มีเงื่อนไขได้ไหม ยอมเราเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแบบที่เป็นปุถุชนคนทั่วไปที่มีได้ทั้งดี ไม่ดี เก่ง หรือ ไม่เก่งก็ได้ เหมือนที่ผู้หญิงผู้ชายก็เป็นได้เหมือนกัน
.
การยอมรับแบบมีเงื่อนไขนี่เองที่หญิงอยากจะสะท้อนให้เห็นว่า มันเกิดขึ้นมาเพราะพื้นฐานหรือความรู้สึกลึกๆ ของเราไม่ได้ยอมรับเขาจริง ๆ แต่สร้างเงื่อนไขหรือข้ออ้างอะไรต่าง ๆ เหล่านั้นขึ้นมาเพื่อหลอกตัวเองหรือกลบกลืนอคติของตัวเองที่มีต่อผู้หลากหลายทางเพศ ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “เขามีคุณค่าต่อสังคม เขาเป็นคนดีต่อสังคม” จึงเป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไขที่สะท้อนอคติที่มีอยู่ลึกๆ ในใจ
.
ดังนั้นเนื่องในโอกาส Pride Month ประจำปี 2021 หญิงอยากให้สังคมภาคภูมิใจในการต่อสู้ของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ และ ยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ยอมรับแบบไม่ต้องมีเงื่อนไขใด ๆ มากำกับ ไม่ต้องมีคุณค่าใด ๆ มารองรับเหตุผลของการยอมรับนั้น แต่ให้ยอมรับพี่น้องผู้มีความหลากหลายทางเพศในแบบที่เขาเป็น ยอมรับเขาเหมือนมนุษย์คนหนึ่งเท่ากัน
.
ข้อมูลอ้างอิงจาก : https://www.ellethailand.com/…/pride-month-how-it…