“น้องฮัก” : ภาพแทนของ “สังคมลาวยุคใหม่” ที่เปลี่ยนแปลง [ คนมองหนัง ]

คนมองหนัง

“น้องฮัก” เป็นหนังผีฟอร์มเล็กจากลาว ผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์หญิง “แมตตี้ โด” ซึ่งได้โอกาสไปตระเวนฉายตามเทศกาลหนังนานาชาติหลายแห่งจนน่าทึ่ง ก่อนหน้านี้ไม่นาน หนังเพิ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทางเลือกที่ไทย และสามารถยืนระยะได้ดีพอสมควร

เราอาจจัดประเภท “น้องฮัก” เป็นหนังในตระกูล “คนเห็นผี” แถม “หนังแนวคนเห็นผี” เรื่องนี้ ยังเพิ่มสีสันแก่เรื่องราว ด้วยการกำหนดให้ผีมา “ใบ้หวย” กับคนเสียอีก

หนังเพิ่มความซับซ้อนให้ตัวเองอีกนิด เมื่อคนที่สื่อสารกับผีได้ดันไม่เห็นเลขหวย แต่ “น้องฮัก” ใกล้ตัวเธออีกคน ซึ่งมองไม่เห็นผี กลับรับรู้ถึงเลขเด็ดดังกล่าว!

โดยส่วนตัว ผมยังรู้สึกงงกับตรรกะของบรรดา “ผี” ใน “น้องฮัก” อยู่เล็กน้อย

คำอธิบายเรื่อง “กระบวนการเห็นผี” ของหนึ่งในตัวละครนำของหนังนั้น มา “ชัดเจน” เอาตอนบทสรุปสุดท้าย

ตรงส่วนนี้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาคาใจใดๆ

แต่ผมยังแอบสงสัยว่าทำไม “(ว่าที่) ผี” จึงต้องพากันมา “ใบ้หวย” ผ่านตัวละครรายนั้น (เธอและคนใกล้ตัวเคยช่วยเหลือหรือมีสายสัมพันธ์กับพวกเขาหรือ? ก็เปล่า ยกเว้นกรณีท้ายสุด)

นอกจากนี้ ถ้าคิดแบบตัดพ้อ เราก็อาจรู้สึกได้ว่าทำไม “อำนาจเหนือธรรมชาติ” จึงยอมตกเป็น “เครื่องมือ” ให้ “คนตาดี” นำอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพวกตนไปหลอกใช้/เอาเปรียบ “คนตาใกล้บอด”

หรือว่า “ผี/อำนาจเหนือธรรมชาติ” เหล่านั้น ตัดสินใจเลือกข้าง “คนตาดี” เพราะเธอมีสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจด้อยกว่า “คนตาใกล้บอด”?

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นจริงๆ ของ “น้องฮัก” อาจมิได้อยู่ที่เรื่องราวผีๆ หรือเลขหวยเด็ดๆ หากอยู่ตรงการพยายามนำเสนอภาพแทนของ “สังคมลาวร่วมสมัย” ตลอดจนสายสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้คนท้องถิ่น” ใน “โลกยุคใหม่” ซึ่งเปลี่ยนแปลงไป

น่าสนใจว่าสถานภาพของบรรดาตัวละครในหนังลาวเรื่องนี้ รวมถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพวกเขาและเธอนั้น มีลักษณะ “เท่าเทียม” หรือ “สมมาตร” กันเกือบจะสมบูรณ์

กล่าวคือ แทบทั้งหมดไม่มีใครดีกว่าใคร และต่างฝ่ายต่างก็ไล่ฟัด, เหวี่ยง, ตอแหล, ตบตี หรือกระทำความชั่วร้ายใส่กันอย่างพร้อมหน้า หรือไม่ยอมน้อยหน้ากัน

แต่วงจรพยาบาทนี้ก็ไม่ได้มีสภาพเป็น “งูกินหาง” โดยบริบูรณ์ เพราะอย่างน้อยยังมีคนหลุดรอด/มีชีวิตเหลือรอดจากห่วงโซ่อาฆาตแค้นดังกล่าว นั่นคือ “คู่ผัวเมียคนใช้” หรืออาจรวมถึงครอบครัวและแฟนเก่าของนางเอกที่บ้านนอก (ไม่รู้จะถือเป็นชัยชนะทางชนชั้นได้หรือไม่?)

พอเรามองสายสัมพันธ์ร้ายๆ ระหว่างตัวละครใน “น้องฮัก” เป็นวงจรเช่นนี้ ตัวละครรายหนึ่งที่แลดู “แปลกแยก” ออกมาชัดเจน ก็คือ คนญี่ปุ่นอย่าง “เคนจิ” ซึ่งออกแนว “พี่ชายที่แสนดี” เกินไปนิด (จริงๆ คือ “เยอะ” เลย)

ยังดีที่หนังกำหนดให้ตัวละครรายนี้เป็นผู้ชักนำน้องนางเอก (ผู้เห็นเลขเด็ด) เข้าสู่ลัทธิบริโภคนิยม ผ่านการแนะนำให้เธอรู้จักสมาร์ตโฟนและเกม Angry Birds

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ เขาเป็นผู้ชักจูงนางเอกเข้าสู่ความพังพินาศในทางอ้อมนั่นเอง!

ระหว่างดู “น้องฮัก” ผมคิดถึง “The Rocket” (ปี 2013) ของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวออสเตรเลีย “คิม มอร์ดันต์” ซึ่งพูดถึงสังคมชนบทลาวยุคปัจจุบันและบาดแผลทิ้งค้างจากยุคสงครามเย็น มากอยู่พอสมควร

หนังคู่นี้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “สังคมลาวร่วมสมัย” “การพัฒนา” “ฝรั่ง (คนนอก)” และวิถีชีวิตแบบใหม่/การเคลื่อนตัวทางชนชั้น/การโยกย้ายถิ่นฐานของ “คนใน (ประเทศ)” คล้ายๆ กัน

เพียงแต่ “น้องฮัก” มองโลกในแง่ดีน้อยกว่า มีอารมณ์เกรี้ยวกราดฉุนเฉียวมากกว่า และอยู่กับปัจจุบันมากกว่า

หนังผีเรื่องนี้ถ่ายทอดลำดับชั้นของการกดขี่ขูดรีดและการเอาคืน โดยตั้งต้นจาก “ฝรั่ง” ที่เข้ามา “หากิน” (แกมโกง) กับโปรเจ็กต์พัฒนาประเทศโลกที่สาม/ประเทศกำลังพัฒนา

ขณะเดียวกัน ก็มี “คนใน” บางส่วน ที่สามารถร่วมมือหรือสานสัมพันธ์กับ “ฝรั่ง” ได้สำเร็จ (ในกรณีนี้ คือ การแต่งงาน) จน “คนใน” รายนั้น กลายสถานะเป็น “(เมีย) ฝรั่ง” “คนรวย” และ “ชนชั้นกลางระดับสูง/ชนชั้นนำน้อยๆ” ในบ้านเมืองของตนเอง

แล้วก็ยังมี “คนใน” ที่ถูกพวกเดียวกันหลอก “ใช้สอย” อย่างนุ่มนวล ใกล้ชิด สนิทสนม ด้วยฐานะ “ญาติมิตร/น้องสาว” ก่อนที่เธอจะค่อยๆ “ฉวยใช้” ฝ่ายตรงข้ามกลับอย่างแนบเนียนไม่แพ้กัน

และตรงฐานรากสุด ก็มี “คนใน” อีกกลุ่ม ที่ถูกกดขี่ ขูดรีด ข่มขู่อย่างชัดเจน ในฐานะ “ชนชั้นล่าง” ของสังคม ความคั่งแค้นของเขาและเธอค่อยๆ ถูกสะสมจนพอกพูน แล้วระเบิดออกมาอย่างรุนแรง ณ เบื้องท้าย

แน่นอนว่า “น้องฮัก” พูดถึงสังคมลาวที่กำลัง “เปลี่ยนแปลง” อย่างรวดเร็วและรุนแรง

นี่คือหนังที่พูดถึงคนระดับล่างๆ ผู้กำลังได้เข้าถึงหรือลิ้มลองวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ๆ ในสังคมร่วมสมัย

พวกเขาและเธอมีความปรารถนาเอ่อท้น ที่จะเคลื่อนตัวมาสู่การเป็น “คนชั้นกลาง” ในเมืองใหญ่/เมืองหลวง

น่าสนใจว่าในเวลาใกล้เคียงกัน หนังกัมพูชาอย่าง “Diamond Island” ก็พยายามพูดถึงประเด็นทำนองนี้ ผ่านอารมณ์/ความรู้สึก/ประสบการณ์อันเคว้งคว้าง แปลกแยก ร้าวรานของตัวละครนำ

ขณะที่ “น้องฮัก” เลือกเล่าเรื่องราวคล้ายคลึงกัน ผ่านสายสัมพันธ์อันแตกร้าว ผุพัง และการชำระแค้น!