จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (5) ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (5)

ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ (ต่อ)

 

อย่างไรก็ตาม ในสิบรัฐนี้จะมีอยู่สองรัฐที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเฉียงใต้ นั่นคือ สู่สมัยแรกกับสู่สมัยหลัง สู่สมัยแรก (ค.ศ.907-925) มีผู้นำสกุลหวังเป็นผู้ปกครอง พื้นที่ของรัฐนี้โดยหลักแล้วคือมณฑลซื่อชวน รองลงคือบางส่วนของมณฑลกันซู่ สั่นซี และหูเป่ยในปัจจุบัน

ผู้นำของรัฐนี้เป็นขุนศึกของถังโดยถูกส่งมาปกครองซื่อชวนตั้งแต่ ค.ศ.891 พอถังล่มสลายลงจึงได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ หลังจากนั้นบรรดาอดีตขุนนางของถังจำนวนหนึ่งได้เดินทางมารับราชการในรัฐนี้ จนยังความเจริญให้แก่สู่สมัยแรกอย่างมาก

แต่ครั้นผู้นำคนแรกสิ้นชีพและบุตรของเขาก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิต่อ รัฐนี้ก็เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีการซื้อขายตำแหน่งขุนนางโดยมีมเหสีเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนผู้เป็นจักรพรรดิก็ฝักใฝ่แต่ความสุขในราชสำนัก ไม่ใส่ใจในการปกครอง

จน ค.ศ.925 รัฐนี้จึงถูกถังสมัยหลังเข้าโจมตีและจับตัวผู้เป็นจักรพรรดิเอาไว้ได้ แต่ในระหว่างทางที่ส่งตัวอดีตจักรพรรดิไปยังลว่อหยัง อดีตจักรพรรดิก็ถูกฆ่าตาย หลายปีหลังจากนั้นสู่สมัยหลังก็ถูกตั้งขึ้น

 

สู่สมัยหลัง (ค.ศ.934-965) มีผู้นำสกุลเมิ่งเป็นผู้ปกครอง โดยหลังจากที่ถังสมัยหลังเข้ายึดครองสู่สมัยแรกนั้น ผู้นำคนนี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงทหาร จากนั้นก็สั่งสมอำนาจเพิ่มขึ้นจนถึง ค.ศ.932 เขาได้ฆ่าขุนศึกสองคนที่ปกครองที่ราบซื่อชวน แล้วตั้งตนเป็นจักรพรรดิใน ค.ศ.934

แต่ไม่ทันครบปีเขาก็เสียชีวิตลง บุตรของเขาได้เป็นจักรพรรดิต่อและได้ขยายดินแดนของรัฐตนได้กว้างไกลออกไป

กล่าวกันว่า ผู้นำสองพ่อลูกของสู่สมัยหลังนี้ได้สร้างความเจริญให้แก่รัฐของตนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจหรือทางวัฒนธรรม และยังได้รื้อฟื้นลัทธิขงจื่อเพื่อการปกครองและการศึกษาอีกด้วย

ตราบจน ค.ศ.965 สู่สมัยหลังก็ล่มสลายลงเมื่อต้องยอมจำนนต่อซ่ง

 

สุดท้ายคือ ถังใต้ (หนันถัง, ค.ศ.937-975) รัฐนี้ได้กล่าวไปบ้างแล้วว่า เป็นรัฐที่ต่อเนื่องกับรัฐหยังอู๋ เมื่อผู้นำสกุลสีว์ของรัฐนี้ได้เปลี่ยนสกุลของตนมาเป็นสกุลหลี่ เพื่ออ้างสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ถัง จากนั้นก็ประกาศฟื้นฟูราชวงศ์ถังขึ้นมา ซึ่งก็คือถังใต้ที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้

รัฐนี้มีเมืองหลวงอยู่สองแห่งคือ จินหลิงหรือเจียงหนิงและเจียงตู ซึ่งปัจจุบันคือเมืองหนันจิงและเมืองหยังโจวในมณฑลเจียงซูตามลำดับ เนื่องจากสองเมืองนี้ตั้งอยู่คนละทิศ บางทีจึงเรียกสองเมืองนี้ว่า นครตะวันตก (ซีตู) กับนครตะวันออก (ตงตู) ตามลำดับ

พื้นที่ของรัฐนี้ครอบคลุมมณฑลเจียงซี ภาคใต้ของอันฮุย กลางและใต้ของเจียงซู ตะวันออกของหูเป่ย และตะวันตกของฝูเจี้ยนในทุกวันนี้

ผู้นำคนแรกของรัฐนี้สร้างความเจริญให้แก่รัฐของตนผ่านนโยบายสันติ โดยส่งเสริมการค้าและความสัมพันธ์กับรัฐต่างๆ ที่มีอาณาเขตติดกับตน รัฐนี้ทำการค้าด้วยการนำชากับผ้าไหมไปแลกกับม้าและแกะกับรัฐอื่น

นอกจากนี้ ก็ยังมีการจัดตั้งสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือมหาสิกขาลัย และจัดสอบบุคคลเข้ารับราชการ ระหว่างตั้งตนเป็นรัฐอิสระอยู่นั้น เคยทำศึกกับรัฐหมาฉู่และโจวสมัยหลัง แต่ก็ตั้งรับเอาไว้ได้ จนผู้นำคนสุดท้ายซึ่งมีความสามารถในทางกวี แต่ด้อยในทางการเมือง

รัฐนี้จึงถูกซ่งโจมตีจนล่มสลายใน ค.ศ.975 ในที่สุด

 

ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐจากที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นได้ว่า ยุคนี้มิได้มีความแตกต่างไปจากยุคที่จีนไร้เอกภาพเมื่อก่อนหน้านี้ กลุ่มอำนาจที่ตั้งราชวงศ์หรือรัฐอิสระขึ้นมาต่างมีความขัดแย้งในระหว่างกัน มีทั้งที่สร้างความเจริญและความเสื่อมให้แก่ตน

และมีทั้งที่ตั้งใจอยู่อย่างเป็นเอกเทศและตั้งใจรวมจีนเป็นเอกภาพ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ภาวะที่ไร้เอกภาพก็จบลงดังที่เคยจบเมื่อก่อนหน้านี้ เมื่อมีผู้สามารถรวมจีนให้เป็นเอกภาพอีกครั้งหนึ่งในนามราชวงศ์ซ่ง

แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ประการหนึ่งก็คือ การสร้างเอกภาพในครั้งนี้กลับมิใช่เอกภาพที่มีเสถียรภาพมากนัก เพราะแม้ผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ในยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐจะถูกซ่งกำราบลงได้ก็ตาม แต่ก็ยังมีชนชาติอื่นที่เติบโตจนแข็งแกร่งขึ้นมาท้าทายและเป็นภัยคุกคามจีนอยู่ด้วย

เอกภาพครั้งใหม่ของซ่งจึงมีความเปราะบาง และด้วยความเปราะบางนี้ซ่งจึงเป็นราชวงศ์ที่ตั้งอยู่ได้ในสองช่วงเวลาสองพื้นที่ คือช่วงเวลาที่อยู่ทางเหนือกับช่วงเวลาที่อยู่ทางใต้

ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน

 

ทั้งก่อนหน้าและหลังจากที่ซ่งตั้งวงศ์ขึ้นนั้น ได้มีชนชาติอื่นจำนวนหนึ่งเติบใหญ่ขึ้นอย่างช้าๆ ชนชาติเหล่านี้มีพัฒนาการที่สัมพันธ์กับบางชนชาติก่อนหน้านี้ คืออาจเป็นอนุชนชาติใดชนชาติหนึ่งของชนชาติหลักที่งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงในบทก่อนๆ

พัฒนาการของชนชาติเหล่านี้จึงน่าสนใจไม่ต่างไปจากชนชาติซย์งหนูในสมัยฮั่น ด้วยต่อมาชนชาติเหล่านี้ได้กลายเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ และสามารถตั้งราชวงศ์หรือจักรวรรดิของตนขึ้นได้ อันเป็นการตั้งขึ้นมาคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาของราชวงศ์ซ่ง

จากนั้นก็ทั้งท้าทายและทั้งเผชิญหน้ากับซ่ง

และในฐานะที่เป็นไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (alien) หลายชนชาติ มิใช่ชนชาติเดียวดังที่ฮั่นเคยเผชิญกับซย์งหนู จนกล่าวได้ว่า ศตวรรษที่ 10 เป็นศตวรรษของไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดนโดยแท้ การศึกษาเรื่องราวของชนชาติเหล่านี้จึงมีความสำคัญไม่น้อย

การศึกษาเรื่องราวของไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดนในที่นี้จะตั้งอยู่บนฐานทัศนะที่ว่า ชนชาติเหล่านี้เสมอด้วยชนชาติจีน อันแตกต่างไปจากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์จีนกระแสหลัก ที่มักมีทัศนะโน้มเอียงไปในทางที่มีอคติต่อชนชาติเหล่านี้

ทัศนะเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาประวัติศาตร์จีนในภาพใหญ่

เพราะความจริงแล้วชนชาติเหล่านี้ต่างมีอารยธรรมและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง สามารถสร้างจักรวรรดิที่มีความเจริญได้ ในบางสมัยยังปกครองพื้นที่ที่มีหลายชนชาติอาศัยอยู่โดยมีจีนเป็นชนชาติส่วนใหญ่

ชนชาติเหล่านี้จึงมีประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง แต่จะไม่ถูกกล่าวถึงเลยหากชนชาติเหล่านี้มิได้มีปฏิสัมพันธ์กับจักรวรรดิจีน ดังนั้น การกล่าวถึงชนชาติเหล่านี้จากที่ผ่านมาและในงานศึกษานี้ ส่วนหนึ่งจึงเป็นเพราะชนชาติเหล่านี้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับจีน

และพึงกล่าวถึงด้วยฐานะที่เสมอกับชนชาติจีน มิใช่ในฐานะที่ด้อยกว่าเพียงเพราะมีวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ที่แตกต่างไปจากจีน

เหลียวแห่งคีตัน

 

คีตัน (Khitan) หรือ ชี่ตัน ในคำเรียกของจีนนี้ได้กล่าวถึงไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้ ต่อไปนี้จะกล่าวโดยพิสดารออกไป โดยเริ่มจากประวัติช่วงต้นของชนชาติคีตันซึ่งมีข้อมูลไม่สู้จะสมบูรณ์นัก

แหล่งข้อมูลฝ่ายจีนได้เอ่ยชื่อของคีตันขึ้นมาเป็นครั้งแรกก็ในราวศตวรรษที่ 4 แต่ก็เป็นการเอ่ยถึงแบบไม่สู้จะปกตินัก ด้วยเป็นการเอ่ยที่ชวนให้สับสนว่าชื่อคีตันคือชื่อชนชาติใดกันแน่

แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเห็นพ้องต้องกันว่า คีตันเป็นชนชาติที่มีที่มาจากชนชาติอี่ว์เหวินอันเป็นสาขาหนึ่งของชนชาติเซียนเปย

ชนชาตินี้ครอบครองพื้นที่ชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 จน ค.ศ.345 ซึ่งอยู่ในยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ คีตันก็ถูกตระกูลมู่หญงซึ่งเป็นเซียนเปยที่มีความเข้มแข็ง และเป็นผู้สร้างรัฐเอียนสมัยแรกในยุคที่ว่าเข้ามากดดัน จนชนชาติอี่ว์เหวินแตกออกเป็นสามกลุ่ม

ในสามกลุ่มนี้มีคู่ม่อซีเป็นหนึ่งในนั้น

ครั้นถึง ค.ศ.388 คู่ม่อซีก็แตกย่อยเป็นอีกสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มเดิมคือคู่ม่อซีที่ต่อมาถูกเรียกสั้นๆ ว่า ซี อีกกลุ่มหนึ่งในบันทึกฝ่ายจีนเรียกว่า ชี่ตัน

ในตอนนั้นยังไม่มีความชัดเจนว่าคำเรียก ชี่ตัน เป็นคำเดียวกันหรือแยกกับคำว่า คีตัน ตราบจนช่วงเวลาอันยาวนานของเว่ยเหนือ (ค.ศ.386-535, ยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ) สถานการณ์ของชนชาตินี้ก็เริ่มนิ่งสงบ ช่วงนี้เองที่คีตันถูกเรียกแยกกับคู่ม่อซี และเป็นคีตันที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้

แม้คีตันจะเป็นรัฐอิสระ แต่ก็มิได้เข้มแข็ง คีตันจึงขึ้นต่อรัฐอื่นและต้องส่งบรรณาการให้แก่รัฐนั้น