ปริศนาโบราณคดี : ‘หลวงพ่อเพชร’ หรือแท้จริงคือ ‘พระสิงห์ 1 ล้านนา’? (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ
(ซ้าย) พระประธานจากวัดสันคะยอม ลำพูน (ขวา) พระสิงห์ 1 ล้านนา สำริดรมดำ

 

‘หลวงพ่อเพชร’

หรือแท้จริงคือ ‘พระสิงห์ 1 ล้านนา’? (จบ)

 

ตอนสุดท้ายของเรื่อง “หลวงพ่อเพชร” ที่บางท่านใส่สมการว่าเท่ากับ “พระสิงห์ 1 ล้านนา” นั่นเองนี้ จะขอสร้างความเข้าใจกับผู้อ่านอีก 2 ประเด็นที่เหลือ เพื่อเป็นการปิดฉากเรื่องนี้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

1. ประเด็น “อายุสมัย” ของการสร้างพระสิงห์ 1 ล้านนา ถูกจำกัดอยู่แค่สมัยล้านนาตอนต้น (ตามความเชื่อเดิมๆ) อยู่อีกหรือไม่?

2. ได้มีการรณรงค์ให้ยกเลิกใช้คำว่า “พระเชียงแสนสิงห์ 1” แต่ให้ใช้คำว่า “พระล้านนาสิงห์ 1” หรือ “พระสิงห์ 1 ล้านนา” แทน นานกว่า 4 ทศวรรษแล้ว แต่ไม่บรรลุผลสำเร็จ

เกิดอะไรขึ้นในวงการผู้สนใจพุทธศิลป์สยาม?

พระสิงห์ 1 ล้านนา สำริดรมดำ

 

พระสิงห์ทั้งสามรุ่น

ใช้เป็นเกณฑ์แยกอายุสมัยได้หรือไม่?

ก่อนอื่นขอปูพื้นกว้างๆ ง่ายๆ สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถแยกรูปแบบพุทธศิลป์ล้านนาเป็นพระสิงห์สามรุ่นออกจากกันได้ ให้ทราบเบื้องต้นก่อน ว่าเดิมทั้งนักวิชาการด้านโบราณคดีและเซียนพระต่างยอมรับที่จะกำหนดเรียกพระสิงห์ 1 สิงห์ 2 สิงห์ 3 ตามพุทธลักษณะ ดังนี้

พระสิงห์ 1 พระพักตร์กลม อมยิ้ม พระหนุ (คาง) เป็นปม เม็ดพระศกขนาดโตมีจำนวนไม่มาก พระเกตุมาลาเป็นดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วน คือลำตัวค่อนข้างต้อๆ สั้นๆ บ่าใหญ่หนา เอวคอดเล็กเหมือนราชสีห์ อันเป็นที่มาของการเรียก “พระสิงห์” (รออ่านรายละเอียดระหว่าง “พระสิงห์” กับ “พระพุทธสิหิงค์” ต่อไปเร็วๆ นี้)

ชายสังฆาฏิพาดบนอังสะ (บ่า) ด้านซ้าย (แต่เรามองเห็นเป็นด้านขวา) ปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบหยักรั้งอยู่เหนือเนินพระถัน ประทับขัดสมาธิเพชร ซ้อนพระชงฆ์ (เข่า) ขัดไขว้ แลเห็นฝ่าพระบาทสองข้าง นิยมปางมารวิชัย มีฐานบัวคว่ำ-หงายแบบปัวปาละกลีบใหญ่ (บัวฟันยักษ์/บัวเล็บช้าง) รองรับ

พระสิงห์ 2 เป็นกลุ่มที่อยู่ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” หรือ transitional pattern / transitional period เชื่อมความแตกต่าง-เด็ดขาด ระหว่างความเป็นล้านนาแท้ๆ กับกำลังรีๆ รอๆ ตัดสินใจจะรับอิทธิพลสุโขทัยขึ้นมาเต็มรูปแบบอย่างเก้ๆ กังๆ นั่นคือ คั่นกลางระหว่างสิงห์ 1 กับสิงห์ 3

กลุ่มสิงห์ 2 นี่พบน้อยมาก และน่าตื่นเต้นทุกครั้งที่พบ ด้วยมีลักษณะที่ค่อนข้าง flexible ไม่ตายตัว แต่ละองค์ไม่เหมือนกันเลย บางองค์ขัดสมาธิราบ แต่เกตุยังเป็นบัวตูม, บางองค์ยังนั่งสมาธิเพชร แต่เกตุมาลาเป็นรัศมีเปลวแล้ว อย่างไรก็ดี จุดร่วมของพระสิงห์ 2 มีอยู่ 3 ประการคือ

1. ชายสังฆาฏิที่เคยรั้งสั้นเหนือพระถัน ค่อยๆ คล้อยยาวลงมาเลยพระถันเล็กน้อย แต่ต้องไม่ยาวจรดพระนาภี (สะดือ)

2. พระวรกายที่เคยอวบอ้วนสั้นๆ ต้อๆ เริ่มเพรียวโปร่งบางมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพรียวมาก

3. พระพักตร์จากอวบกลม คางเป็นปม เม็ดพระศกก้อนโต พระเนตรโต เริ่มเปลี่ยนเป็นพระพักตร์แป้นขึ้น (แบนและดูเป็นพื้นเมืองมากขึ้น) คางเป็นปมก้อนโตเริ่มหายไปหรือเล็กลง เม็ดพระศกขนาดเล็กลงและจำนวนมากขึ้น พระเนตรเล็กเรียวดูเป็นพื้นเมืองมากขึ้น

พระสิงห์ 3 เป็นความแตกต่างอย่างชัดเจนกับสิงห์ 1 คือพระพักตร์เรียวยาวขึ้น แต่ไม่ใช่รูปไข่แบบสุโขทัย ยังคงแบนแป้นและคล้ายผลมะตูมแบบใบหน้าคนล้านนาพื้นเมือง แต่ไม่กลม พระหนุที่เป็นปมก้อนโตหายไป เม็ดพระศกแหลมเล็กวางเรียงถี่ขึ้น

จุดเด่นที่สุดของพระสิงห์ 3 คือท่านั่งขัดสมาธิราบ เกตุมาลาเป็นพระรัศมีเปลว กับชายสังฆาฏิเหนืออังสาซ้ายเป็นแผ่นยาวพาดลงมาจรดพระนาภี

เดิมเชื่อกันว่าเมื่อพบพระสิงห์ 1 ที่ไหน แสดงว่าต้องเป็นพุทธศิลป์ที่สร้างขึ้นในยุคล้านนาตอนต้น (พระญามังรายถึงพระญาผายู)

ส่วนพระสิงห์ 2 เป็นยุคล้านนาตอนกลาง (พระญากือนาถึงพระญาสามฝั่งแกน) และพระสิงห์ 3 เป็นยุคล้านนาตอนปลาย (พระเจ้าติโลกราช จนถึงเสียกรุงให้บุเรงนองปี 2101)

เกณฑ์ดังกล่าวเคยยึดถือกันมาอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งราวปี 2530 เป็นต้นมา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่านเริ่มเจาะลึกขึ้นเรื่อยๆ พบว่าเกณฑ์ดังกล่าวนี้ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ไม่อาจนำเอามาเป็นตัวตัดสินเรื่องอายุได้เลย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เราได้เห็นถึงความย้อนแย้งมาแล้วอย่างมากทีเดียว นั่นคือ “หลวงพ่อเพชร” 3 องค์ที่เรายกมาเป็นอุทาหรณ์ในบทความนี้ทั้งหมดนั้น ล้วนสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าติโลกราชทั้งสิ้น

ยุคพระเจ้าติโลกราช (ครองราชย์ พ.ศ.1985-2030) จัดว่าอยู่ในสมัยล้านนาตอนกลางค่อนปลายแล้ว หากยึดตามลำดับสิงห์ 1 สิงห์ 2 สิงห์ 3 ยุคของพระองค์ก็ควรมีแต่พระสิงห์ 2 กับสิงห์ 3 เท่านั้นใช่หรือไม่ ทว่าในความเป็นจริง เรากลับพบพระพุทธรูปแบบสิงห์ 1 จำนวนมากอีกด้วย

นี่คือความยากลำบากในการกำหนดอายุพุทธศิลป์ล้านนา โดยเฉพาะกรณีของ “พระสิงห์ 1” มิอาจสรุปได้ว่าต้องสร้างขึ้นในช่วงล้านนาตอนต้นเท่านั้นได้อีกต่อไปแล้ว เพราะความนิยมนี้หวนกลับมาคึกคักอีกครั้งในยุคพระเจ้าติโลกราชอย่างแพร่หลาย

ส่วนพระสิงห์ 2 และสิงห์ 3 นั้น ยังพอยึดถือได้ว่า ไม่เก่าถึงยุคล้านนาตอนต้นไปได้ เพราะมีลักษณะของการรับเอาอิทธิพลจากสุโขทัย/อยุธยา เข้ามาปะปนหลายจุด เช่น รัศมีเปลว ขัดสมาธิราบ พระพักตร์ยาวขึ้น ชายสังฆาฏิยาว

ด้วยเหตุที่ว่า กว่าการที่วัฒนธรรมหนึ่งจะยอมรับเอาอัตลักษณ์ของอีกวัฒนธรรมหนึ่งเข้ามาผสมผสานกับสิ่งที่ตนเคยมีได้นั้น ต้องผ่านกาลเวลาคัดกรองตริตรอง “เลือกรับและปรับใช้” อยู่หลายทศวรรษหรือร่วมศตวรรษ

ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่า หากจะต้องตัดสินพิสูจน์เรื่องอายุสมัยของพระสิงห์ 1 แต่ละองค์ จำเป็นต้องใช้ศาสตร์หรือองค์ประกอบอื่นๆ ช่วยกันพิจารณา เช่น จารึกที่ฐาน เนื้อวัสดุ สถานที่พบ ว่าวัดนั้นๆ สร้างในรัชกาลใดร่วมกันด้วย

พระสิงห์ 1 ล้านนา สำริดรมดำ

 

ทำไมให้ยกเลิกใช้คำว่า “พระเชียงแสน”

ปี 2526 ดิฉันอยู่ชั้นปี 3 Major ประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนวิชาชื่อ “ศิลปะเชียงแสน” สอนโดยอาจารย์คงเดช ประพัฒน์ทอง (อาจารย์ขุน) ซึ่งปกติท่านเป็นข้าราชการไฟแรงของกรมศิลปากร ความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาอย่างเอกอุ จึงได้รับเชิญจากภาควิชาให้มาสอน

ประโยคแรกที่อาจารย์คงเดชถามพวกนักศึกษา ซึ่งดิฉันไม่มีวันลืมเลยก็คือ “คิดว่าชื่อวิชาศิลปะเชียงแสนนี่ เป็นการตั้งชื่อที่ถูกต้องแล้วหรือ และหากไม่เหมาะ นักศึกษาคิดว่าควรใช้ชื่อใด?”

พวกเรามึนงง มืดแปดด้าน ไม่รู้จะหาเหตุผลใดมาคัดง้างกับอาจารย์ขุน เพราะเราได้ยินคำว่า “ศิลปะเชียงแสน” มาตั้งแต่เรียนวิชาศิลปะพื้นฐานในประเทศไทยตอนอยู่ชั้นปี 1 แล้วนี่นา

“ตอนนี้คณาจารย์ทุกคนในคณะโบราณคดี ผู้รู้ทุกคนในกรมศิลปากร รวมทั้งปราชญ์ในราชบัณฑิตยสภา กำลังระดมสมองช่วยกันแก้ไขชื่อวิชา ‘ศิลปะเชียงแสน’ ให้เป็นชื่อวิชา ‘ศิลปะลานนาไทย’ แทน”

อนึ่ง กรณี “ล้านนา-ลานนา-ลานนาไทย” ดิฉันเคยกล่าวไปแล้วอย่างละเอียดในคอลัมน์นี้เมื่อ 10 ปีก่อน สรุปสั้นๆ เบื้องต้นให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนจะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ใช้คำว่า “ล้านนา” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดราวปี 2530 พวกเราก็หลงทางเคยใช้ “ลานนา” หรือ “ลานนาไทย” กันอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็เป็นคำที่เหมาะสมกว่าคำว่า “เชียงแสน” อยู่ดี

ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น อาจารย์คงเดชอธิบายต่อไปว่า

“เพราะคำว่า ‘เชียงแสน’ เป็นแค่เพียงชื่อนครรัฐหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมาแล้วนี่เอง หาได้เก่าถึงยุคโยนกนาคนคร ตามตำนานสิงหนวัติกล่าวไว้ไม่ ในภาคเหนือทั้งหมด นครรัฐที่เก่าสุดซึ่งสามารถย้อนหลักฐานด้านพุทธศิลป์และโบราณสถานเก่าไปไกลถึงพุทธศตวรรษที่ 15-16 ได้นั้น ก็มีนครหริภุญไชยเพียงแห่งเดียว

เป็นดั่งนี้แล้ว นักศึกษาคิดว่ายังสมควรให้เรียกชื่อวิชานี้ว่า ‘ศิลปะเชียงแสน’ อยู่อีกหรือไม่ ในเมื่อศิลปะที่เราจะได้เรียนกันตลอดเทอมนี้ มีทั้งศิลปะหริภุญไชย ซึ่งเก่าแก่กว่าเชียงแสนหลายศตวรรษ กับศิลปะลานนาไทยในลำพูนและเชียงใหม่ ซึ่งก็สร้างขึ้นก่อนที่พระญาไชยสงคราม โอรสของพระญามังรายจะย้ายเมืองหลวงกลับมาอยู่เชียงแสน ทั้งนี้ ยังไม่นับศิลปะสกุลช่างพะเยา เขลางค์ ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเชียงแสน?”

“แล้วทำไมแวดวงวิชาการจึงเคยยอมรับให้มีการใช้ชื่อคำว่า ‘ศิลปะเชียงแสน’ หรือ ‘พระเชียงแสน’ มาก่อนตั้งนานนมแล้วละคะท่านอาจารย์? ทำไมเมื่อก่อนไม่บัญญัติเรียก ‘ศิลปะภาคเหนือตอนบน’ หรือ ‘ศิลปะลานนา-ล้านนา’ อะไรนั่น?” ดิฉันถามอาจารย์คงเดช

“ฟังนะ ยุคของปรมาจารย์รุ่นบุกเบิก อาทิ ยอร์ช เซเดส สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ฯลฯ ได้บัญญัติคำว่า ‘ศิลปะเชียงแสน’ ขึ้นมาใช้เป็นตัวตั้งหรือตุ๊กตาชั่วคราว ใช้เรียกแทนศิลปะของภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ด้วยเหตุผล 2 ประการ

ประการแรก ยึดถือตามตำนานเอกสารโบราณหลายฉบับที่ล้วนระบุว่า บริเวณเมืองเชียงแสน-เชียงรายเคยมีรัฐโบราณแบบรัฐซ้อนรัฐหลายยุคที่ต่างล่มสลายไปแล้ว นับแต่สุวรรณโคมคำ โยนกนาคนคร หิรัญนครเงินยาง และไชยบุรีศรีช้างแสน โดยระบุศักราชว่ารัฐสุวรรณโคมคำมีอายุเก่ากว่าหริภุญไชยของพระนางจามเทวี นักวิชาการจึงเอารัฐที่เก่าสุดแถวเชียงแสนเป็นตัวตั้ง แต่ครั้นมาพบความจริงว่า เราไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าถึงอายุสมัยที่อ้างในตำนานนั้นจริง

เหตุผลประการที่สอง เมื่อนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้ลงสำรวจพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6-7 พบว่ามีแต่เมืองเชียงแสนเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่พบโบราณวัตถุ โบราณสถานรวมกันอยู่แน่นหนา เป็นกลุ่มเป็นก้อน สมบูรณ์ งดงาม มากกว่าที่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ซึ่งวัตถุค่อนข้างกระจัดกระจาย นักโบราณคดีจึงใส่ชื่อเรียกไว้เป็น ‘หมายเหตุเบื้องต้น’ ก่อนว่า ‘นี่คือศิลปะเชียงแสน’ โดยหากวันหน้าพบว่ามีแหล่งศิลปกรรมใดที่แปลกแตกต่าง แยกย่อยไปกว่าเชียงแสน ก็จะมีการเปลี่ยนชื่อเรียกภายหลัง

ครั้นผู้คนพบพระพุทธรูปสิงห์ 1 องค์ปุ้มป๊ะปุ้มปุ้ยที่ไหน ไม่ว่าในลำพูน เชียงใหม่ ก็พลอยเรียก ‘พระเชียงแสนสิงห์ 1’ ตามกลุ่มของ ‘พระเชียงแสน’ ตามไปด้วย ซึ่งช่วงนั้นยังไม่ได้มีการศึกษาด้านศิลาจารึก พงศาวดาร ตำนานฉบับอื่นๆ ตรวจสอบประกอบกันว่า ลำพูนกับเชียงใหม่นั้น สร้างมาก่อนเชียงแสน เราจึงอนุโลมเรียกศิลปะพระสิงห์ 3 รุ่นว่า ‘พระเชียงแสน’ สืบต่อกันเรื่อยมา โดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุง”

ที่ต้องพาดพิงถึงเหตุการณ์ในอดีตครั้งนั้น ก็เพื่อต้องการชี้ให้ผู้อ่านในวงกว้างเห็นว่า ความเข้าใจของนักวิชาการวงใน รับรู้กันอยู่เต็มอกว่าชื่อของ “ศิลปะเชียงแสน” “พระเชียงแสน” นั้นเป็นคำที่ไม่ครอบคลุมศิลปกรรมล้านนาทั้งหมดมาตั้งแต่ปี 2526 แล้ว นั่นก็คือเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา!

นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อวิชาศิลปะเชียงแสนเป็น “ศิลปะลานนาไทย” และ “ศิลปะล้านนา” ตามลำดับ

แล้วใช้วิธีเปลี่ยนการเรียกคำว่า “พระเชียงแสนสิงห์ 1, สิงห์ 2, สิงห์ 3” เป็น “พระล้านนาสิงห์ 1, สิงห์ 2, สิงห์ 3” แทน เว้นแต่หากพระพุทธรูปองค์ไหนมีหลักฐานระบุชัดว่าสร้างขึ้นในเมืองเชียงแสนจริง ก็ให้ฟันธงไปว่าเป็น “พระเชียงแสนสิงห์ 1, สิงห์ 2, สิงห์ 3” ได้เลย

แต่ดูเหมือนว่าองค์ความรู้ดังกล่าวยังไม่ค่อยขยายไปสู่การรับรู้ในวงกว้างเท่าที่ควร

ดังนั้น ทุกวันนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ของเว็บไซต์พระเครื่องต่างๆ จึงยังคงใช้คำว่า “พระเชียงแสนสิงห์ 1, สิงห์ 2, สิงห์ 3” ดุจเดิม

ซึ่งไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องผิดมหันต์ การเรียกดังกล่าวเป็นความคุ้นชินมาตั้งแต่เดิม ดิฉันเพียงแต่ตระหนักในหน้าที่ของพวกเรานักวิชาการวงในด้านโบราณคดี คงต้องช่วยกันทุ่มเทแรงอธิบายให้คนวงนอกเข้าใจมากขึ้นกว่าเก่า

สรุปบทความทั้ง 4 ตอนนี้ มีสาระอยู่ที่ว่า “หลวงพ่อเพชร” เป็นการเรียกพระพุทธรูปแบบสิงห์ 1 ของล้านนา ตามท่านั่งประทับขัดสมาธิเพชร โดยที่พระเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นในสมัยล้านนาตอนต้น (ตามความเชื่อเดิมๆ ว่าพระสิงห์ 1 คือรุ่นเก่าสุด)

และจบลงด้วยการรณรงค์ขอร้องให้ช่วยกันเรียก “พระเชียงแสนสิงห์ต่างๆ” ว่า “พระล้านนาสิงห์ต่างๆ” แทน