ทัพเรือ คลื่นแรง ทัพฟ้า พายุกระหน่ำกลางศึกโควิด ‘แอร์บูล VS มานัต’ ภาค 2 และ ‘จอว์เฒ่า’ สนามไชย กับ ‘3 ฉลาม’ วังนันท์ ชิง ‘นาวี 1’ ณ วังเดิม/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

ทัพเรือ คลื่นแรง

ทัพฟ้า พายุกระหน่ำกลางศึกโควิด

‘แอร์บูล VS มานัต’ ภาค 2

และ ‘จอว์เฒ่า’ สนามไชย

กับ ‘3 ฉลาม’ วังนันท์ ชิง ‘นาวี 1’ ณ วังเดิม

 

ท่ามกลางศึกโควิด ศัตรูที่มองไม่เห็น ที่กองทัพทำหน้าที่ผู้ช่วยรัฐบาล ผู้ช่วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องทำศึกภายในของแต่ละเหล่าทัพเองด้วย

สถานการณ์ภายนอกเหมือนจะสงบเรียบร้อย แต่ภายในนั้นร้อนระอุ คุกรุ่น เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายกำลังใกล้เข้ามา

เมื่อต้องมีการเลือก ทั้ง ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.คนใหม่ แทนคนที่จะเกษียณ แต่ทว่ามีแคนดิเดตหลายคน และยังไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นเต็งหนึ่ง จึงทำให้การต่อสู้แย่งชิงเก้าอี้เข้มข้น

ที่สำคัญ เกิดปรากฏการณ์ที่ ผบ.เหล่าทัพคนปัจจุบันไม่ได้อยู่ใต้อาณัติของ ผบ.เหล่าทัพคนก่อน เกิดอาการแข็งข้อ แข็งขืนกันขึ้น

โดยเฉพาะที่กองทัพอากาศ ไม่ใช่แค่ไม่อยู่ในอาณัติ แต่ทว่าเกิดความขัดแย้งกันหนักขึ้นๆ

เป็นที่รู้กันดีว่า บิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. เลิกพูดเลิกคุยกับบิ๊กนัต พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ. มากว่า 7 เดือนแล้ว หรือตั้งแต่แรกๆ ที่ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.

หลังจากที่ พล.อ.อ.แอร์บูลแก้ไขสัญญาและแนวทางต่างๆ ที่เคยทำมาในยุค พล.อ.อ.มานัต

จนเกิดการแพร่บทความที่คาดกันว่าเขียนโดย พล.อ.อ.มานัต ตามสไตล์ถนัด ที่ถูกแชร์ในหมู่ทหารอากาศที่ใกล้ชิด ตำหนิการแก้ไขสัญญาต่างๆ ในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ที่ผิดไปจากหลักการ purchase and development (P&D) และเน้นการใช้ภูมิปัญญาไทย สนับสนุนการสร้างงานในประเทศ เช่นสมัยที่ตนเองเป็น ผบ.ทอ.

รวมทั้งการระบุถึงการล้างบางในบริษัทอุตสาหกรรมการบิน ทอ. (TAI) ที่เป็นเสมือนสัญญาณการประกาศศึกกับ พล.อ.อ.แอร์บูล

และเป็นการสะท้อนว่า สิ่งที่ พล.อ.อ.มานัตคิดไว้นั้น ผิดแผน และการตัดสินใจเลือก พล.อ.อ.แอร์บูลเป็น ผบ.ทอ.นั้น พลาดซะแล้ว

เพราะใครๆ ก็คิดว่า จากการที่ พล.อ.อ.มานัตเลือก พล.อ.อ.แอร์บูลมาเป็น ผบ.ทอ.แบบม้ามืด แบบยอมผิดใจกับเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 20 ทั้งรุ่น ที่เชียร์บิ๊กจ้อ พล.อ.อ.ธรินทร์ ปุณศรี เป็น ผบ.ทอ.นั้น จะสามารถซื้อใจ พล.อ.อ.แอร์บูลได้

แต่ทว่า พล.อ.อ.แอร์บูลขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.แบบไม่คาดคิด เพราะมาจากผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. โดยที่ไม่ได้วิ่งเต้นหรือขอใคร แต่เพราะ พล.อ.อ.มานัตคิดว่า พล.อ.อ.แอร์บูลจะดีที่สุด ไม่มีพิษสง เมื่อเทียบกับแคนดิเดตคนอื่นๆ ในเวลานั้น

พล.อ.อ.แอร์บูลขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.ท่ามกลางแรงกดดัน ด้วยเหตุที่ พล.อ.อ.มานัตที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เชื่อมั่นในตัวเองมาก และคิดไม่เหมือนคนอื่น และมั่นใจในความเป็นคนเก่ง คนฉลาด และเรียนจบจากเยอรมัน จึงทำให้ 1 ปีของการเป็น ผบ.ทอ. จึงไม่ฟังใคร หากคิดว่ามันถูกต้องในความคิดของตนเอง

โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้าย 2 ครั้ง ที่มีการโยกย้ายจนทำให้หลายคนเสียอนาคต

พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา

ที่พีกสุดคือ พล.อ.อ.มานัตเลือก พล.อ.อ.แอร์บูลมาเป็น ผบ.ทอ. และการจัดโผที่เด้งบิ๊ก ทอ.หลายคน แม้ว่าจะถูกอดีต ผบ.ทอ.หลายคนแย้งก็ตาม

ดังนั้น พล.อ.อ.แอร์บูลจึงต้องยอมสละ พล.อ.อ.มานัต เพื่อรักษากองทัพอากาศ และสมานรอยร้าวภายใน รวมทั้งการแก้ไข ปรับเปลี่ยนในสิ่งที่ พล.อ.อ.มานัตทำเอาไว้

จึงเป็นที่มาของการแก้ไขสัญญาต่างๆ ที่พอแก้ไขได้ โดยฝ่ายสนับสนุนมีการเขียนบทความสู้กับบทความที่เชื่อว่าเขียนโดย พล.อ.อ.มานัต โดยระบุว่า เพราะแม้จะมี P&D แต่คนที่ได้ประโยชน์คือบริษัท ไม่ใช่กองทัพอากาศ อีกทั้งเกิดกระแสโจมตีว่าเป็นการผูกขาดบริษัทเดียวที่ได้ประโยชน์

รวมทั้งการโยกย้ายนายทหารอากาศที่ พล.อ.อ.มานัตดันขึ้นมา พ้นตำแหน่งสำคัญ

จึงยิ่งทำให้บรรยากาศในทุ่งดอนเมือง ยิ่งตึงเครียด และนำมาสู่จุดพีกอีกครั้ง เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นถูกนำเสนอในหน้าสื่อกระแสหลัก บางสำนัก พร้อมเอกสารต่างๆ ในเรื่องการแก้ไขสัญญา และการโจมตี พล.อ.อ.แอร์บูลแบบเต็มๆ

ไม่แค่นั้น ส.ส.ฝ่ายค้านยังนำไปอภิปรายในสภา ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 อีกด้วย

 

แต่ด้วยความที่ พล.อ.อ.แอร์บูลเป็นคนเงียบๆ นิ่งๆ จึงไม่ได้ชี้แจงตอบโต้ใดๆ เพราะยึดหลักที่ว่า ความจริงก็คือความจริง เพราะทุกอย่างมีเหตุและผล

โดยทีมงานก็เสนอให้มีการฟ้องร้องสื่อที่นำเสนอข่าว เพราะทำให้เสียหาย และข้อมูลไม่ถูกต้อง

จนตามมาด้วยศึกบทความ ศึกข้อเขียนของฝ่ายสนับสนุน พล.อ.อ.แอร์บูล และเป็นนายทหารอากาศที่โดนกระทำในยุค พล.อ.อ.มานัต ออกมาต่อสู้กับบทความของอีกฝ่ายหนึ่ง

หากจะเรียกว่า เป็นเสมือนศึกใบปลิว หรือบัตรสนเท่ห์ ย้อนยุคเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ที่ใบปลิวข้อเขียนเหล่านี้จะถูกแจกจ่าย ส่งต่อแบ่งกันอ่าน แถวบ้านพัก ทอ. หรือบางทีก็เอามาวางทิ้งที่ห้องนักข่าว หรือส่งทางจดหมายถึงนักข่าว แต่ยุคนี้จะผ่านมาทางไลน์กลุ่ม

เพื่อหลีกเลี่ยงศึกวิวาทะผ่านสื่อ ที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ จะเห็นได้ว่า ทั้ง พล.อ.อ.มานัต และ พล.อ.อ.แอร์บูล ก็ยังไม่มีใครเปิดหน้าสู้ผ่านสื่อหลัก แต่เลือกที่จะต่อกรกันในความเงียบ

ดังนั้น จึงทำให้ที่สุดของที่สุด จะไปจบที่การเลือก ผบ.ทอ.คนใหม่ ว่า พล.อ.อ.แอร์บูลจะเลือกใคร แล้ว พล.อ.อ.มานัตจะต่อสู้อย่างไรหรือไม่

เป็นที่รู้กันว่า พล.อ.อ.มานัตดันเสธ.หนึ่ง พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา เสธ.ทอ. ให้จ่อขึ้นเป็น ผบ.ทอ. แต่ความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นของ พล.อ.อ.แอร์บูล และ พล.อ.อ.มานัต ย่อมส่งผลต่อ พล.อ.อ.ชานนท์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่า พล.อ.อ.ชานนท์จะเป็นนายทหารที่มีความสามารถอยู่แล้ว อยู่ไลน์ที่จะเป็น ผบ.ทอ.อยู่แล้ว แต่เมื่อ พล.อ.อ.มานัตมาช่วยดัน จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นทายาท จึงอาจกลายเป็นทุกขลาภของ พล.อ.อ.ชานนท์ก็ว่าได้

แม้ว่าในทางปฏิบัติ พล.อ.อ.แอร์บูลยังคงมอบหมายงาน และปรึกษาหารือ เข้าใจ พล.อ.อ.ชานนท์มาตลอดก็ตาม

แต่ด้วยความที่ พล.อ.อ.ชานนท์ ซึ่งเป็น ตท.23 และยังมีอายุราชการอีก 3 ปี จึงทำให้ถูกมองว่า ควรจะให้รุ่นพี่ขึ้นเป็น ผบ.ทอ.ก่อน

แรงกดดันถาโถมมาที่ พล.อ.อ.แอร์บูลให้คืนความชอบธรรมให้กับนายทหารอากาศที่ถูก พล.อ.อ.มานัตเด้งพ้น ทอ. ไป บก.ทัพไทย ทั้งบิ๊กป้อม พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันทน์ รองเสธ.ทอ. ที่ถูกเด้งไปเป็นรองเสธ.ทหาร และบิ๊กต่วย พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ ต่ายทอง เสธ.ทอ. ที่ถูกย้ายไปเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด

จึงทำให้เกิดกระแสข่าวว่า จะเอาทั้ง 2 คนกลับมา ทอ. โดยให้ พล.อ.อ.สุทธิพันธ์เป็น ผบ.ทอ.ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณ และให้ พล.อ.อ.ธนศักดิ์กลับมาเป็นเสธ.ทอ. จ่อคิวเป็น ผบ.ทอ.

แถม พล.อ.อ.สุทธิพันธ์เป็นเพื่อน ตท.21 ของ พล.อ.อ.แอร์บูลด้วย และยังเป็นนายทหารที่ พล.อ.ประยุทธ์ถามถึงบ่อยๆ และเคยมีข่าวว่าหนุนเป็น ผบ.ทอ.มาแล้ว แต่ตอนนั้น พล.อ.อ.มานัตไม่ยอม เพราะยืนยันชื่อ พล.อ.อ.แอร์บูล

โดยในแคนดิเดต ผบ.ทอ.ครั้งนี้ มีเพื่อน ตท.21 ของ พล.อ.อ.แอร์บูล เช่น บิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ประธานที่ปรึกษา ทอ. ที่ถือว่ามีอาวุโสสูงสุด เพราะเป็นพลอากาศเอกพิเศษ หรืออัตราจอมพลอากาศ ในสมัยก่อน

แต่ตัว พล.อ.อ.แอร์บูลนั้นถูกมองว่า เป็นคนรักเพื่อน และมีเพื่อนรักอย่างบิ๊กตั้ว พล.อ.อ.สฤษฏ์พงศ์ วัฒนวรางกูร ผบ.คปอ. แต่ทว่ากำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และจับตามองว่าจากตำแหน่ง ผบ.คปอ.นี้จะขึ้นเป็น ผบ.ทอ.เลยได้หรือไม่ จะต้องมาจาก 5 เสืออากาศหรือไม่

แต่ทว่า พล.อ.อ.แอร์บูลเคยขึ้นมาจากผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. มาเป็น ผบ.ทอ.ยังได้ ดังนั้น ถ้าเป็นพลอากาศเอกก็ถือว่าเป็นแคนดิเดต ผบ.ทอ.ได้

จึงทำให้ชื่อของบิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. ถูกจับตามองว่าจะเป็นม้ามืดแบบ พล.อ.อ.แอร์บูล อีกคนหรือไม่ เพราะก็เติบโตมาจากสายปลัดบัญชี ทอ.ด้วยกัน

ดังนั้น โอกาสที่ พล.อ.อ.แอร์บูลจะเลือกแคนดิเดตคนอื่นขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.ก่อน พล.อ.อ.ชานนท์จึงมีสูง แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า ผบ.ทอ.คนใหม่จะดัน พล.อ.อ.ชานนท์ขึ้นเป็น ผบ.ทอ.ต่อหรือไม่ เพราะแต่ละคนล้วนมีน้องเลิฟของตนเอง ที่พร้อมจ่อขึ้นมาชิง ผบ.ทอ.อยู่แล้ว

อนาคตของ พล.อ.อ.ชานนท์จึงน่าจับตามองยิ่ง เพราะจะสะท้อนทิศทางปัญหาใน ทอ.เลยทีเดียว

พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย

ขณะที่กองทัพเรือ แม้บิ๊กอุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. จะไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับบิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร.คนก่อน ที่เป็นผู้ยืนยันเสนอชื่อ พล.ร.อ.ชาติชายเป็น ผบ.ทร. ท่ามกลางการแย่งชิงเก้าอี้ที่เข้มข้นในการโยกย้ายตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

แต่ด้วยเพราะการที่ 2 ปีของการเป็น ผบ.ทร.นั้น พล.ร.อ.ลือชัยเป็นคนแข็ง และมีนโยบายการบริหารจัดการต่างๆ แบบยึดความคล่องตัว จึงอาจมีหลายโครงการที่ เกิดปัญหามาจนปัจจุบัน

ที่หนักกว่านั้นคือ การแต่งตั้งโยกย้ายที่ทำให้นายพลเรือหลายคนผิดหวังอกหัก และทำให้สูญเสียแนวร่วม และมีศัตรูตามมา จนทำให้ถูกโจมตี ร้องเรียนตามมาหลังเกษียณ

ส่งผลให้ พล.ร.อ.ชาติชายก็ต้องระมัดระวังในการดำเนินนโยบาย และการตัดสินใจต่างๆ ด้วย

กล่าวกันว่า พล.ร.อ.ลือชัยได้วางตัวแคนดิเดต ผบ.ทร.คนใหม่ไว้ถึง 3 คน ให้ พล.ร.อ.ชาติชายพิจารณาเมื่อถึงเวลา ทั้งเสธ.โต้ง พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ บิ๊กโต๊ะ พล.ร.อ.ทรงวุฒิ บุญอินทร์ ผช.ผบ.ทร. บิ๊กปู พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผบ.กองเรือยุทธการ (ผบ.กร.)

แต่กระแสที่สะพัดใน ทร. คือการคัมแบ๊กขอบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย รองปลัดกลาโหม เพื่อน ตท.20 ของ พล.ร.อ.ชาติชาย

โดยมีแรงเชียร์ของเพื่อน ตท.20 ทั้งใน ทร. และนอกเหล่าทัพ รวมทั้ง พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ที่เคยพยายามจะส่ง พล.ร.อ.สมประสงค์จากสนามไชย กลับกองทัพเรือมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ

เพราะหาก พล.ร.อ.สมประสงค์ยังคงอยู่เป็นรองปลัดกลาโหม และถือว่าอาวุโสที่สุด เพราะครองอัตราจอมพลเดิมมา 2 ปีแล้ว สามารถขึ้นเป็นปลัดกลาโหมได้ แต่ พล.อ.ณัฐวางตัวบิ๊กหน่อย พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ เสธ.ทบ. เพื่อน ตท.20 ให้ข้ามมาเป็นปลัดกลาโหมในโยกย้ายตุลาคม 2564 นี้ไว้แล้ว จึงต้องย้าย พล.ร.อ.สมประสงค์ออก

มาคราวนี้ พล.อ.ณัฐเปิดทางให้ พล.ร.อ.สมประสงค์ ในการสร้างผลงาน ด้วยการให้เป็นตัวแทนไปประชุมและทำงานร่วมกับบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่ที่นายกฯ เกรงใจ เรียกได้ว่า เป็นนายทหารอีกคนที่มาที่ทำเนียบรัฐบาลบ่อยๆ

ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ณัฐเป็นน้องรักที่ใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร และเป็นเพื่อนรัก ตท.20 ของบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองราชเลขาธิการ แกนนำรุ่น ที่ก็สามารถพูดคุยกับ พล.ร.อ.ชาติชายได้

 

แต่ทว่า พล.ร.อ.

พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน

ดูจะยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร เพราะแม้จะรักเพื่อน แต่ก็ต้องยึดหลักการที่จะต้องพิจารณาคนใน ทร.ก่อน และอยู่ในตำแหน่งหลัก

โดยเฉพาะ พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสธ.ทร. ที่ถือว่ารับหน้าที่สำคัญ เสธ.ทร. และเป็นเลขาธิการ ศรชล.ด้วย จึงได้แสดงฝีมือและผลงาน เพราะทำหน้าที่เสมือนแม่บ้านใหญ่ของ ทร. และ ศรชล. ที่ดูแล ทร.วังนันทอุทยาน ถ้าดูในแง่การทำงานแล้ว บิ๊กโต้งก็มีผลงาน และมีภาพของนายทหารเรืออาชีพ

แต่ตามสไตล์ พล.ร.อ.ชาติชายแล้ว ยังไม่ปิดโอกาสใคร แต่ให้ทำงานแสดงฝีมือกันไปอย่างเต็มที่ก่อน รวมทั้ง พล.ร.อ.ทรงวุฒิ บุญอินทร์ ผช.ผบ.ทร. ที่ทำงานแบบเงียบๆ และดูงานสายกำลังพล จึงไม่ได้ออกแอ๊กชั่นได้มากนัก แถมไม่ค่อยได้ออกสื่อ จึงอาจไม่เป็นที่รู้จักเท่าใดนัก

แต่ที่กำลังถูกจับตามองว่ามาแรงอีกคน คือบิ๊กปู พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผบ.กองเรือยุทธการ ด้วยความที่เป็น ผบ.หน่วยกำลังรบทางเรือของ ทร. คุมทั้งสัตหีบ ไปยันภาคใต้ ทัพเรือภาคที่ 1-2-3 และมีภารกิจสำคัญในการสนองโครงการพระราชดำริ และถวายงานพระบรมวงศานุวงศ์อยู่เนืองๆ

แต่ใน 3 แคนดิเดตคนใน ทร.นี้ พล.ร.อ. ธีรกุล (ตท.21) และ พล.ร.อ.สุทธินันท์ (ตท.22) มีอายุราชการเหลืออีก 2 ปี เกษียณ 2566 ส่วน พล.ร.อ.ทรงวุฒิ (ตท.22) เหลือปีเดียว เกษียณกันยายน 2565

ในยามนี้ จึงเป็นการต่อสู้กันของแคนดิเดตคนใน ทร. และนอก ทร. อย่าง พล.ร.อ.สมประสงค์ และเป็นการต่อสู้กันระหว่างรุ่นเตรียมทหาร 20-21 และ 22

3 แคนดิเดท ผบ.ทร. พล.ร.อ.สุทธินันทร์, พล.ร.อ.ธีรกุล, พล.ร.อ.ทรงวุฒิ

เดือนกรกฎาคมนี้ ทั้ง พล.ร.อ.ชาติชาย และ พล.อ.อ.แอร์บูลต้องตัดสินใจแล้วว่าจะเสนอชื่อใครเป็น ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.คนใหม่ และเตรียมจัดโผโยกย้าย

เพราะคาดว่าต้นสิงหาคม จะต้องเตรียมหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อตัดสินใจท้ายสุดแล้ว

ทั้งวังเดิม และตึกแปดแฉก จึงมีอุณหภูมิร้อนขึ้น รอวันปรอทแตก

โดยมีโผโยกย้ายครั้งนี้ชี้วัดทิศทางของความขัดแย้ง ทั้งที่ฝั่งธนบุรี และทุ่งดอนเมืองเลยทีเดียว