รายงานพิเศษ : ‘ลุงป้อม’ ดัน ‘น้ำบาดาล’ แก้แล้ง-มีกินใช้ตลอดปี เพิ่มความมั่นคงในชีวิต

ท่ามกลางกระแสสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นผู้ติดเชื้อ

แต่ละประเทศเองก็พยายามผลักดันเพื่อให้มีวัคซีนป้องกัน และนำมาฉีดให้ประชากรของตนเองอย่างเร่งด่วน

กลายเป็นวาระแห่งชาติและวาระที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศยังต้องรักษาระบบสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ รวมถึงการดูแลรับผิดชอบประชาชนที่ต้องดำเนินชีวิตไปตามครรลอง

ปากท้องของประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ ซึ่งนับเป็นโชคของประเทศไทยที่อย่างน้อยปีนี้ ประชาชนไม่ต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งรุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ยังมีโอกาสได้รับ “น้ำ” จากฝนที่ตกลงมาเร็วกว่าปกติ

สำหรับกรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มอบหมายภารกิจสำคัญให้ พล.อประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เข้ารับผิดชอบกำกับดูแลภารกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

เพื่อบูรณาการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชน ไม่ให้เกิดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ

ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ให้ความสนใจในภารกิจการจัดหา “แหล่งน้ำบาดาล” เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในระดับพื้นที่โดยเดินทางไปพบปะพูดคุยกับประชาชน พร้อมติดตามโครงการสำคัญที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่เร่งดำเนินการจนมีผลเป็นรูปธรรมถึง 6 โครงการประกอบด้วย

1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลชนาดใหญ่ริมแม่น้ำ Riverbank Fitration – RBF ซึ่งดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชัยนาท ราชบุรี และสุพรรณบุรี เป็นโครงการที่นำน้ำบาดาลบริเวณใกล้แม่น้ำซึ่งมีปริมาณมากมาพัฒนาเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าบ่อน้ำบาดาลปกติประมาณ 20 เท่า และน้ำมีคุณภาพดีเนื่องจากผ่านการกรองโดยธรรมชาติ สามารถนำน้ำบาดาลมาใช้และไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำผิวดิน

ประชาชนจะได้รับประโยชน์กว่า 7,800 ครัวเรือนพื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์กว่า 2,400 ไร่ และมีปริมาณน้ำ รวมทั้งสิ้น 4.52 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

2. โครงการส่งน้ำบาดาลระยะไกล เนื่องจากน้ำบาดาลในบางพื้นที่มีปริมาณน้ำมาก สามารถนำไปใช้ในพื้นที่บริเวณกว้าง ดังนั้นรูปแบบการส่งน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ

โดยโครงการนี้เป็นการบริหารจัดการระบบน้ำบาดาลระยะไกล โดยเจาะและพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาลสูง ส่งให้กับประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ หรือมีศักยภาพน้ำบาดาลต่ำหรือกร่อยเค็ม ดำเนินการไปแล้วกว่า 25 แห่ง

3. โครงการจุดจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชนเป็นการสร้างจุดจ่ายน้ำบาดาลบริการน้ำดื่มน้ำใช้ฟรีแก่ประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงแหล่งน้ำของประชาชน ดำเนินการในพื้นที่ 68 แห่งและเปิดให้บริการแก่ประชาชนครบถ้วนแล้วทุกแห่ง

4. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน เป็นการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภคบริโภคให้ประชาชน จำนวน 279 แห่งเพื่อเป็นแหล่งน้ำเสริม และเพิ่มจุดให้บริการน้ำแก่ประชาชนช่วยลดค่าครองชีพ ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ 189,210 ครัวเรือน ปริมาณน้ำรวม 12.22 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

5. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อนำมาใช้ในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล โดยดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 126 แห่งครอบคลุม 73 อำเภอ 40 จังหวัด ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 1,800 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์57,800 ไร่ ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 22.58 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีทั้งนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายให้ทุกอำเภอมีน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ อย่างน้อยอำเภอละ1 แห่ง

โดยในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลอนุมัติโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรรวม 3 โครงการ 591 แห่ง ประกอบด้วยการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 201 แห่ง การพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำ 360 แห่งและการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 30 แห่ง

6. โครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น นำ “น้ำเหลือใช้” ในช่วงน้ำท่วมหลาก หรือจากน้ำฝนที่ตกลงมา เติมลงสู่ชั้น้ำไต้ดินด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ เป็นการช่วยธรรมชาติฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาลแก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาลให้กลับคืนสู่สภาพเดิมช่วยระบายน้ำและลดปริมาณน้ำท่วม เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 จำนวนทั้งสิ้น 1,530 แห่ง

ซึ่งนอกจากจะกักเก็บไว้ใต้ดินในช่วงฤดูฝนกลับขึ้นมาใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ในระยะยาวในทางกลับกันยังเป็นการตัดทอนปริมาณน้ำที่ไหลล้นและท่วมในพื้นที่ลงไปได้ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลยังรับสนองพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤตภัยแล้ง

ดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ออกแบบ และวางแผนจัดทำโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งก่อสร้างระบบประปาบาดาลในบริเวณพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาลเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและเป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับเกษตรกรรม

เบื้องต้น ดำเนินการโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งเป็นพื้นที่ต้นแบบ 2 แห่ง ครอบคลุม 2 จังหวัด ได้แก่ ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี และ ต.ดงเค็ง อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้กว่า 2 หมื่นครัวเรือน

และยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ จะเร่งจัดหางบประมาณส่วนที่เหลือ 13 แห่ง ให้แล้วเสร็จ ในปีงบประมาณ 2564 จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการนี้ 100,000 คน หรือ 30,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้ประโยชน์ 261,500 ไร่ จะมีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่ม 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด ชึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร ที่ให้แนวทางในการดำเนินการจัดหาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำบาดาลเพื่อเกษตร และน้ำบาดาลเพื่อชุมชน

เน้นย้ำว่า ประชาชนจะต้องมีน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการเกษตรทุกครัวเรือนทั่วประเทศ

เพื่อให้ประเทศไทยรอดพ้นจากสถานการณ์ภัยแล้งช้ำซากอย่างเป็นรูปธรรม