การศึกษา/ผ่าสารพัดมาตรการ ศธ. รับมือ…เลื่อนเปิดเทอมใหญ่ 1/64

การศึกษา

ผ่าสารพัดมาตรการ ศธ.

รับมือ…เลื่อนเปิดเทอมใหญ่ 1/64

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การนำของ “ครูเหน่ง” ตรีนุช เทียนทอง ได้ออกมาแถลงข่าวเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ออกไปเป็นวันที่ 14 มิถุนายน ภายหลังจากประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนก่อนหน้านี้ได้ไม่ถึง 1 เดือน!!

จากเดิมที่ ศธ.กำหนดให้เปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ในวันที่ 17 พฤษภาคม ได้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน ล่าสุดเลื่อนเปิดเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน

โดย น.ส.ตรีนุชให้เหตุผลว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ทั่วประเทศมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไป เพื่อความปลอดภัย และระวังป้องกันนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาไม่ต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้มีระยะเวลารับการฉีดวัคซีนของครูและบุคลากรทางการศึกษา และรองรับการย้ายสถานศึกษาของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้นอีกด้วย

“ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) จึงอนุมัติให้สถานศึกษาในสังกัด ศธ.เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 เป็นวันที่ 14 มิถุนายน ถึงแม้โรงเรียนจะเปิดไม่พร้อมกัน แต่ต้องปิดเทอมพร้อมกันในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เพื่อไม่กระทบกับปฏิทินการสอบต่างๆ” น.ส.ตรีนุชระบุ

 

สําหรับการเลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิถุนายนนี้ มีเงื่อนไขหลักๆ 2 ประการ ได้แก่

1.ในพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ยังไม่อนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนแบบ On-Site คือไม่อนุญาตให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียน รวมถึงการใช้อาคารสถานที่ และห้ามบุคลากร หรือมีการมารวมกลุ่มของคนจำนวนเกินกว่า 20 คน ต้องจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทางไกลเท่านั้น

  1. พื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด 17 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ยะลา ระนอง ระยอง ราชบุรี สมุทรสาคร สงขลา และสุราษฎร์ธานี และพื้นที่สีส้ม หรือพื้นที่ควบคุมอีก 56 จังหวัดที่เหลือ เปิดเรียนได้ตามมาตรการ ศบค.

อย่างไรก็ตาม ขอให้สถานศึกษาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พิจารณารูปแบบการเรียนการสอน โดยยึดหลักความปลอดภัยสูงสุดของเด็ก ครู ผู้ปกครองเป็นที่ตั้ง

 

หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดมีความพร้อม และต้องการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ก่อนวันที่กำหนด ให้ดำเนินการดังนี้

  1. สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ต้องจัดการเรียนในรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกลเท่านั้น คือ On Air On line, On Demand, On Hand ผ่านทางไปรษณีย์เท่านั้น หากสถานศึกษาต้องการใช้พื้นที่เพื่อให้ครูเข้ามาสอนผู้เรียนผ่านทางออนไลน์ ต้องขออนุญาต ศบค.ก่อน

และ 2. สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดงและสีส้ม สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้ง 5 รูปแบบ คือ On Site, On Air, Online, On Hand, On Demand โดยรูปแบบ On Site นั้น โรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมของระบบ Thai Stop Covid+ (TSC +) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน

ทั้งนี้ การเรียนการสอน 5 รูปแบบที่ ศธ.วางไว้ มีรายละเอียดดังนี้

On Site คือ การเรียนที่โรงเรียน ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ปลอดภัย โดยมีมาตรการเว้นระยะห่าง และต้องได้รับอนุญาตจาก ศบค.จังหวัด

Online คือ การเรียนผ่านออนไลน์ โดยใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบสองทางที่ครูและนักเรียนสามารถตอบโต้กันได้

On Air คือ การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)

On Demand เป็นการจัดการเรียนการสอนแบบทางเดียวมีครูสอนจากต้นทาง สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ทั้งอินเตอร์เน็ตบ้านและมือถือ โดยจะเป็นการเรียนผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ

และ On Hand เป็นการจัดใบงาน หรือแบบฝึกหัดเป็นชุด ให้นักเรียนนำไปเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยมีครูคอยติดตามผลเป็นระยะ

 

ส่วนระยะเวลาระหว่างรอเปิดเทอม ศธ.ไม่ปล่อยให้เวลาสูญเปล่า ได้ระดมกำลังทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมเสริมความรู้ที่น่าสนใจให้กับนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาและประชาชน ผ่านเว็บไซต์ “ครูพร้อม.com”

โดย “ครูพร้อม.com” เป็นเว็บกลางที่รวบรวมข้อมูลกิจกรรมจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาไว้ด้วยกัน

ภายในเว็บไซต์จะมีเมนูหลัก 6 เมนู เพื่อให้นักรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชน เข้ามาชมตามความสนใจ ซึ่งประกอบด้วย “อยากเรียน” นักเรียนทุกระดับชั้นเข้ามาเรียนก่อนเปิดภาคเรียน “อยากรู้” รวบรวมความรู้นอกตำราให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาศึกษา “อยากดู” มีรายการไลฟ์สดที่น่าสนใจ เพื่อเปิดโลกการเรียนรู้ “อยากสอน” มีกิจกรรมพัฒนาทักษะทางภาษา การใช้เทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในอนาคต “อยากทำ” มีกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพหรือความรู้เพิ่มเติมที่สามารถเรียนรู้จากการลงมือทำได้ทันที และ “อยากแชร์” คือ กิจกรรมที่ผู้สนใจนำคลิปที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียน การสอน นวัตกรรมใหม่ มาเผยแพร่ในแคมเปญ “ครูพร้อมอยากแชร์ Challenge”

ทั้งนี้ เว็บไซต์ครูพร้อม.com ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะครูและนักเรียนยังไม่รู้จักมากเท่าใดนัก จึงเกิดคำถามตามมาว่า การทำเว็บไซต์ของ ศธ.ครั้งนี้ ครู นักเรียนและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและได้ความรู้จริงหรือ??

ที่สำคัญ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นักเรียน และครูจำนวนมาก ที่ยังขาดอุปกรณ์การเรียน “ครูพร้อม.com” เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และเป็นการใช้งบประมาณที่ถูกทางแล้วหรือ??

 

อีกทั้งเมื่อ ศธ.ออกประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน สังคมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ศธ.อย่างมาก โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่า การเลื่อนเปิดเทอมครั้งนี้ จะทำการศึกษาถอยหลังไปอีก ศธ.ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับเชื้อโควิด-19 ให้ได้ และสร้างความเข้าใจไม่ให้นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารตื่นตระหนกในเรื่องนี้ การเลื่อนเปิดเทอมบ่อยๆ ไม่เป็นผลดีกับการศึกษา

“มองว่า ศธ.ห่วงเกินเหตุ ไม่มองกระบวนการเรียนรู้ที่มีอยู่ เพราะปัจจุบันกระบวนการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ที่ห้องเรียนอย่างเดียว ดังนั้น ควรให้แต่ละจังหวัดออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับพื้นที่” ศ.ดร.สมพงษ์ระบุ

นอกจากนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ทิ้งท้ายว่า เว็บไซต์ครูพร้อม.com ที่ ศธ.ทำ เป็นนโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วม ไม่รับฟังเสียงของนักเรียนและครูว่าต้องการอะไร ซึ่งจะทำให้คนในวงการศึกษาขาดความเชื่อมั่นกับ ศธ.มากขึ้น ดังนั้น การออกนโยบายต่างๆ ควรจะต้องมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และต้องผ่านการกลั่นกรองที่ดีด้วย

จับตาดูกันต่อไป ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังหนักอยู่

ศธ.จะ “เลื่อน” เปิดภาคเรียนออกไปอีกครั้งหรือไม่…

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจต่างๆ ขอให้ ศธ.และผู้ที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับนักเรียนและนักศึกษาเป็นหลักด้วย!!