เสรีภาพการแสดงออกในยุคโซเชียลมีเดีย (1)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

เสรีภาพการแสดงออกในยุคโซเชียลมีเดีย (1)

 

ธรรมเนียมคิดเสรีนิยมตะวันตกซึ่งแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกจนกลายเป็นหลักเกณฑ์การคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกถูกประดิษฐ์คิดขึ้นในยุคทุนนิยมการพิมพ์ (print capitalism) แห่งคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้าโดยนักปรัชญาอย่างจอห์น สจ๊วต มิลล์ ชาวอังกฤษ (ค.ศ.1806-1873) และอเล็กซิส เดอ ต๊อกเกอวิลล์ ชาวฝรั่งเศส (ค.ศ.1805-1859)

คำถามก็คือในยุคทุนนิยมดิจิตอล (digital capitalism) ทุกวันนี้ซึ่งข่าวสารข้อมูลถูกผลิตและเผยแพร่ได้รวดเร็วกว่าแทบว่าจะโดยใครก็ได้ผ่านช่องทางพื้นที่ไซเบอร์เชื่อมต่อกันทั่วโลกแบบเรียลไทม์ อีกทั้งผู้ผลิต ผู้เผยแพร่ ผู้เสพและผู้ผลิตซ้ำ-เผยแพร่ซ้ำ-เสพซ้ำซึ่งเนื้อหาข่าวสารข้อมูลไม่ได้แยกจากกันทางโครงสร้างอย่างแต่ก่อน หากสามารถสลับสับเปลี่ยนและทับซ้อนบทบาทกันได้เช่นนี้ เสรีภาพในการแสดงออกประสบปัญหาและก่อปัญหาอะไรขึ้นได้บ้าง?

มันควรเป็นเช่นใด?

เมื่อเผชิญกับความรุนแรงในโซเชียลมีเดีย เราควรต้องหันมารื้อคิดใหม่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่?

หลักเกณฑ์การคิดการกำกับเสรีภาพการแสดงออกแบบเสรีนิยมเดิมยังใช้ได้อยู่หรือ?

รึว่าพึงปรับเปลี่ยนไปบ้างอย่างไร? ฯลฯ

โมนิก กันโต-สแปร์แบร์ นักปรัชญาเสรีนิยมฝ่ายซ้ายชาวฝรั่งเศส

โมนิก กันโต-สแปร์แบร์ (Monique Canto-Sperber) เห็นว่าเสรีภาพอาจเป็นปัจจัยยั่วยุให้เกิดการแสดงออกที่เกินเลยได้ในทางถ้อยวาจา แต่ขณะเดียวกันเสรีภาพก็เป็นหนทางเดียวในการต่อสู้กับการแสดงออกเกินเลยนั้นด้วย

เธอเห็นว่าเราควรสามารถพูดอะไรออกมาก็ได้ทั้งนั้น ยกเว้นสิ่งที่ไปเหนี่ยวรั้งจำกัดคนอื่นให้ต้องหุบปากสงบคำ

เธอเป็นนักปรัชญาผู้เพ่งเล็งรวมศูนย์เรื่องจริยศาสตร์กับประเด็นปัญหาการเมืองร่วมสมัย ผลงานของเธอถูกแปลเป็นหลายภาษา

เธอเคยเป็นผู้อำนวยการ l’?cole normale sup?rieure อันเป็นบัณฑิตวิทยาลัยชั้นนำในสังกัดเครือมหาวิทยาลัย Paris Sciences et Lettres University ของฝรั่งเศสจากปี ค.ศ.2005-2012 หลังจากนั้นก็ไปเป็นประธาน Paris Sciences et Lettres – Quartier latin อันเป็นสถาบันอุดมศึกษาและการวิจัยเรื่อยมาถึงปัจจุบัน งานของเธอหลายชิ้นถกเถียงนำเสนอเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกจากจุดยืนเสรีนิยมปีกซ้าย

ในผลงานเล่มล่าสุดเรื่อง Sauver la libert? d’expression (กอบกู้เสรีภาพในการแสดงออก, 2021) เธอเชิญชวนให้จัดวางกรอบขอบเขตจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกเสียใหม่ โดยยืนกรานว่าเสรีภาพในการแสดงออกมิได้หมายถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเราสามารถพูดได้เพียงแค่นั้น หากมันยังหมายถึงความเป็นไปได้ที่คนอื่นจะสามารถตอบกลับมาด้วย

กันโต-สแปร์แบร์ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว Claire Legros ไว้ในหนังสือพิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศสฉบับวันที่ 6 พฤษภาคมศกนี้ หน้า 28 โดยผมขอเรียบเรียงมาถ่ายทอดดังนี้ :

 

ถาม : คุณวิเคราะห์ภัยคุกคามที่กดทับเสรีภาพในการแสดงออกทุกวันนี้อย่างไรบ้างคะ?

กันโต-สแปร์แบร์ : ในอดีตเสรีภาพในการแสดงออกถูกคุกคามจากอำนาจรัฐและบรรดาอำนาจหน้าที่เชิงสถาบันทั้งหลายโดยเฉพาะทางศาสนา ทว่าทุกวันนี้เสรีภาพในการแสดงออกถูกจับเป็นตัวประกันโดยสองขบวนการที่คัดง้างกันเองค่ะ

ด้านหนึ่ง เราประสบพบเห็นการแสดงออกของวาทะเกลียดสุดโต่งในนามของเสรีภาพ ซึ่งถูกกระตุ้นเร้าโดยการแพร่กระจายถ้อยวาจาออกไปกว้างขวางเป็นพิเศษซึ่งเหล่าอุปกรณ์ดิจิตอลทั้งหลายเอื้ออำนวยให้ทำได้

อีกด้านหนึ่ง เราก็สังเกตเห็นปรากฏการณ์ของการเซ็นเซอร์ที่ได้แรงดลใจจากกระแสสังคมอันเชี่ยวกรากทั้งหลายที่ต้องการยัดเยียดแนวคิดของตัวให้ว่าอะไรที่เราพูดได้และอะไรที่เราต้องเงียบเสีย

แรงกดดันที่ว่านี้ไม่ได้มาจากสถาบันอันทรงอำนาจหน้าที่ซึ่งถูกแต่งตั้งมอบหมายมาอย่างระบุได้ชัดอีกต่อไปแล้วนะคะ หากมาจากบรรดากลุ่มคนหรือสมาคมที่ดำเนินงานด้วยการข่มขู่ให้ขยาดกลัว โดยบ่อยครั้งทำในลักษณะกันท่าไว้ล่วงหน้า ซึ่งทำให้ยากแก่การจะต่อกรด้วยค่ะ

ถาม : ในสภาพที่วาทะที่ว่านี้ได้ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบในการถกเถียงสาธารณะจวบจนปัจจุบัน วิถีทางเดียวสำหรับการประชันขันแข่งดังกล่าวก็คือการเปล่งเสียงออกมาให้เป็นที่ได้ยินไม่ใช่หรือคะ?

กันโต-สแปร์แบร์ : ในมหาวิทยาลัยต่างๆ และในสังคมวงกว้างออกไป ปรากฏคำกล่าวอ้างของภาษาซึ่งช่วยแปลคุณค่าของกลุ่มกดดันหรือของวัฒนธรรมหนึ่งๆ ออกมาให้เป็นที่เข้าใจกัน โดยแลกกับการได้เข้าควบคุมการใช้ศัพท์แสงที่แน่นอนบางคำ ผลก็คือวิธีการพูดทั้งหลายอาจถูกตั้งข้อระแวงสงสัยว่าเป็นการแสดงความดูหมิ่นถิ่นแคลนหรือขาดการใส่ใจคำนึงถึงชนส่วนน้อยกลุ่มต่างๆ ก็ได้ค่ะ

เมื่อเผชิญหน้ากับสภาพเช่นนั้น มันก็จำเป็นที่จะต้องระลึกไว้นะคะว่าภาษาคือเชื้อมูลที่เป็นกลาง มันไม่ได้มีไว้เพื่อสะท้อนคุณค่าทางศีลธรรมของกลุ่มเคลื่อนไหวรณรงค์กลุ่มนี้หรือกลุ่มนั้นเท่านั้น และหากปราศจากภาษาที่เป็นกลางเสียแล้ว ก็มิอาจมีการโต้แย้งถกเถียงกันต่อไปได้อีกค่ะ แต่การณ์จะกลับกลายเป็นว่า ภาษาจะถูกใช้ไปปิดล้อมตัวเองไว้ในวงจรของความแน่ใจทั้งหลายแหล่แต่ถ่ายเดียวเท่านั้นเอง

คุณประโยชน์ใหญ่หลวงที่สุดของเสรีภาพในการแสดงออกก็คือการเปิดปล่อยให้มีความเห็นอันหลากหลายโดยกีดกันความเห็นที่เป็นอาชญากรรมออกไปค่ะ เราจะปักใจเชื่อและปกป้องความปักใจเชื่อเหล่านั้นอย่างแข็งกล้าได้ไหม? ได้แน่นอนค่ะ แต่เรามิอาจกีดกันคนอื่นไม่ให้คิดเห็นต่างออกไปได้นะคะ

เราแสดงพลังแห่งความปักใจเชื่อของเรามิใช่ด้วยการปิดปากพวกที่ดูแคลนความเชื่อนั้น หากเราพึงยินดีเผชิญหน้ากับปรปักษ์เพื่อปกป้องคุณค่าโดยชอบทั้งหลายของความเชื่อของเราต่างหากค่ะ

ถาม : ในฐานะผู้อำนวยการ l’Ecole normale sup?rieure (ENS) คุณเองก็เคยต่อกรกับการชุมนุมประท้วง ซึ่งมุ่งจะขัดขวางการโต้แย้งถกเถียงบางเรื่อง แต่กระนั้นคุณก็ได้สั่งห้ามการประชุมถึงสองครั้งสองครา มันไม่ขัดแย้งกันเองหรือคะที่ทำแบบนั้น?

กันโต-สแปร์แบร์ : นับแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ดิฉันได้เผชิญกับแรงกดดันและข่มขู่ที่พุ่งเป้าใส่บุคคลบางคนซึ่ง ได้รับเชิญให้มาร่วมประชุมอภิปรายทางวิชาการค่ะ และในปี 2011 ดิฉันได้ตัดสินใจสั่งห้ามการประชุมเรียกร้องให้บอยคอตรัฐอิสราเอล หลังจากนั้นก็มีการจัดชุมนุมหนึ่งสัปดาห์เต็มที่เรียกว่า “การแบ่งแยกเชื้อชาติของอิสราเอล” ในทั้งสองกรณีนั้น ดิฉันพิจารณาแล้วเห็นว่ากิจกรรมชุมนุมดังกล่าวเข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าการเรียกร้องให้มาถกเถียงโต้แย้งกัน

บางทีถ้าหากสามารถนำข้อเสนอให้บอยคอตอิสราเอลไปอภิปรายในกรอบของการโต้แย้งถกเถียงกันได้ ก็คงไม่จำต้องจัดมันออกมาในรูปแบบการเรียกชุมนุมแสดงพลังหรอกค่ะ และไม่พึงทำแบบนั้นภายในสถาบันวิจัยและฝึกอบรมสาธารณะด้วยแน่ๆ ไม่ว่าในกรณีใดๆ เพราะนั่นจะกลายเป็นการจับสถาบันดังกล่าวเป็นตัวประกัน ใช้มันเป็นเครื่องมือเพื่อภารกิจซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายหนักข้อเข้าไปอีก คณะกรรมการกฤษฎีกา (Le Conseil d’Etat) เองก็เห็นด้วยกับเรา

ทว่าประเด็นที่เป็นสารัตถะก็คือทั้งสองฝ่ายพึงสามารถนำเสนอข้อถกเถียงของตนต่อหน้าผู้ฟังและตลอดการอภิปรายกันอย่างหลายหลากมากมายด้วย อันเป็นสิ่งที่บรรดาเหยื่อของ “วัฒนธรรมเท” (cancel culture) ทุกวันนี้ไม่ได้รับนะคะ มันเป็นการตัดสินใจที่ต้องทำ แต่ยากลำบากสำหรับนักเสรีนิยมอย่างดิฉันค่ะ

(Cancel culture หมายถึงธรรมเนียมมหาชนในการเพิกถอนการสนับสนุนหรือ “เท” บุคคลสาธารณะและบริษัทต่างๆ หลังจากบุคคลหรือบริษัทเหล่านั้นกระทำหรือพูดบางสิ่งบางอย่างที่ถือว่าควรถูกคัดค้านต่อต้านหรือน่าขัดเคือง วัฒนธรรมเทมักใช้กันในสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบการรุมด่าประจาน หรือที่เรียกว่า “ทัวร์ลง”)

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)