สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘จาม’ เมืองเรอแดว อยู่โขง, ชี, มูล แหล่งทรัพยากรรัฐอยุธยา

"จาม" เมืองเรอแดว อยู่แขวงจำปาสักในลาว มีศูนย์กลางอยู่ปราสาทวัดภู ตั้งบนไหล่เขามีต้นไม้ปกคลุม (มองไม่เห็นตัวปราสาทประธานที่สร้างด้วยอิฐตั้งแต่ราว พ.ศ.1100) โดยมีสิ่งก่อสร้างประกอบเป็นอาคารสมัยหลัง พ.ศ.1600 (ในภาพ) อยู่ที่ราบเชิงเขา (ปัจจุบันชาวลาวเรียกโรงนาง-โรงท้าว) ขนาบทางเดินสู่ปราสาทประธาน มีเสานางเรียงปักรายนำสายตาขึ้นไหล่เขา ส่วนยอดเขาที่อยู่ด้านหลังมีลักษณะโดดเด่นและศักดิ์สิทธิ์ที่สุด คล้ายศิวลึงค์ที่เกิดเองโดยธรรมชาติ ซึ่งพราหมณ์เรียก "สวยัมภูวลึงค์" คนพื้นเมืองเรียกยอดเขานี้ว่าภูเก้า [จำนวนเก้าน่าจะเกี่ยวข้องกับยอดเขาทั้งทิว และตัวลวง (นาค) 9 ตัว พิทักษ์แม่น้ำโขง] เป็นแลนด์มาร์กดั้งเดิมบนเส้นทางคมนาคมจากอ่าวตังเกี๋ยในเวียดนามกลางเข้าสู่แม่น้ำโขง และจากปากแม่น้ำโขงเมื่อถึงบริเวณนี้ต้องปรับเปลี่ยนการคมนาคมเข้าสู่อีสานแหล่งทรัพยากรมหึมา [ภาพโดย มติชนอคาเดมี พ.ศ.2558]

 

‘จาม’ เมืองเรอแดว อยู่โขง, ชี, มูล

แหล่งทรัพยากรรัฐอยุธยา

 

จามในไทยนอกจากมีชุมชนบ้านเมืองอยู่อยุธยาและกรุงเทพฯ ยังพบหลักฐานว่ามีจามอีกมากมีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์อีสานและลาวซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐเจนละในประวัติศาสตร์กัมพูชาและอยุธยา

คนไทยมีบรรพชนเป็นชาติพันธุ์หลากหลายตั้งแต่บริเวณโซเมีย (ในจีนภาคใต้) จนถึงตอนล่างที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้ ชาติพันธุ์สำคัญกลุ่มหนึ่งคือ “จาม” ซึ่งมีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องถึงปัจจุบันหลายพันปีมาแล้ว

 

ชาวสยามในรัฐจามปา

รัฐจามปา (เวียดนาม) เคยเกณฑ์ชาวสยามเป็น “ทาส” ปรนนิบัติรับใช้เทวะและพราหมณ์ในเทวาลัยโปนาการ์เมืองญาตรัง เกือบพันปีมาแล้ว เมื่อ พ.ศ.1593

ชาวสยาม (ไม่ใช่คนไทย) หมายถึงคนหลายชาติพันธุ์ที่สื่อสารกับคนต่างภาษาโดยใช้ภาษาไทย (ตระกูลไท-ไต) เป็นภาษากลาง (คนเหล่านี้ไม่เรียกตนเองว่าไทย)

รัฐจามปามีพื้นที่อยู่เวียดนามภาคกลาง โดยมีขอบเขตด้านตะวันออกเป็นชายฝั่งทะเลสมุทรและอ่าวตังเกี๋ย ส่วนด้านตะวันตกเป็นเขตดงป่าภูเขาและที่ราบสูงต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำโขงซึ่งเป็นหลักแหล่งของคนหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะตระกูลภาษามอญ-เขมร และตระกูลภาษาไท-ไต

 

จาม, จามปา

รัฐจามปา (เวียดนาม) มีส่วนสำคัญผลักดันให้เกิดรัฐกัมพูชา โดยขยายพื้นที่จากอ่าวตังเกี๋ย (เวียดนาม) เข้าถึงลุ่มน้ำโขง (ลาว, ไทย) บริเวณที่ต่อไปข้างหน้าถูกเรียกว่า “เจนละบก” (เมื่อรวมกับ “เจนละน้ำ” เป็นรัฐกัมพูชา) [เรื่องนี้มีงานค้นคว้าวิจัยมากมายหลายเล่มทั้งสากลและไทย แต่ที่ใช้เขียนเรื่องนี้มี 2 เล่ม ได้แก่ (1.) ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ของจิตร ภูมิศักดิ์ มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519 (2.) อาณาจักรเจนละ ประวัติศาสตร์อีสานโบราณ ของธิดา สาระยา สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2535] จากนั้นสถาปนาอำนาจของจาม ดังนี้

1. สถาปนาตระกูลผู้นำว่า “เสนะ” (เจ้าชายจิตรเสน) ในบ้านเมืองบริเวณปากน้ำชี-มูล (จ.ยโสธร-จ.อุบลราชธานี) ราวหลัง พ.ศ.1000 ต่อไปข้างหน้าตระกูลเสนะจะขยายอำนาจจากที่ราบสูง (อีสาน) ลงที่ราบลุ่มโตนเลสาบ (กัมพูชา) ไปสถาปนาเมืองอีศานปุระในกัมพูชา

2. สถาปนา “ปราสาทวัดภู” (ลาว) เทวสถานบนภูเขา ริมแม่น้ำโขง ราวเรือน พ.ศ.1600 ต่อมาสมัยหลังจนปัจจุบันพื้นที่นี้ถูกเรียกว่า “แขวงจำปาสัก” (จำปาสัก กลายคำจาก “จามปาสัก”)

 

เมืองเรอแดว สมัยอยุธยา คือ เมืองของมลายูจาม

จามมีถิ่นฐานดั้งเดิมกระจายกว้างขวาง แต่แบ่งกว้างๆ อย่างน้อย 2 ส่วน ได้แก่ ดินแดนชายฝั่งทะเล และดินแดนภายในภาคพื้นทวีป

อีกด้านหนึ่งจามนับถือศาสนาแยกเป็น 2 สมัย ได้แก่ สมัยแรกนับถือศาสนาผี, พุทธ, พราหมณ์ สมัยหลังนับถือศาสนาอิสลาม โดยทั่วไปรู้จักจามนับถืออิสลามที่มีหลักแหล่งใกล้ทะเลในเวียดนาม, กัมพูชา, ไทย เฉพาะไทยมีชุมชนจาม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

จามที่อยู่ดินแดนภายในภาคพื้นทวีปตั้งแต่สมัยแรกสืบเนื่องถึง 500 ปีที่แล้วคือ “เมืองเรอแดว” พบหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลว่ายอมอ่อนน้อมส่งดอกไม้ทองดอกไม้เงินต่อกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ เรือน พ.ศ.2011

เมืองเรอแดว มีประชากรหลายชาติพันธุ์ แต่กลุ่มหลักเรียก “เรอแดว” กับ “จราย” เป็นพลเมืองพูดภาษาจามในตระกูลภาษามลายู แต่ปัจจุบันรู้จักทั่วไปในเวียดนามเรียก “เอเด” ส่วนในไทยและลาวเรียก “ข่าระแด” อยู่แขวงจำปาสัก (หรือลาวใต้) ไทยเรียกบริเวณนี้ว่า “แขวงระแด” สืบมาจนถึงแผ่นดิน ร.5 พ.ศ.2424

 

เมืองเรอแดว

เมืองเรอแดวของมลายูจามที่เป็นกลุ่มระแดกับจราย มีความเป็นมาโดยย่อ ดังนี้

1. เมืองปราสาทวัดภู สร้างปราสาทวัดภูเป็นศูนย์กลางอำนาจ บริเวณโขง, ชี, มูล เรือน พ.ศ.1300-1400

ประชากรหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ มลายูจามจากรัฐจามปา (ในเวียดนาม) และคนในตระกูลมอญ-เขมร

2. เมืองเรอแดว สืบเนื่องจากเมืองปราสาทวัดภูของมลายูจามจากรัฐจามปา มีประชากรหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะระแดกับจราย เรือน พ.ศ.2000 ต้อง “ส่งส่วยสองฝ่ายฟ้า” แก่เมืองที่มีอำนาจเหนือกว่า คืออยุธยากับเวียงจันท์

3. จำบากนาคบุรี เป็นชื่อในตำนาน (จำบาก แปลว่า ดอกจำปา) ผู้นำเป็นหญิงชื่อนางเภากับนางแพง (พ่อเป็นลาว ชื่อเจ้าปางคำ แต่งวรรณกรรมสินไซ) มีอำนาจแผ่ถึงลุ่มน้ำมูล (แถบศรีสะเกษ, สุรินทร์)

4. จำปาสัก เป็นชื่อสืบเนื่องจากรัฐจามปาและเมืองจำบาก มีขึ้นจากพระครูวัดโพนสะเม็ก (ยอดแก้ว) กับเจ้าสร้อยศรีสมุทร (เชื้อสายวงศ์เวียงจันท์) หนีความขัดแย้งทางการเมืองจากเวียงจันท์ถึงเมืองจำบาก จึงสถาปนาใหม่ขึ้นเป็นเมืองจำปาสัก (ลาวฝ่ายใต้) (แยกจากหลวงพระบางและเวียงจันท์) พ.ศ.2256 (ตรงกับพระเจ้าท้ายสระ รัฐอยุธยา)

ต่อมาพระเจ้าตาก (กรุงธนบุรี) แผ่อำนาจถึงเมืองจำปาสัก ครั้นถึงกรุงรัตนโกสินทร์ มีประเพณี “ตีข่า” กวาดต้อนกลุ่มชาติพันธุ์ในเมืองจำปาสักและพื้นที่โดยรอบ ทำให้เดือดร้อนถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต้องหนีไปพึ่งเจ้าอนุวงศ์เวียงจันท์จนเกิดปัญหาความขัดแย้งกรณีศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันท์