ขอแสดงความนับถือ/ประจำวันที่ 21-27 พฤษภาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

7ปี ผ่านไป

สำหรับการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

หลายคนคงมีความรู้สึกเหมือนกับที่ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” มี

ดั่งเขียนไว้ในคอลัมน์ “ผี พราหมณ์ พุทธ” มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

“…ช่วงนี้เพื่อนๆ หลายคนจิตตก ท้อแท้และโกรธเกรี้ยวเป็นพิเศษ

เพราะปัญหาทางการเมืองก็ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้นในเร็ววัน

โรคระบาดก็ยิ่งกลับดูเหมือนลุกลามรุนแรงยิ่งกว่าเดิม

พร้อมๆ การจัดการของรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพและล่าช้า…”

 

กระนั้น “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” ประโลมว่า

“…เราควรดูแลร่างกายและจิตใจไว้บ้าง เพราะยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากและยาวนาน

อย่าเพิ่งจมอยู่ในความโกรธ ความหดหู่มากเกินไป

ความโกรธเกรี้ยวหรือความรู้สึกบีบคั้นที่อยู่ในใจนั้น

แม้อาจแปรไปเป็นพลังสู่การเคลื่อนไหวต่อสู้ได้ก็จริงอยู่

แต่หากไม่มีการระบายหรือปลดปล่อยออกไปบ้าง ก็อาจจะพาลให้เจ็บป่วยได้ทั้งกายทั้งใจได้”

พร้อมเสนอเยียวยาจิตใจ

ด้วยพระสูตรฝ่ายมหายานพระสูตรหนึ่ง

คือ “วิมลเกียรตินิรเทศสูตร” ที่แปลเป็นไทยโดยอาจารย์สุชิน ทองหยวก

จากต้นฉบับภาษาสันสกฤตที่ค้นพบโดยคณะสำรวจจากมหาวิทยาลัยไทโชของญี่ปุ่น ขณะไปสำรวจพระราชวังโปตาลาในทิเบต

 

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ยอมรับว่าตื่นเต้นกับพระสูตรนี้มาก

ทำไมถึงตื่นเต้น คงต้องตามไปอ่านที่คอลัมน์ “ผี พราหมณ์ พุทธ” ที่หน้า 70

ซึ่งแน่นอน สำหรับชาวพุทธในไทยโดยทั่วไป ซึ่งใช้แนวคิดแบบหีนยานเป็นหลัก คงต้องเปิดใจกว้าง

เปิดใจกว้างสำหรับการมอง การตีความ และพร้อมทลายกรอบเก่าออกไปสู่กรอบใหม่

ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่

ที่มักท้าทายความเชื่อ ความศรัทธาของคนรุ่นเก่า

 

ดังที่ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” เล่าไว้ในข้อเขียน “วิสาขะ บูชาธรรม” หน้า 51

ถึงการตีความวันเพ็ญ เดือนหก ใหม่ โดยท่านพุทธทาส ในขณะที่ “เนาวรัตน์” อยู่ในวัย “เยาวภาพ”

กล่าวคือ แต่ไหนแต่ใดมา แม้กระทั่งปัจจุบัน

เรามักรับรู้กันโดยทั่วไปถึงความมหัศจรรย์แห่งวันเพ็ญเดือนหก ว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

ประสูติจากพระนางศิริมหามายา พุทธมารดาในวันเพ็ญเดือนหก

ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ตรงกับวันนี้

กระทั่งดับขันธปรินิพพานเมื่ออายุแปดสิบปีตรงกับวันนี้เช่นกัน

“3 บังเอิญ” นี้ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” เองก็ยอมรับว่าด้านหนึ่งอาจมาจากศรัทธาที่มีต่อองค์พระพุทธเจ้าโดยแท้

ถือเป็นความศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ที่เสริมความสำคัญสูงส่งให้กับพระพุทธศาสนาเป็นที่เคารพบูชาด้วยศรัทธานี้

ที่มิบังควรจะลบหลู่

 

แต่กระนั้น อีกด้าน “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” อาจตื่นเต้นกับการตีความใหม่ (ในยุคนั้น)

เมื่อท่านพุทธทาสมาขยายความนี้โดยตีถึง “ความตรงกัน” ในวันเพ็ญกลางเดือนหก

ว่าที่แท้คือภาวะแห่งผู้รู้ คือพุทธะที่ได้เกิดขึ้น คือ

การ “ประสูติ” ซึ่งความเป็นพระพุทธเจ้า

การตรัสรู้ คือธรรมแห่งการดับทุกข์

ภาวะแห่งความดับสิ้นไปซึ่งความทุกข์ คือ “นิพพาน”

เพราะฉะนั้น สามสภาวะคือ ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน ได้เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน คือวันเพ็ญเดือนหกนั้นเอง

มิใช่เป็นรูปธรรม คือประสูติทางกาย ตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์ ดับขันธ์ใต้ต้นรัง แต่อย่างใด

หากนี้เป็นภาวะทางนามธรรม ที่เป็นวิทยาศาสตร์ รับรู้ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล

ว่า พระพุทธองค์ “ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน” เวลาเดียวกันในวันเพ็ญกลางเดือนหก

 

ความเชื่อ ความศรัทธา “ใหม่” จะงอกงาม แผ่ขยาย ให้คิด ให้เรียนรู้ ให้ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้

ต้องอาศัยการเปิดกว้าง และพร้อมจะให้มีการทลายกรอบเดิมออกไป

แน่นอน นี่ย่อมไม่ใช่ทางที่เราผ่านมา 7 ปีอย่างแน่นอน

เพราะนั่นนอกจากจะไม่เปิดกว้าง เปิดพื้นที่เพื่อแสวงหาทางใหม่แล้ว

หลายเรื่องเรายังถูกดึงให้ถอยหลัง

จมปรักกับสิ่งเดิมๆ

กลายเป็นห้วงเวลา 7 ปีแห่งการสูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย