สถานีคิดเลขที่12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร / “ส่อง”ให้ถึง”เงามืด”

สถานีคิดเลขที่12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————

“ส่อง”ให้ถึง”เงามืด”

———————–

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลว่าผู้ถูกดำเนินคดีจากคดีการเมืองแล้วตั้งเเต่เดือนกรกฏาคม 2563 ถึง เมษายน 2564 รวม 635 คน ใน 301 คดี

สูงน่ากังวล

แต่ในความน่ากังวล มีมุมดีบ้าง

นั่นคือทำให้ คนในสังคมส่อง “แสง”เข้าไปยังกระบวนการยุติธรรม มากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อ เกิดปรากฎการณ์ มีผู้ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งระหว่างการสอบสวน ระหว่างรอการดำเนินตามกระบวนการพิจารณาในศาล

ส่อง ทั้ง”เหตุ” ที่ไม่ให้ประกันตัว

ที่ก่อ”วิกฤตศรัทธา”ต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง

ส่องทั้ง”ผล”จากการไม่ให้ประกัน

ที่มีผลกระทบต่อ ตัวผู้ต้องหา ครอบครัว อย่างกว้างขวาง

และที่เป็นประเด็นเฉพาะหน้าตอนนี้ มีนักโทษทางการเมือง อย่างน้อย 7 คน ติดเชื้อโควิด-19

พวกเขาพยายาม “ส่องแสง” และ”ส่งเสียง”ให้สังคมรู้ว่า ปัญหาโควิด-19ในเรือนจำวิกฤตแล้ว

แต่ เพจเฟซบุ๊กของทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการตรวจและรักษาในโรงพยาบาลราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ว่ามีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 64 ราย

สวนทางกับข้อมูลที่ของผู้ต้องหาคดีทางการเมืองซึ่งมีช่องทางสื่อสารกับสังคมมากกว่าผู้ต้องขังอื่น ที่ระบุว่าสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นวิกฤตแล้ว

และที่สุดกรมราชทัณฑ์ ก็จำนนว่ามีผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพซึ่งเป็นเรือนจำชาย1,794 คน และทัณฑสถานหญิงกลาง 1,039 คน รวมเป็น 2,833 คน

แต่ยืนยัน-ยืนกราน ที่ตัวเลขสูงพรวดพราด ไม่ได้ปกปิดข้อมูล

เป็นการตรวจเชิงรุก และเชื่อว่าจะสามารถคุมสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในเรือนจำทั่วประเทศได้

ตัวเลขถึงวันที่ 23 มีนาคม 2563 กรมราชทัณฑ์ระบุว่ามีผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งสิ้น 377,834 ราย

จึงหวังว่ากรมราชทัณฑ์ จะเชื่อได้ และทำตามที่พูดอย่างมีประสิทธิผล

และหวังไปกว่านั้นว่า ผู้ต้องขัง ทั้งในสถานะผู้ไม่ได้ประกัน หรือ ผู้ต้องขังเด็ดขาดและได้ชดใช้ความผิดจนมีโอกาสจะกลับเนื้อกลับตัวสู้สังคมภายนอกในอีกไม่กี่เดือนหรือกี่ปีข้างหน้า

“แสง”คงจะส่องทะลุกำแพงไปถึงผู้ต้องขังทุกคน

เพื่อให้ได้รับการดูแลปกป้อง–ไม่ถูกทิ้งให้ สูญเสียใน”เงามืด”

นักโทษต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม เป็นธรรม

กล่าวถึง ความเท่าเทียม เป็นธรรม เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม สำนักงานกิจการยุติธรรม มีการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 18 ในหัวข้อ “การอํานวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่สู่ประชาชน”

นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ของศาลยุติธรรมในยุคนิวนอร์มอลล์ ตอนหนึ่งว่า

“…ภาพของศาลในความคิดคำนึงของประชาชนที่มองจากข้างนอก

จะมองว่าศาลเป็นองค์กรที่มีความอนุรักษนิยม

มีพิธีรีตองหรือ

มีอะไรที่เป็นของตัวเองค่อนข้างมาก

หรือเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจสั่งอย่างเดียว

ซึ่งเป็นภาพในอดีต แต่ปัจจุบันวิธีการคิดของศาลเปลี่ยนแปลงไปมาก

เพียงแต่เราไม่ได้เปิดสิ่งที่เราคิดอยู่ในใจออกไปสู่สาธารณะ …

…นโยบายประธานศาลฎีกา ปี 2563 ถึง 2564 อยู่ภายใต้หลักการ ‘บริสุทธิ์ ยุติธรรม’

มีนโยบายอยู่ 5 ด้าน เช่น ‘ความเสมอภาค’ให้คนที่เข้ามาติดต่อในศาลมีความเท่าเทียมกัน

ไม่เลือกปฏิบัติต่อใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ..”

ถือเป็น “แสง”จากข้างใน ที่ส่องมาข้างนอก

คงสามารถฝากความหวังตามที่พูดไว้ได้…