จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2564

จดหมาย

เสนอ (1)

“มติชนสุดสัปดาห์” นั้น

เป็นทั้งวัคซีนป้องกันโรคและเวชศาสตร์ขนานเอกอุสำหรับผู้ป่วยอย่างผมได้พึ่งพาอาศัยรักษาใจกายให้ดำรงอยู่ได้โดยปกติเสมอมา

แต่กระนั้นก็มิวายเกิดอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ขึ้นมาจนได้

ซึ่งอาการที่ว่าก็ (หนักหนา) สาหัสมาเป็นเจ็ดปีแล้วล่ะ

…เป็นอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จาก “ปก” มติชนสุดสัปดาห์

ที่สรรหาเอาแต่ “คนบูดคนบึ้ง” มาขึ้นปกฉบับแล้วฉบับเล่า

เท่านั้นยังไม่พอ ยังเอา “คนไม่รู้ ไม่รู้” ขึ้นปกให้ดู

เป็นของแถมอีกต่างหาก 555 (ปัดๆ…ปั้ดโธ่)

…ยังดีนะ ที่มีเจ้าตัวเล็กมาคอยสร้างรอยยิ้มให้ผ่อนคลายหายจากอาการไม่พึงประสงค์พร้อมนัยยะเตือนใจใน “ผู้ใหญ่”

ทุกผู้คนนั้นเคยเป็นเด็กมาก่อน ต่างก็มีความคิดความฝัน-จินตนาการและปรารถนาที่จะได้รับความรักความเมตตาจาก “ผู้ใหญ่” เฉกเช่นเดียวกันมาทุกยุคสมัย

…อนึ่ง นัยทุกคนเกิดมาก็ล้วนแต่ตัวเปล่าเปลือยล่อนจ้อน

เมื่อถึงตอนล่วงลับดับขันธ์ไปย่อมมีความว่างเปล่า (เป็นธรรมดา) ไปตามธรรมชาติ

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

ใจคอไม่ค่อยดี

ที่ “มติชนสุดสัปดาห์”

ไปทำให้แฟนพันธุ์แท้อย่างสงกรานต์ บ้านป่าอักษร

มีอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์

ว่าที่จริงเราเองก็พยายามเลี่ยงคนหน้าบูดหน้าบึ้ง และคนไม่รู้-ไม่รู้

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาอยู่มา 7 ปี

และจะอยู่ไปอีกเท่าไหร่ไม่รู้ (ฮา)

ก็กล้ำกลืนกันไปก่อน

ส่วนข้อเสนอแนะ และข้อท้วงติงอื่นที่ไม่ได้นำเสนอในที่นี้

“มติชนสุดสัปดาห์” ค้อมหัวรับฟัง

แต่ด้วยความจำเป็น ทำให้อาจต้องจำ “ทน” ไปอีกระยะ

และว่าที่จริง คนที่ถูกขึ้นปกอาจต้องทนยิ่งกว่า “สงกรานต์ บ้านป่าอักษร”

เอา “ชั้น” ขึ้นปกอีกแล้ว (ฮา)

 

 เสนอ (2)

สภาองค์กรของผู้บริโภค

ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผู้แทนองค์กรผู้บริโภค ผู้แทนเครือข่าย 9 ด้าน ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้หญิง แรงงาน เกษตรกร ชุมชนแออัด ผู้ป่วยเรื้อรังชนเผ่า ผู้พิการผู้แทนเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนอื่นๆ ผู้แทนเครือข่ายนักวิชาการ

จัดประชุมเนื่องในโอกาสวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย (30 เมษายนของทุกปี)

ถึงการบริการขนส่งมวลชนที่จํากัดและราคาแพง

โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

  1. บริการขนส่งมวลชน เป็นบริการสาธารณะ และเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน

ยุติการแบ่งชนชั้นในการใช้บริการ

ปรับปรุงให้ขนส่งมวลชนแต่ละประเภทสนับสนุนกันและกัน แบบไร้รอยต่อ

รวมถึงพัฒนาทางเท้าที่สะดวก สามารถเดินได้จริงในทุกพื้นที่

เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดบริการขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

  1. เสนอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้สอดคล้องต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

ให้รัฐบาลสร้างถนนเท่าที่จําเป็น

แล้วนําเงินเหล่านั้นมาใช้ในการปรับปรุงบริการขนส่งมวลชนให้เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในทุกจังหวัด

ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกําหนดตั้งแต่คนออกจากบ้านจนถึงใช้บริการขนส่งมวลชน

  1. เร่งให้มีรถบริการขนส่งมวลชนครอบคลุมทั่วประเทศ

มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย สะอาด เป็นธรรม มีอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้

เร่งจัดการรถตู้โดยสารที่หมดอายุหรือเกิน 10 ปี

ดําเนินการกับรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีหมวกกันน็อกให้ผู้โดยสาร

ทําให้รถเมล์จอดตรงป้ายเทียบฟุตปาธ

ผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะมีจิตใจให้บริการผู้พิการ ผู้สูงอายุ

  1. เร่งดําเนินการบัตรใบเดียวใช้กับบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท

เช่น รถเมล์ รถตู้ รถไฟฟ้า และต้องดําเนินการทั่วประเทศ

รวมทั้งสนับสนุนราคารถไฟฟ้า 25 บาทตลอดสาย

  1. ส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการจัดบริการขนส่งมวลชนในทุกประเภท

มีส่วนร่วมในการจัดทําสัญญาสัมปทานของรัฐกับเอกชน ที่ปัจจุบันไม่เปิดเผยข้อมูล ไม่โปร่งใส

  1. ขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคและจัดการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

เช่น การปฏิเสธผู้โดยสารของแท็กซี่มิเตอร์

การดําเนินการเมื่อมีการคุกคามทางเพศในบริการขนส่งมวลชน

จัดให้มีบริการห้องน้ำที่สะอาดปลอดภัย ที่ท่าเรือสถานีรถไฟและรถไฟฟ้า

ขอส่งกําลังใจให้กับทุกครอบครัวที่ประสบความทุกข์จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19

ขอให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19

“ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง”

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

www.consumerthai.org

 

ข้อเสนอเหล่านี้ใกล้ตัว

น่าฟัง น่าพิจารณา

ระบบขนส่งมวลชนดี

มวลชนย่อมมีคุณภาพชีวิตดี

รวมถึงช่วยป้องกันโรคระบาดที่วิกฤตตอนนี้ด้วย