พิศณุ นิลกลัด : คุณยายวัย 94 ปี ยอดนักวิ่ง

พิศณุ นิลกลัด

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา คุณยายแฮร์เรียต ธอมป์สัน (Harriette Thompson) วัย 94 ปี ได้สร้างเรื่องน่าทึ่งสุดประทับใจ

โดยคุณยายแฮร์เรียต เป็นผู้หญิงอายุมากที่สุดในโลกที่เข้าเส้นชัย ในการแข่งขันวิ่ง Half Marathon ระยะ 13.1 ไมล์ (21 กิโลเมตร) ในรายการ San Diego”s Rock “n” Roll Half Marathon ทำเวลา 3 ชั่วโมง 42 นาที 56 วินาที

คุณยายให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกตื่นเต้นที่สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ เธอพูดติดตลกว่าชีวิตนี้ไม่เคยอายุ 94 ปีมาก่อน ก็เลยไม่ทราบว่าจะทำได้สำเร็จหรือเปล่า

แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดไว้ ซึ่งความรู้สึกต่างจากตอนที่วิ่งมาราธอนเต็มระยะ (42 กิโลเมตร)

สองปีก่อนหน้านี้คุณยายแฮร์เรียต อดีตนักเปียโนอาชีพ ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงอายุมากที่สุดที่วิ่งเข้าเส้นชัยของการแข่งขันวิ่ง มาราธอนรายการ San Diego”s Rock “n” Roll Marathon 2015 ขณะอายุ 92 ปี 65 วัน (ทำเวลา 7 ชั่วโมง 24 นาที 36 วินาที) ทำลายสถิติอายุเดิมของคุณยายแกลดี้ส์ เบอร์ริลล์ (Gladys Burrill) ที่เข้าเส้นชัยรายการ Honolulu Marathon 2010 ขณะอายุ 92 ปี 19 วัน ทำเวลา 9 ชั่วโมง 53 นาที 16 วินาที

การเข้าเส้นชัย Rock “n” Roll Half Marathon 2017 คุณยายแฮร์เรียตเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่รุมเร้า ล่าสุดคือโรคลิ้นหัวใจรั่ว

นอกจากนี้ เมื่อ 4 ปีก่อนคุณยายต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งในช่องปาก และต้องสูญเสียกรามด้ามบน แพทย์จึงใส่แผ่นไทเทเนียมเข้าไปทดแทนกราม ทำให้คุณยายมีอาการชาที่ใบหน้า มีปัญหาที่เปลือกตา และมีอุปสรรคในการพูด

 

ในการแข่งขันฮาล์ฟมาราธอนที่ผ่านมาได้มีบันทึกสถิติการวิ่งแต่ละช่วงของคุณยาย โดยคุณยายแฮร์เรียต ใช้ความเร็วเฉลี่ย 17.01 นาทีต่อ 1 ไมล์ รวมเวลา 3 ชั่วโมง 42 นาที 56 วินาที

คุณยายบอกว่าเน้นเดินเร็วซะมากกว่า ระหว่างที่กำลังแข่งขันอยู่รู้สึกวิเศษมาก เพราะไม่มีอาการเจ็บป่วยอะไรมารบกวนเลย ต่างจากตอนที่วิ่งมาราธอนระยะ 42 ก.ม. แสดงให้เห็นว่าร่างกายฟิตขึ้น เพราะความเร็วของคุณยายไม่มีตกเลย แม้จะต้องเจอทางขึ้นเนิน

คุณยายเรียนรู้ว่าจะต้องไม่มองขึ้นไปบนเนินสูง แต่ให้ใจจดจ่ออยู่กับที่ถนนตรงหน้า นี่คือเคล็ดลับที่ทำให้คุณยายรักษาความเร็วได้สม่ำเสมอ

ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 1999 ถึง 2015 คุณยายแฮร์เรียตลงวิ่งมาราธอนเต็มระยะถึง 16 ครั้ง พลาดไปครั้งหนึ่งในปี 2013 เพราะอยู่ระหว่างการพักฟื้นร่างกายจากโรคมะเร็งในช่องปาก

กับอีกครั้งในปี 2016 เพราะอยู่ในระหว่างพักฟื้นหลังการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อตรงแผลบริเวณข้อเท้าด้านขวาที่เป็นผลพวงจากการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งผิวหนัง

 

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่คุณยายไม่ได้ลงวิ่งเต็มระยะมาราธอนที่ซานดิเอโก แต่วิ่งระยะฮาล์ฟมาราธอนแทน สาเหตุเพราะคุณยายต้องการใช้ชีวิตบนพื้นฐานความจริงว่าวัยปูนนี้ ร่างกายก็มีขีดจำกัดของตัวเอง แม้ครั้งนี้การวิ่งฮาล์ฟมาราธอนจะไม่ได้ทำให้คุณยายรู้สึกเหนื่อยมาก แต่ถ้าจะให้ไปวิ่งระยะมาราธอนแบบเดิมก็จะเป็นการฝืนสังขารเกินไป

เบร็นนี่ (Brenny) ลูกชายวัย 58 ปีของคุณยาย ลงวิ่งเพื่อการกุศลกับคุณยายทุกครั้ง โดยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลส่งน้ำ ส่งเสบียง ไม่ว่าคุณยายต้องการอะไร เช่น น้ำดื่ม วาสลีน เครื่องดื่มเกลือแร่ โปรตีนแท่งเจลให้พลังงาน กล้วย ส้ม ลูกชายจะคอยเตรียมให้ และที่สำคัญมากก็คือให้กำลังใจตลอดการวิ่งมาราธอน

คุณยายแฮร์เรียตเล่าว่า ตอนวิ่งมาราธอนเมื่อสองปีก่อนนั้น ไมล์ที่ 21 หรือกิโลเมตรที่ 34 รู้สึกเหนื่อยมาก ตอนนั้นกำลังวิ่งขึ้นเนินเตี้ยๆ แต่รู้สึกเหมือนกำลังวิ่งขึ้นภูเขา ในใจก็อดคิดไม่ได้ว่า นี่มันเป็นเรื่องบ้าบิ่นมากสำหรับคนอายุขนาดนี้

แต่พอวิ่งลงเนินก็รู้สึกดีขึ้น!

นอกจากนี้ คุณยายยังบอกเคล็ดลับในการลดความเหนื่อยล้าขณะวิ่งว่า คุณยายแฮร์เรียตชอบเล่นเปียโน จึงพยายามบรรเลงเสียงเปียโนในหัวระหว่างวิ่งเพื่อให้ลืมความเหนื่อยล้า

 

คุณยายวิ่งมาราธอนการกุศลเพื่อหาเงินบริจาคให้กับสมาคมช่วยเหลือผู้ป่วยลูคีเมียและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (The Leukemia & Lymphoma Society)

ตั้งแต่ปี 1999 คุณยายแฮร์เรียตรวบรวมเงินบริจาคให้กับสมาคม ได้มากกว่า 100,000 ดอลลาร์

หรือ 3,400,000 บาท

 

คุณยายแฮร์เรียตริ่มหัดวิ่งมาราธอนตอนอายุ 76 ปี โดยไม่มีพื้นฐานการเล่นกีฬามาก่อน อาชีพของคุณยายคือนักเปียโน

จุดเริ่มต้นของการหัดวิ่งมาราธอนนั้น คุณยายเล่าว่า มาจากที่คุณยายเป็นอาสาสมัครเล่นเปียโนที่โบสถ์ และเพื่อนที่โบสถ์คนหนึ่งวิ่งมาราธอนเพื่อการกุศล จึงเป็นแรงบันดาลให้คุณยายลงวิ่งเพื่อหาเงินบริจาคเข้ามูลนิธิผู้ป่วยโรคลูคีเมียและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

คุณยายซ้อมวิ่งเกือบทุกวัน โดยวิ่งรอบหมู่บ้านผู้สูงอายุที่คุณยายอาศัยในเมืองชาร์ล็อตต์ รัฐนอร์ธ แคโรไลนา แล้วต่อด้วยการเล่นโยคะเพื่อความยืดหยุ่นของร่างกาย

แม้คุณยายจะไม่ได้เป็นนักกีฬามาก่อน แต่คุณยายเห็นว่าการที่เป็นนักเปียโนอาชีพ ช่วยให้คุณยายมีวินัย ซึ่งช่วยอย่างมากในการฝึกซ้อมเป็นนักวิ่งมาราธอน

สำหรับคนที่คิดอยากลงแข่งขันวิ่งมาราธอนแบบคุณยายแฮร์เรียต คุณยายบอกว่า ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ไม่มีคำว่าสายเกินไป

ทุกครั้งที่คุณยายแฮร์เรียตเข้าเส้นชัยจะได้รับเสียงเชียร์ เสียงปรบมืออย่างกึกก้อง มีบรรดาช่างกล้องตามถ่ายวิดีโอและภาพเพื่อไปเสนอข่าว ซึ่งคุณยายบอกว่าความรู้สึกเหมือนกับ ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก (Charles Lindbergh) นักบินคนแรกที่บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากนครนิวยอร์กไปยังปารีส ในปี ค.ศ.1927

ทุกครั้งหลังเข้าเส้ยชัย คุณยายแฮร์เรียตมักจะตอบนักข่าวที่รอสัมภาษณ์ว่า ไม่มั่นใจว่าจะมาร่วมวิ่งมาราธอนครั้งต่อไปอีกหรือไม่ เชื่อว่าครั้งนี้คงเป็นครั้งสุดท้าย

แต่เพื่อนๆ ของคุณยายพูดติดตลกว่า คุณยายพูดแบบนี้ทุกปี