‘จาม’ ชาติพันธุ์บรรพชน ถูกกีดกันจากประวัติศาสตร์ไทย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระนครศรีอยุธยาที่คลาคล่ำไปด้วยเรือสินค้าจากต่างประเทศ รูปเขียนฝีมือของ อแล็ง มาเนอสซ็อง-มัลเลต์ (Alain Manesson-Mallet) ช่างทำแผนที่ชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2226 ตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ชาติพันธุ์ทั้งหลายล้วนเป็นคน ส่วนบรรพชนคนไทยล้วนมาจากชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ชาติพันธุ์หลากหลายในประวัติศาสตร์ยาวนานทั้งในและนอกอุษาคเนย์ต่างผสมกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมแล้วกลายตนเป็นไทย ได้แก่ มอญ, เขมร, ลาว, พม่า, จีน, จาม, ชวา, มลายู, ม้ง, เมี่ยน, กะเหรี่ยง (กะหร่าง), กูย (กวย, ส่วย), กำมุ (ขมุ) เป็นต้น

แต่สำนึกของสังคมปัจจุบัน ชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นพวก “ไม่ไทย” เพราะถูกกีดกันโดยประวัติศาสตร์ไทยซึ่งมีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเรื่อง “เชื้อชาติไทย” จากการเสกสรรปั้นแต่งของชนชั้นนำสยามเมื่อศตวรรษก่อน แล้วยังมีอำนาจสืบทอดถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ “เชื้อชาติไทย” ไม่มีในโลกซึ่งเป็นที่รับรู้ในทางสากล

 

จามเป็นใคร? มาจากไหน? เมื่อไร?

“จาม” เป็นชาติพันธุ์บรรพชนไทยกลุ่มหนึ่ง มีหลักแหล่งกระจายทั่วไปทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำอื่นในไทยนับพันปีมาแล้ว ต่อมามีฐานะทางสังคมสูงขึ้นในรัฐอยุธยา จึงได้รับมอบหมายจากกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงเป็นผู้ควบคุมกองเรือรบและดูแลการค้าทางทะเลสมุทร สืบเนื่องถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วกลายตนเป็นคนไทยตระกูลใหญ่โตตั้งแต่ครั้งอยู่ในอยุธยาก่อนมีประเทศไทย (พ.ศ.2482)

ความใกล้ชิดของวงศ์จามกับวงศ์อยุธยา มีหลักฐานอยู่ในโคลงสรรเสริญพระเกียรติพระนารายณ์ บอกตรงไปตรงมาว่าหลานเจ้านายจามจากรัฐจามปา (จำปา) ชื่อ “โปงซา” เดินทางไปเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระนารายณ์ ดังนี้

๏ นัดดาจาเมศร์ไท้              จำปา

นามชื่อโปงซาสา                 โรชแท้

มาทูลสุวรรณบา                 ทุกราช

เป็นบาทมุลิกาแล้                นอบนิ้วอภิวันท์ ฯ

จามเป็นชื่อทางวัฒนธรรม (คล้ายกับคำว่าแขก, ขอม, สยาม) หมายถึงประชากรของรัฐจามปาในเวียดนาม ซึ่งมีบรรพชนเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในวัฒนธรรมซาหวิ่น ประกอบด้วยคนนับถือศาสนาผี ซึ่งมีหลายชาติพันธุ์ที่พูดภาษากลางคือ ภาษามลายู (ในตระกูลภาษาชวา-มลายู) และชำนาญเดินเรือทะเลสมุทร (ก่อนจีน)

เริ่มรับวัฒนธรรมอินเดียราวเรือน พ.ศ.1000 สมัยแรก นับถือศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ปะปนศาสนาผี แล้วแผ่ขยายอิทธิพลไปทางลุ่มน้ำโขงบริเวณจำปาสัก (ในลาว) ถึงอีสาน (ในไทย) สมัยหลัง เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามซึ่งรับผ่านทางจีน

 

เข้าถึงอ่าวไทย

บรรพชนจาม (กลุ่ม “ซาหวิ่น”) เข้าถึงอ่าวไทยทางบ้านเมืองลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ.500 นอกจากนั้น ยังมีส่วนสำคัญในการกระจายการค้าระหว่างภาคพื้นทวีปกับกลุ่มเกาะของอุษาคเนย์ ดังพบหลักฐานสำคัญเป็นวัตถุในศาสนาผี 2 อย่าง ได้แก่ (1.) ลิงลิงโอ และ (2.) กลองทอง (มโหระทึก)

ครั้นหลัง พ.ศ.1000 เริ่มแรกการค้าโลก (นักโบราณคดีไทยเรียกสมัยทวารวดี) มีรัฐจามปาในเวียดนาม เป็น “คนกลาง” (ร่วมกับ “ศรีวิชัย”) เดินเรือทะเลสมุทรค้าขายทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ แล้วแลกเปลี่ยนกับรัฐบริเวณอ่าวไทยซึ่งมีชื่อในเอกสารจีน ได้แก่ (1.) หลั่งยะสิว หรือ หลั่งเกียฉู่ บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง และ (2.) โถโลโปตี หรือ ทวารวดี บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี

รัฐจามปามีส่วนสำคัญผลักดันกำเนิดรัฐกัมพูชา จึงมีความทรงจำเรื่องนางนาค-พระทอง โดยเชื่อว่าพระทองคือจาม หรือวัฒนธรรมจาม (หลังรับวัฒนธรรมอินเดีย)

แผนที่แสดงหลักแหล่งของชาวจามพูดภาษามลายูบริเวณเวียงเหล็ก "ปท่าคูจาม" (คลองคูจามใหญ่-คลองคูจามน้อย) นอกเกาะเมืองอยุธยา (ด้านทิศใต้) ชาวจามไม่ได้ถูกกวาดต้อนจากเขมร และคำว่า "ปท่า" ไม่มาจากคำเขมร

เข้าถึงอยุธยา

รัฐจามปาค้าขายทางทะเลอย่างแข็งแรงและกว้างขวางก่อนมีรัฐอยุธยา ต่อมาเมื่อมีรัฐอยุธยาแล้วเติบโตขึ้นก็กลายเป็นรัฐคู่แข่ง แต่ในที่สุดราวเรือน พ.ศ.1900 จามปาเป็นเมืองท่ารุ่งเรืองเหนือกว่าอยุธยา ความเคลื่อนไหวเหล่านี้กระตุ้นให้ชาวจามจากจามปาออกค้าขายถึงอยุธยาแล้วตั้งหลักแหล่งถาวรเป็นประชากรอยุธยา จึงได้รับยกย่องอยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่าเป็นกลุ่มค้าขายสำคัญของอยุธยาว่า “จีนจามชวานานาประเทศ”

รัฐสุพรรณภูมิบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองขยายอำนาจไปยึดพื้นที่ทางแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ “เวียงเหล็ก” (ของพระเจ้าอู่ทอง) มีศูนย์กลางอยู่ “ตำหนักเวียงเหล็ก” (ปัจจุบันคือวัดพุทไธศวรรย์) โดยมีกลุ่มจามและชวา-มลายูทำหน้าที่ค้าขายทางทะเลสมุทร แล้วตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณเดียวกันซึ่งเรียกสมัยหลังว่า “ปท่าคูจาม” (มีความทรงจำว่ามัสยิดแห่งแรกอยู่ริมคลองตะเคียน ปัจจุบันคือมัสยิดกุฎีช่อฟ้า)

“ปท่าคูจาม” อยู่เวียงเหล็ก (ย่านวัดพุทไธศวรรย์) เป็นชื่อเรียกพื้นที่ซึ่งเป็นหลักแหล่งของคนพูดภาษามลายู (เช่น มลายูปตานี ฯลฯ) มีทั้งชาวจามและไม่จาม แต่โดยมีชาวจามเป็นกลุ่มหลักหรือมีอำนาจเป็นที่ยกย่องเกรงขามรู้จักมากสุด

“ปท่าคูจาม” หมายถึง ชุมชนจามมีคูน้ำล้อมรอบอยู่อีกฟากหรือฟากข้างของเกาะเมืองอยุธยา [“ปท่า” ไม่มาจากภาษาเขมร แต่เป็นคำกร่อนจากคำเดิมว่า “ปละท่า” แปลว่า ฟากข้าง ซึ่งพบว่ามีใช้ในชื่อ อ.ปละท่า (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น อ.สทิงพระ) จ.สงขลา คำอธิบายนี้อยู่ในพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างพระราชดำริ ร.5]

“คูจาม” มี 2 แห่ง พบแผนที่ฝรั่งเศสทำในแผ่นดินพระนารายณ์ ดังนี้ (1.) คลองคูจามใหญ่ ปัจจุบันเรียกคลองตะเคียน หรือคลองขุนละครไชย และ (2.) คลองคูจามน้อย ปัจจุบันเรียกคลองคูจาม

 

“อาสาจาม” กองเรือรบทางทะเล

กษัตริย์จากรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ยึดอำนาจจากวงศ์ละโว้ (ลพบุรี) แล้วขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ราวหลัง พ.ศ.1950 ชาวจามจาก “ปท่าคูจาม” มีส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญการยึดอำนาจครั้งนั้น จึงรับมอบหมายดูแลกองเรือรบ เรียกสมัยต่อไปว่า “อาสาจาม”

อยุธยาได้รับยกย่องเป็น “ราชอาณาจักรสยาม” ศูนย์กลางการค้านานาชาติ เมื่อราชวงศ์สุพรรณภูมิขึ้นเป็นกษัตริย์รัฐอยุธยาโดยมีกำลังสนับสนุนสำคัญคือจามและจีน [ถ้ำจีน, ถ้ำจาม เป็นชื่อถ้ำคู่กันบนเทือกเขางู (จ.ราชบุรี) ลุ่มน้ำแม่กลอง เป็นความทรงจำแสดงความคุ้นเคยและยกย่องอย่างทัดเทียมกันซึ่งคนสมัยหลังมีต่อชาวจีน-ชาวจาม ผู้ชำนาญการค้าทางไกลในทะเลสมุทร]

 

จาก “จามปา” พูดมลายูในเวียดนาม

“จาม” อยู่ในกลุ่มภาษาและวัฒนธรรมชวา-มลายู จากรัฐจามปาในเวียดนาม ซึ่งมีส่วนสำคัญในพลังสร้างสรรค์ “ความเป็นอยุธยา” ตั้งแต่สมัยดั้งเดิม และความเป็นไทยสืบเนื่องถึงปัจจุบัน

ส่วน “จาม” ในพระนครศรีอยุธยาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทางการทุกวันนี้กีดกันทางประวัติศาสตร์ว่า “ไม่ไทย” และ “ไม่มีหัวนอนปลายตีน” แล้วถูกยัดเยียดเป็นเชลยกองทัพอยุธยากวาดต้อนจากกัมพูชาคราวศึก “ขอมแปรพักตร์” สมัยแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา

แต่ศึก “ขอมแปรพักตร์” เมื่อแรกสถาปนาอยุธยา พ.ศ.1893 ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ดังนั้นจามในอยุธยาถูกกวาดต้อนมาจากกัมพูชาก็ไม่มีจริง นักวิชาการตะวันตกซึ่งเป็นที่ยอมรับกว้างขวางระดับสากล เคยตรวจสอบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี แล้วพบว่าศึก “ขอมแปรพักตร์” ไม่มีจริง กรณีพระรามาธิบดีที่ 1 ให้พระราเมศวรยกทัพไปตีเมืองพระนครหลวง (นครธม) ในกัมพูชา เป็นวรรณกรรม “เพิ่งสร้าง” เพื่อยกย่องอยุธยา (ที่เพิ่งสถาปนาใหม่) แล้วด้อยค่าอาณาจักรกัมพูชา [มีงานค้นคว้าวิชาการแสดงหลักฐานอย่างละเอียดอยู่ในเอกสารเรื่อง “อโยชชปุระ-ยโสธร”ฯ โดยวินัย พงศ์ศรีเพียร พิมพ์ในหนังสือ ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์ (คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2539 หน้า 3-104)]

ในอยุธยาปัจจุบัน ชาติพันธุ์จามหรือเรียกตามภาษาปากว่า “แขกจาม” พูดภาษามลายู นับถือศาสนาอิสลาม เป็นมุสลิมตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนใหญ่กระจายอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาด้านทิศใต้โดยรอบวัดพุทไธศวรรย์ บริเวณคลองคูจามและคลองตะเคียน (แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านเหนือ แล้วลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้) มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานตั้งแต่ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา

นับเป็นบรรพชนกลุ่มหนึ่งของอุษาคเนย์และของไทย