หลังเลนส์ในดงลึก : ชะตากรรมของนักล่า

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
flash=1 integtime=1256 Vg=16 D1=128 D2=32 flashCrossoverCdS=200.00 PYDCrossoverCdS= 8.00 flashDetectCdS=1.0000 derivativeClipNormal=6 derivativeClipBright=18 chargeFlashTarget=260.00 delayBetweenImagesFlash=8 delayBetweenImagesDaylight= 0.30 holdOffTimeBetweenTriggers=2 jpegCompressionRatio=12

ครั้งที่ได้ไปกราบนมัสการ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่วัดป่ามหาวัน

พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า ท่านได้ไปร่วมงานศพของผู้ชายอายุ 82 ปี คนหนึ่ง

ผู้ชายคนนี้เสียชีวิตเพราะถูกช้างเข้าโจมตี

“งานของแกคือการล่าช้าง” พระอาจารย์เล่า

วิธีการของเขาคือ เอาขี้ช้างมาชโลมตามร่างกาย เมื่อพบช้างจะค่อยๆ เข้าไปใกล้ๆ จนถึงตัว เตะที่ขาหลังเพื่อให้ช้างหันมา ใช้ปืนรุ่นโบราณยันที่หน้าอกช้าง และกดไกปืน

“ด้วยวิธีการนี้แหละเขาฆ่าช้างมานับสิบๆ ตัวเลย”

พระอาจารย์เล่าต่อ

วันที่เสียชีวิตเขาใช้วิธีการเช่นเดิม มีช้างอีกหลายตัวเข้ามารุม

“เห็นญาติๆ บอกว่าเขายิงไป 3 นัด แต่ช้างไม่ล้มและมีตัวอื่นๆ เข้ามาช่วยด้วย”

ผมฟังเรื่องเล่าจากพระอาจารย์พลางนึกภาพเห็นผู้ชายคนหนึ่งใช้ความรู้ความชำนาญ และรู้จักกับงานที่กำลังทำอย่างแท้จริง

แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับอาชีพของเขา

แต่ก็อดที่จะชื่นชมในความเป็นมืออาชีพของเขาไม่ได้

อีกความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ

นึกถึงงานที่ผมเคยเขียนไว้ชิ้นหนึ่ง เมื่อนานมาแล้ว งานชิ้นนั้นมีชื่อว่า

“ชะตากรรมของนักล่า”

 

เมื่อพูดถึงคำว่า “นักล่า”

ภาพความดุร้ายอันตรายของเสือย่อมปรากฏขึ้น เสือโคร่งดูคล้ายจะเป็นผู้อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของอาชีพนักล่า

อีกทั้งเนิ่นนานมาแล้วที่ “ภาพ” ของพวกมันไม่เคยเปลี่ยนจากสัญลักษณ์ของความดุร้าย อันตราย ไม่ว่าจะมีคนจำนวนมากพยายามศึกษาเรียนรู้ ทำความรู้จักและเผยแพร่ความเป็นจริงในวิถีชีวิตของมันออกมาให้คนทั่วๆ ไปได้รับรู้เพียงใด

“เสือกินคนนั้น เก้าในสิบมีสาเหตุจากการได้รับบาดเจ็บ มนุษย์ไม่ใช่เหยื่อโดยธรรมชาติของเสือ เพียงแต่เมื่อมันพิการเพราะพิษบาดแผล หรือเขี้ยวเล็บร่วงโรยด้วยวัยชราจนไม่สามารถจับสัตว์อื่นเป็นอาหารได้แล้วเท่านั้น”

ในยุคที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างเสือกับคน ในป่าของประเทศอินเดีย

มิสเตอร์ จิม คอร์แบต คนล่าเสือผู้ฆ่าเสือไปนับร้อยๆ ตัว ให้ความเห็นเช่นนี้

เสือโคร่ง สายพันธุ์อินโดไชนีส ที่มีอยู่ในบ้านเรา แม้มันจะไม่ใช่เสือโคร่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ที่เหลืออยู่บนโลกนี้

แต่มันก็มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดานักล่าของป่าประเทศไทย

“ศักดิ์ศรี” ของมันทำให้เกิดความครั่นคร้ามเสือโคร่งตัวผู้โตเต็มวัย น้ำหนักกว่า 200 กิโลกรัม

รูปร่างขนาดนี้ ควายป่าหรือกระทิงร่างกำยำ ก็เลี่ยงคมเขี้ยวของมันไม่พ้น

ก่อนหน้านี้คนเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์

จะมีกฎว่าห้ามพูดคุยถึงเสือ ไม่เช่นนั้น เสือจะมาปรากฏตัวให้เห็น และจะเกิดอันตราย

ฉะนั้น เมื่อเข้าป่า คนรุ่นเก่าๆ จึงเรียกเสือด้วยสมญานามอื่นๆ

เช่น แมวใหญ่บ้าง ไอ้ลายบ้าง บางคนเรียกผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน

คงไม่ใช่เรื่องแปลก

เมื่อถือปืนอยู่ในมือเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ ดวงตาย่อมมองไม่เห็นอะไร

มองไม่เห็นชีวิต สิ่งที่เห็นมีเพียงความดุร้าย ถึงวันนี้มีคนจำนวนหนึ่งมุ่งหน้าเข้าป่า

เพื่อล่าเสือ

สำหรับพวกเขาไม่มีสัตว์ดุร้ายอันตราย มีก็แต่เพียง “ซาก” อันมีมูลค่าสูง


ตํานานในป่าและเรื่องเล่าของเสือมีความหมาย

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้จะมีข่าวบางคนถูกเสือโจมตีบ้าง แต่คนทำงานในป่าก็รู้ดีว่านั่นเป็นอุบัติเหตุคนเข้าไปใกล้มันเกินไป หรือเข้าไปใกล้ๆ ลูกๆ หรือเหยื่อของมัน

อีกทั้งข่าวการเข้ามา “อาละวาด” ในชุมชน

เหตุการณ์จะจบลงด้วยการจบชีวิตของเสือ

ในป่านั้นเสือจะเลี่ยงไปทันทีที่ได้กลิ่นคน เมื่อเราบังเอิญเข้าไปใกล้ มันจะส่งเสียงคำรามเตือน

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กับการที่เสือจะล่าเหยื่อได้สักตัว สถานภาพของเสือโคร่งในโลกนี้ต่างมีอนาคตอันค่อนข้างมืดมนเหมือนๆ กัน

นอกจากแหล่งอาศัยจะเหลือน้อยลง

ความเชื่อที่ไม่เคยหายไปแต่คล้ายนับวันจะเพิ่มมากขึ้นว่าชิ้นส่วนอวัยวะของเสือคือยาวิเศษ

ทำให้คนล่าเสือมุ่งหน้าเข้าป่าอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่คนจำนวนมากช่วยกันปกป้องคุ้มครองเสือ

แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยต้องการซากเสือหรือจงใจทำลายแหล่งอาศัยของเสือและเหยื่อ

เราเรียนรู้กันมามากแล้วว่า

ในป่า เหล่านักล่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ

ว่าตามจริง เรารู้ดีเสมอๆ ว่าทุกชีวิตในป่าต่างล้วนมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกัน

การ “หายไป” ของชีวิตในป่าชีวิตหนึ่ง ย่อมมีผลกับชีวิตอื่นๆ

 

ผมเคยเขียนไว้นานแล้วว่า มีคำถามหนึ่งซึ่งมีคนถามว่า “ถ้าเราเป็นสัตว์ป่า อยากเกิดเป็นสัตว์ชนิดใด”

ผมตอบว่าเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่เสือ

ผมรู้ดีว่า เสือเป็นชีวิตซึ่งต้องอยู่เพียงลำพัง

เมื่อเสือเข้ามา ชีวิตอื่นๆ จะเงียบเตรียมพร้อม หรือไม่ก็ตื่นหนี

แม้ว่าจะรักสันโดษ แต่ครั้งใดที่อยากเข้าใกล้แล้วถูกปฏิเสธ

นี่ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

สัตว์ป่าจะเชื่อจมูกมากกว่าสายตา หรือหู

ช้างได้กลิ่นแหล่งน้ำที่อยู่ห่างออกไปนับสิบกิโลเมตร กลิ่นของคนเช่นกัน ทั้งฝูงมักตื่นหนีทันทีเมื่อได้กลิ่น

ดังนั้น เมื่ออยู่ใต้ลมกระแสลมพัดจากช้าง หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ มาหาเรา การจะเข้าไปใกล้ๆ พวกมัน ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก

ความได้เปรียบของสัตว์ป่า คือ พวกมันได้รับการออกแบบร่างกายมาอย่างเหมาะสมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา

มีอวัยวะต่างๆ ช่วยให้การดำเนินชีวิตไปได้อย่างสะดวก

สัตว์กินพืชมีจมูกรับกลิ่นดีในระยะไกล เช่นเดียวกันก็มีจมูกรับกลิ่นที่ดีด้วย และในระยะใกล้ๆ

กวาง เก้ง วัวแดง กระทิง ฯลฯ มีเท้าแข็งแรง และกีบช่วยให้วิ่งได้เร็ว

ผู้ล่าอย่างเสือ วิ่งได้เร็วเช่นกัน แต่ระยะเพียงสั้นๆ

เหล่านี้คือเรื่องที่เรารู้กันมานานแล้วว่า ทุกอย่างได้รับการออกแบบมาอย่างสอดคล้อง

เมื่อเทียบกับคนขณะอยู่ในป่าไม่มีอวัยวะใดเลยที่เราจะ “เหนือ” กว่าสัตว์

กระนั้นก็เถอะ คนก็ได้รับมอบ “สมอง” มาเพื่อให้คิดค้นเครื่องมือต่างๆ มาใช้แทนอวัยวะ

และดูเหมือนว่า “สมอง” นี่เองที่ทำให้เหล่าสัตว์ป่าเริ่มพบกับอนาคตอันมืดมน

 

ผู้ชายคนหนึ่งใช้ความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงทำงาน แต่วันหนึ่งก็พลาด เพราะความสามัคคีร่วมกันปกป้องอันตรายของช้าง

คนมีสมองสำหรับคิด

แต่หลายครั้งคนกลับลงมือกระทำบางอย่างโดยไม่ผ่านสมอง

ลงมือกระทำด้วยการใช้ “หัวใจ”

เมื่อใช้เพียงหัวใจ ผลที่ตามมาย่อมเป็นสิ่งอันต้องยอมรับ

ไม่ว่าจะเป็น เลือด ดอกไม้ หรือน้ำตา

บางที นี่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ชะตากรรม”