คนรุ่นใหม่กับความใฝ่ฝันที่ไม่เคยล้าสมัย : รำลึก 120 ปี ปรีดี พนมยงค์/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

คนรุ่นใหม่กับความใฝ่ฝันที่ไม่เคยล้าสมัย

: รำลึก 120 ปี ปรีดี พนมยงค์

 

“อํานาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

มาตรา 1 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม (ชั่วคราว) 27 มิถุนายน 2475

ข้อความดังกล่าวปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร ซึ่งร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ ที่สั้นกระชับ ทรงพลัง เปี่ยมความหมายและไพเราะที่สุดในรัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทย

แรงดลใจการปฏิวัติในวัยเยาว์

นายปรีดีในวัยหนุ่ม

เมื่อ 120 ปีที่แล้ว เด็กชายปรีดี พนมยงค์ ถือกำเนิดในครอบครัวชาวนา เมื่อ 11 พฤษภาคม 2443

แม้นเขาเกิดในครอบครัวชาวนา แต่บิดาสนับสนุนให้เขาได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่

แรกเริ่มที่บ้านครูแสง ท่าวาสุกรี ต่อมาเข้าโรงเรียนประถมที่วัดศาลาปูน จากนั้นเข้าชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ที่กรุงเทพฯ แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า (โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย)

จากนั้นไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี 2460

เมื่ออายุได้ 17 ปี เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา ต่อมาสอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ในขณะมีอายุ 19 ปี

ในช่วงที่เขาเป็นนักเรียนที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อายุราว 11 ปี เขาเล่าว่า เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ชายจีนทุกคนที่อยุธยาตัดผมเปียทิ้ง ทั้งที่พวกเขาไว้เปียมาเป็นเวลานาน ชาวจีนอธิบายกับเขาว่า จีนเปลี่ยนการปกครองก้าวสู่สาธารณรัฐอันมีซุนยัตเซนเป็นผู้นำแล้ว พวกเขาจึงตัดผมเปียทิ้งเพราะราชวงศ์ชิงเป็นผู้กำหนดให้ไว้ผมเปียได้ถูกล้มล้างไปแล้ว

เขาเล่าทวนความทรงจำสมัยยังเป็นนักเรียนมัธยมที่อยุธยาวิทยาลัยอีกว่า ครูประวัติศาสตร์สอนให้เขารู้จักรูปแบบการปกครองแบบต่างๆ ในโลก และเล่าเหตุการณ์ปฏิวัติจีนให้ฟังว่า “ต่อมาในไม่ช้า ความปรากฏว่าฝ่ายกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจูต้องพ่ายแพ้ ครูที่ก้าวหน้าจึงพูดเปรยๆ กับปรีดีว่า ระบบสมบูรณาฯ ก็สิ้นไปแล้วในจีน ยังเหลือแต่รุสเซียกับเมืองไทยเท่านั้น ครูไม่รู้ว่าระบบสมบูรณาฯ ใดใน 2 ประเทศนี้ ประเทศใดจะสิ้นสุดก่อนกัน”

การรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ของราษฎร

จากนั้น นายปรีดีไปเรียนต่อในกฎหมายที่พระนคร ต่อมาเขาได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ฝรั่งเศสในปี 2463 พร้อมนำแรงดลใจจากไทยไปยังปารีส

ระหว่างที่เขาศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เขาร่วมก่อตั้ง “คณะราษฎร” ขึ้น และประชุมการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยร่วมกับ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ร.ท.แปลก ขิตตะสังคะ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี ดร.ตั้ว ลพานุกรม หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) นายแนบ พหลโยธิน

ต่อมาเมื่อพวกเขาเรียนจบต่างทยอยกลับสยาม และประกอบอาชีพไปอย่างเต็มความสามารถเพื่อรอเวลาที่เหมาะสมที่จะนำการปฏิวัติ

สำหรับปรีดีกลับมารับราชการในกรมร่างกฎหมาย และเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เขาเปิดสอนวิชากฎหมายปกครองเป็นครั้งแรก วิชาดังกล่าวเปิดโลกทัศน์และสร้างความหวังให้กับนักเรียนกฎหมายหนุ่มในช่วงเวลานั้นมาก เนื่องจากมีการพูดถึงการปกครองประเทศต่างๆ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค

ทำให้มีนักเรียนหลายคนตัดสินใจเข้าร่วมการปฏิวัติในสายพลเรือน เช่น นายสงวน ตุลารักษ์ นายดิเรก ชัยนาม และร่วมกันหาสมาชิกเพิ่ม เช่น ดร.ประจวบ บุนนาค นายจรูญ สืบแสง นายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นต้น

ร่างประกาศคณะราษฎร

และออกแบบระบอบการปกครองใหม่

ปรีดีรับภารกิจสำคัญจากคณะราษฎรในการปฏิวัติ คือการร่างประกาศคณะราษฎร เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง และร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเพื่อสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ประกาศดังกล่าวถูกประกาศก้องโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และถูกแจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไป

หากหันกลับมาประเมินคุณูปการ เหตุการณ์การปฏิวัติ 2475 ประกาศคณะราษฎร และธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามแล้ว สามารถสรุปสาระสำคัญอันเป็นปฐมบทของการปกครองสมัยใหม่ได้ ดังนี้ (ปิยบุตร แสงกนกกุล, 2559, 22-26)

ประกาศคณะราษฎร

1. สิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงด้วยการปฏิวัติ เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร ในประกาศคณะราษฎรปรากฏข้อความว่า “คณะราษฎรไม่ประสงค์ชิงราชสมบัติ ฉะนี้จึ่งขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่ต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” อันสะท้อนให้เห็นว่า คณะราษฎรปิดฉากระบอบเก่าและยินยอมให้มีกษัตริย์ต่อไป แต่ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเฉกเช่นประชาชนทั่วๆ ไป

นั่นหมายความว่า ธรรมนูญฉบับปฐมบท (27 มิถุนายน 2475) หาได้เป็นกฎหมายที่มาจากการมอบของกษัตริย์ แต่มาจากการที่คณะราษฎรปฏิวัติโค่นล้มระบอบเก่าลง คณะราษฎรจึงมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และกำหนดระบอบการปกครองใหม่ให้เกิดขึ้น

2. ก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยขึ้น จากมาตรา 1 ของธรรมนูญยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ จากเดิมอำนาจสูงเป็นของกษัตริย์ มาเป็น “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และในมาตรา 2 นั้นกำหนดให้ก่อตั้งสถาบันการเมืองขึ้น 4 องค์กร กำหนดให้กษัตริย์มีสถานะเท่าๆ กับองค์กรอื่นอีก 3 องค์กร คือ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎรและศาล โดยให้สถาบันเหล่านี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร

โดยธรรมนูญให้อำนาจแก่สภาผู้แทนราษฎรและกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี) มีฐานะใช้อำนาจตัวแทนประชาชน โดยสภาผู้แทนฯ มีอำนาจสูงเหนือกว่าอีก 3 สถาบันการเมือง เห็นได้จากกำหนดให้สภาผู้แทนฯ มีอำนาจวินิจฉัยการกระทำผิดทางอาญาของกษัตริย์ได้ โดยบัญญัติไว้ว่า

“กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” (ม.6)

ส่วนบรรดาการกระทำต่างๆ ของกษัตริย์ภายใต้ธรรมนูญนั้นต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมิให้กษัตริย์กระทำการใดหากมิได้รับการยินยอมจากรัฐบาล ความว่า “…ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ” (ม.7)

การแปรอักษรชื่อนายปรีดี ของธรรมศาสตร์ ในงานฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ปี 2526

3. คณะราษฎรอนุญาตให้มีกษัตริย์สืบต่อไปในการปกครองใหม่ แต่ต้องมีอำนาจจำกัด ดังปรากฏในประกาศคณะราษฎรที่เสนอทางเลือกให้กษัตริย์ตอบว่ายินยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญหรือไม่ หากยินยอม คณะราษฎรก็จะให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร

แต่หากไม่ตอบมาในเวลาที่กำหนด “…ก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา”

แม้นนายปรีดีจะสร้างคุณูปการไว้มากมาย แต่ความผันผวนทางการเมืองของไทยภายหลังการรัฐประหาร 2490 ทำให้เขาและคณะราษฎรพ้นออกจากอำนาจ ตลอดจนกลุ่มอนุรักษนิยมพยายามสร้างภาพลักษณ์ของนายปรีดีให้กลายเป็นปีศาจทางการเมืองอีกด้วย

นับแต่กลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา คนหนุ่ม-สาวพยายามฟื้นภาพของเขากลับมาสู่สังคมอีกครั้ง นับแต่นั้น ภาพลักษณ์ อุดมคติและคุณูปการของเขา มิตรสหายและคณะราษฎรถูกนำมาฟื้นฟู และตีความใหม่ให้กลับมาเปล่งประกายเป็นความรู้ใหม่ที่ท้าทายความรู้เก่าอันเป็นแรงดลใจในการต่อสู้และความใฝ่ฝันแก่คนรุ่นถัดไปที่ต้องการสร้างความก้าวหน้าให้กับสังคมไทยดุจเดียวกับนายปรีดีและคณะราษฎร ผู้กล้าหาญเมื่อครั้งนั้น