คลัสเตอร์ ‘ยืน หยุด ขัง’ ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ ระบาด เชื้อกระจาย หลาย จว. ตอกย้ำความอยุติธรรม/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

คลัสเตอร์ ‘ยืน หยุด ขัง’

‘ปล่อยเพื่อนเรา’ ระบาด

เชื้อกระจาย หลาย จว.

ตอกย้ำความอยุติธรรม

 

กิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เรียกร้องปล่อยตัวแกนนำกลุ่มราษฎรและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งยังคงถูกกักขังอยู่ในเรือนจำ โดยยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ได้ออกมาสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม

เริ่มต้นจากกลุ่มพลเมืองโต้กลับไม่ถึง 10 คน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม บริเวณหน้าศาลฎีกา สนามหลวง ก่อนขยายวงกว้างออกไปยังหน้าที่ทำการศาล หน้าเรือนจำ และภายในสถานศึกษาหลายจังหวัด

จุดเด่นของกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” คือการยึดหลักสันติอหิงสา ภายใต้รูปแบบการยืนนิ่งเป็นเวลา 112 นาที ก่อนปรับลดเป็น 1 ชั่วโมง 12 นาที เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด ท้ายกิจกรรมจะมีการเปล่งเสียงตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา”

ไม่รุนแรง แต่ซึมลึก

จากหน้าศาลฎีกา สนามหลวง “ยืน หยุด ขัง” แยกตัวไปยังหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยคณะแม่ๆ และครอบครัวแกนนำกลุ่มราษฎร ในนาม “คณะราษมัม”

ตามมาด้วยกิจกรรม “อยู่ หยุด ขัง” โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมชุม และพรรควิฬาร์

ยังมี “ยืน หยุด ยุทธ์” โดยกลุ่มวีโว่ (We Volunteer) จัดกิจกรรมยืนชูสามนิ้ว เคารพธงชาติ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

ทุกแนวทาง ทุกกิจกรรมเคลื่อนไหว มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือเรียกร้องสิทธิการประกันตัวตามกระบวนการยุติธรรม ปล่อยแกนนำราษฎรและนักกิจกรรมทางการเมืองออกจากเรือนจำเพื่อให้ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

แม้ล่าสุดศาลได้พิจารณาให้ประกันตัวแกนนำราษฎรและแนวร่วมอย่างนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข

แต่กิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ทั้งบริเวณหน้าศาลฎีกา สนามหลวงและหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ประสานกับคณะราษมัมยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎรและแนวร่วมนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ

ที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรม

 

ย้อนไปยังจุดเริ่มต้นกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เกิดขึ้นโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ และนายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน

การยืนครั้งแรกเริ่มจากเพียงไม่กี่คนที่มายืนสงบนิ่ง 112 นาที บริเวณหน้าศาลฎีกา สนามหลวง วันที่ 22 มีนาคม จากนั้นก็ยืนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 1 เดือนกับอีก 1 สัปดาห์

ความสงบสันติอหิงสาได้กลายเป็นพลังดึงดูด

จากกิจกรรมจุดประกายเรียกร้องความยุติธรรมให้กับบรรดาแกนนำกลุ่มราษฎรและแนวร่วมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในเรือนจำ จากกลุ่มคนเพียงแค่หยิบมือ ได้ขยายวงกว้างออกไปดึงดูดคนรุ่นใหม่ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไป เข้าร่วม “ยืน”

สงบนิ่ง อย่างคึกคัก

“ยืน หยุด ขัง” กลายเป็นกิจกรรมต้นแบบ กระจายออกไปยังหลายจังหวัด ตามสถานศึกษา มหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ หน้าเรือนจำ หน้าที่ทำการศาลจังหวัด สำนักงานองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ นครปฐม เชียงใหม่ ลำปาง อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น เป็นต้น

บางคนก็เคลื่อนไหวแบบปัจเจก ด้วยการยืนหน้าบ้าน หรือแม้กระทั่งยืนในบ้านแล้วถ่ายรูปเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย ประกาศยืนหยัดเจตนารมณ์ “ปล่อยเพื่อนเรา”

จาก “ยืน หยุด ขัง” โดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ถ่ายโอนรูปแบบมายัง “คณะราษมัม”

กิจกรรมยืน หยุด ขัง ของคณะราษมัม ซึ่งนำโดยนางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และบรรดา “มัม” ของแกนนำคนอื่นๆ ทั้งแม่ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก แม่แอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ แม่ทนายอานนท์ นำภา แม่ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา พี่สาวรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ลูกสาวสมยศ พฤกษาเกษมสุข

“ยืน หยุด ขัง” เวอร์ชั่นคณะราษมัม เปิดตัวทำกิจกรรมครั้งแรก 17 เมษายน ด้วยการยืนสงบนิ่ง 1 ชั่วโมง 12 นาที บริเวณริมรั้วหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในมือถือภาพของลูกๆ พร้อมป้ายข้อความ “ปล่อยลูกแม่”

คณะราษมัมประกาศนัดรวมตัวทำกิจกรรมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทุกวันเสาร์ เวลา 17.00 น.

ขณะที่กิจกรรม “อยู่ หยุด ขัง” ยกระดับต่อยอดจาก “ยืน หยุด ขัง” เป็นการผนึกร่วมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมกับพรรควิฬาร์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดลำปาง

ทำกิจกรรมปักหลักค้างคืนตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับเพื่อนที่ถูกคุมขัง โดยใช้ชีวิต กิน นอน เรียนหนังสือ หน้าศาลฎีกาจนกว่าแกนนำราษฎรจะได้รับการประกันตัว

พร้อมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ “ยุติราชอยุติธรรม”

เพื่อส่งหนังสือเปิดผนึกไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาให้ยุติกระบวนการราชอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมของคดีทางการเมือง เพื่อยืนยันตามหลักการและเหตุผลว่าผู้ต้องหาต้องถูกสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน

โดยเชิญชวนประชาชนที่มา “ยืน หยุด ขัง” ร่วมลงชื่อ

 

ระหว่างกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ดำเนินไปอย่างคึกคัก

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 9 เมษายน ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ประกันและปล่อยตัวชั่วคราวนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ตีราคาประกัน 2 แสนบาท

ต่อมาวันที่ 23 เมษายน ศาลอาญาก็พิจารณาให้ประกันและปล่อยตัวชั่วคราวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน

โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานในคดีชุมนุมปักหมุดท้องสนามหลวง 19-20 กันยายน 2563 พนักงานสอบสวนรวบรวมเสร็จแล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้

ที่สำคัญ ในการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 5 เมษายน จำเลยยืนยันหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่กล่าวพาดพิงสถาบันกษัตริย์ และไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้เสื่อมเสียถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อีก

จึงให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ทำกิจกรรมที่ทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หากผิดสัญญาให้ปรับคนละ 200,000 บาท

ขณะเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ได้พิจารณาให้ประกันตัวนายพรชัย หนุ่มปกากะญอ อายุ 37 ปี ผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน

และวันที่ 23 เมษายน ศาลจังหวัดเชียงใหม่ก็มีคำสั่งให้ประกันและปล่อยตัวชั่วคราว น.ส.พรพิมล แม่ค้าขายของออนไลน์ อายุ 22 ปี ผู้ต้องหากระทำผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

กระนั้นก็ตามยังคงมีแกนนำราษฎรและนักกิจกรรมทางการเมืองยังถูกคุมตัวในเรือนจำ ไม่ว่าเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งทั้ง 2 คนประกาศอดข้าวทวงถามความยุติธรรมมาเกิน 1 เดือนแล้ว

ทนายอานนท์ นำภา, แอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ, นายปริญญา ชีวินกุลปฐม, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, นายพรหมศร วีระธรรมจารี และนายชูเกียรติ แสงวงศ์ หรือนุ้ก จัสติน

และที่น่ากังวลนอกเหนือจากการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิการประกันตัวคือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มลามเข้าไปในเรือนจำ ซึ่งล่าสุดพบว่า นายชูเกียรติ แสงวงศ์ หรือนุ้ก จัสติน เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด

โดยในจำนวนผู้สัมผัสใกล้ชิดกับนุ้ก จัสติน ก็คือ “เพนกวิน” กับ “แอมมี่” ถึงแม้ผลตรวจหาเชื้อรอบแรกจะออกมาเป็นลบ แต่ก็ต้องเข้าสู่มาตรการกักตัว เพื่อรอการตรวจซ้ำรอบสองในสัปดาห์หน้า

สำหรับเพนกวินแล้วเรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับครอบครัวและคนใกล้ชิดอย่างมาก เนื่องจากเพนกวินอดข้าวมานานเกิน 1 เดือน ทำให้ร่างกายอ่อนแรง อยู่ในขั้นวิกฤต หากติดเชื้อโควิดอาจเป็นอันตรายมาก จึงขอให้ศาลพิจารณาสิทธิการประกันและปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อออกมารับการรักษาภายนอกเรือนจำ

เพนกวินให้คนใกล้ชิดโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กหลังนุ้ก จัสติน ติดโควิด ทำให้ตนเองกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงไปโดยปริยาย โดยมีความกังวลและไม่ไว้วางใจการบริหารจัดการของราชทัณฑ์

เนื่องจากการแพร่ระบาดภายในคุกค่อนข้างรุนแรง และดำเนินมายาวนานกว่าที่รายงานในข่าวมาก

อย่างไรก็ตาม เพนกวินยืนยันการอดอาหารยังดำเนินต่อไป

 

ไม่ว่ากิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ หรือ “อยู่ หยุด ขัง” ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมกับพรรควิฬาร์ รวมถึง “คณะราษมัม” ล้วนน่าจับตา

เนื่องจากเป็นการเคลื่อนไหวบนหลักสันติอหิงสา อันเป็นจุดเด่น จุดแข็ง

พลังเสียงเรียกร้อง “ปล่อยเพื่อนเรา” ดังทะลุทะลวงเข้าไปเขย่ากระบวนการยุติธรรมจนสั่นสะเทือนไปทั้งระบบ

ถึงแม้ไม่มีใครรู้ได้ว่า การเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับแกนนำราษฎรและนักเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร

แต่อย่างน้อยสิ่งที่ “ยืน หยุด ขัง” ประสบความสำเร็จ คือการทำให้สังคมซึ่งอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิดไม่ลืมแกนนำกลุ่มราษฎร ไม่ลืมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ลืมรุ้ง เพนกวิน ทนายอานนท์ และเพื่อนคนอื่นๆ ที่ยังถูกขังอยู่ในเรือนจำ

ทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด