ฝ่ายค้านลับมีด-จองกฐิน เปิดสภาซักฟอก ‘บิ๊กตู่’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ฝ่ายค้านลับมีด-จองกฐิน

เปิดสภาซักฟอก ‘บิ๊กตู่’

 

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดขอเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายฝ่ายมุ่งเป้าไปที่การบริหารจัดการสถานการณ์ของรัฐบาลเพราะถือเป็นทั้งทางรอดและทางร่วงของประเทศไทย

การบริหารจัดการที่ดีจะทำให้ปัญหาของประเทศไม่ว่าจะด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่น

แต่หากการบริหารจัดการของรัฐบาลเกิดสะดุดจนผิดพลาด จะทำให้ปัญหาเรื่องต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นทวีความรุนแรงขึ้นจนยากรับมือ

และแน่นอนว่า จะกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศด้วย

‘ฝ่ายค้าน’ วันนี้แม้จะไม่ได้เป็นผู้บริหารจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็นิ่งเฉยไม่ได้ เพราะพิษโควิดกระทบทุกภาคส่วนในประเทศไม่ใช่เพียงใครคนใดคนหนึ่ง

เราจึงได้เห็นภาพฝ่ายค้านออกมาทั้งเสนอวามเห็น ทั้งช่วยแนะแนวทางแก้ปัญหา ทั้งเสนอทางช่วยเหลือไปยังรัฐบาลไม่เว้นวัน

นอกจากนี้ ยังเห็นการระดมสรรพกำลังลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน และประสานงานกับหน่วยงานรัฐตามกำลังที่จะสามารถทำได้

แต่ ‘ฝ่ายค้าน’ ก็คือฝ่ายค้าน นอกจากการเสนอแนวทางในการดำเนินการแก้ปัญหาให้กับทางรัฐบาลแล้วก็ไม่สามารถขยับตัวทำอะไรได้มากนัก เพราะไม่มีทั้งงบประมาณและอำนาจรัฐในการบริหารจัดการ

ทำให้ฝ่ายค้านคาดหวังกับการการเปิดประชุมสภาในสมัยที่จะถึงในเดือนพฤษภาคมนี้อย่างมาก

เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะเสนอความเห็นให้แก่ผู้มีอำนาจในฝ่ายบริหารทางตรงได้

นอกจากนี้ สภายังเป็นกระบอกเสียงที่ทำให้ปัญหาของประชาชนถูกถ่ายทอดให้เสียงดังขึ้นด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ‘ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร’ ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เปิดหน้าจองกฐินซักฟอกรัฐบาลไว้ล่วงหน้า โดยระบุว่า เรื่องวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้ใจแน่ๆ

ซึ่งรัฐบาลที่นำโดย ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่เป็นทั้งนายกฯ และรัฐมนตรีว่ากากรระทรวงกลาโหมที่ดูแลเรื่องความมั่นคงทั้งหมด และยังเป็น ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. บริหารล้มเหลว ปล่อยให้การแพร่ระบาดลุกลามใหญ่โต

ในสมัยประชุมที่จะถึงนี้ เชื่อว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านอาจจะเสนอญัตติตามมาตรา 152 ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ

หรืออาจจะถึงขั้นเปิดอภิปรายตามมาตรา 151 เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจก็ได้

 

ขณะที่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีท่าทีตอบรับกับแนวคิดของรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเช่นกัน

แต่เป็นการตอบรับแบบแบ่งรับแบ่งสู้ เพราะต้องรอคุยกับ ส.ส.ของพรรคก่อน โดยเจ้าตัวบอกว่า “เราคงต้องขอประชุมกันก่อน แต่ไม่น่าจะมีใครขัดอะไรถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับที่สามารถทำได้ การมีฝ่ายค้านคอยถ่วงดุล และคอยดูการบริหารจัดการของนายกฯ ในช่วงที่มีวิกฤตแบบนี้ก็ไม่ได้ขัดข้อง แต่อย่างไรก็ตาม เรามีอีก 2 เรื่องที่สำคัญคือ พ.ร.บ.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทที่ค้างท่อเยอะมาก ระบบสาธารณสุขมีเวลาเตรียมตัวเป็นปีๆ ถ้าเตรียมบุคลากร เตรียมเครื่องมือ โรงพยาบาลสนาม และวัคซีนให้พร้อม ประเทศอาจจะไม่มาถึงจุดนี้ได้ อีกเรื่องคือ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565”

“เท่าที่ดูเบื้องต้นยังผิดฝาผิดตัว ใช้งบประมาณที่จำกัดอย่างผิดที่ ทั้งที่การใช้เงินทุกบาทต้องไปทำให้ช่องว่างทางสังคมแคบลง และฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศไทยไปต่อได้ แต่งบประมาณที่เห็นคือ งบฯ กลาโหมยังเพิ่มขึ้น”

“ดังนั้น แม้ข้อเสนอของคุณยุทธพงศ์จะไม่ได้รับการตอบรับทันที เพราะข้อบังคับ หรือข้อใดก็แล้วแต่ 2 อาทิตย์เมื่อเปิดประชุมสภามา พรรคก้าวไกลเราก็เตรียมขุนพลที่จะถล่มรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับโควิดอยู่แล้ว”

 

ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ อาทิ พรรคเพื่อชาติ ‘นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์’ ประธานที่ปรึกษาและประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ ตอบรับความคิดที่จะให้มีการเปิดซักฟอกดังกล่าวว่า เห็นด้วย เพราะเห็นว่าประเทศไปไม่ไหวแล้ว จำเป็นที่จะต้องชี้ให้ประชาชนเห็นว่าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ลุแก่อำนาจจริงๆ

ด้านพรรคประชาชาติ ‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง’ เลขาธิการพรรคประชาชาติ ก็มีท่าทีเห็นด้วย โดยระบุว่า พรรคประชาชาติเองก็เห็นว่ารัฐบาลบริหารประเทศผิดพลาดย่างมาก แต่พรรคเรามี ส.ส.น้อย การดำเนินการยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงเป็นเรื่องของพรรคใหญ่ที่จะดำเนินการ

ซึ่งหากทางพรรคใหญ่เห็นว่าต้องดำเนินการเราก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องประชุมร่วมกันในพรรคร่วมฝ่ายค้านก่อนเพื่อกำหนดแนวทางร่วมกัน

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ‘ฝ่ายค้าน’ ได้เรียกประชุมกันผ่านระบบซูมเพื่อระดมความคิดเห็นเป็นครั้งแรกหลังปิดสมัยประชุมสภา โดยเรื่องหลักๆ ที่มีการพูดคุยกันคือ การแก้ปัญหาโควิด การให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และงบประมาณปี 2565 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในสมัยประชุมเดือนพฤษภาคม

หลังการประชุมร่วมกันได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมของ 6 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ความว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองและเข้าบริหารประเทศ แต่การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับล้มเหลวเกือบทุกด้าน สร้างปัญหา ผลกระทบต่อประเทศ และสร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤตจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า เพื่อระงับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องยุติบทบาทในการบริหารประเทศโดยทันทีด้วยการลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้มีรัฐบาลมืออาชีพ มีความรู้ความสามารถ ไม่ยึดติดอยู่กับอำนาจและผลประโยชน์เข้ามาบริหารประเทศ นอกจากนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านยังได้ร่วมกันให้ฝ่ายกฎหมายของแต่ละพรรครวบรวมข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายเพื่อดำเนินคดี พล.อ.ประยุทธ์

โดยจะยื่นหนังสือขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีความเห็น กรณีมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 53 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงโดยได้ปล่อยปละละเลย ไม่ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้เชื้อโรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดใหญ่ ประชาชนต้องล้มป่วยและเสียชีวิตไปจำนวนมากด้วย

ความจริงแล้วระยะเวลาอีกประมาณ 1 เดือน ก่อนเปิดประชุมสมัยประชุมสภานั้น ถือว่าเป็นแก็ปเวลาที่นานพอสมควรในทางการเมือง วันนี้รัฐบาลเจอปัญหารอบด้าน ทั้งปัญหาที่เกิดกับประชาชน ปัญหาที่เกิดกับเอกชน และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเองในพรรคร่วมรัฐบาล

ถ้านายกฯ เกิดเอ็กซิเดนต์จากการบริหารงานจนเกิดอาการไปไม่ไหว แล้วตัดสินใจทำตามข้อเรียกร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

วันนั้นอาจจะไม่ต้องเปิดอภิปรายไม่ไว้วางในนายกฯ ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ได้