อาเซียนซัมมิต กับวิกฤตเมียนมา สำเร็จหรือล้มเหลว?/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

อาเซียนซัมมิต

กับวิกฤตเมียนมา

สำเร็จหรือล้มเหลว?

 

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “อาเซียน” เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา ที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย จะยังคงเป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาว่าด้วยวิกฤตเมียนมาอยู่ต่อเนื่องต่อไป

ตราบเท่าที่สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกของไทย ยังไม่เปลี่ยนแปลง

คำถามที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดก็คือ การ “ปรึกษาหารือ” ซึ่งกันและกันตามประสา “คนในครอบครัวอาเซียน” กันเอง ครั้งนี้สำเร็จหรือล้มเหลวกันแน่?

คำตอบมักจะเป็นไปในทำนองว่า ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากมุมไหน บนพื้นฐานของอะไร เสียมากกว่าที่จะเป็นคำตอบสำเร็จรูปในลักษณะที่ว่า เป็นผลลัพธ์ที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้เกิดขึ้น หรืออะไรทำนองนั้น

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ เมื่อมองจากมุมของมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่เป็นตัวตั้งตัวตีของการประชุมหนนี้ผู้หนึ่ง การประชุมหนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ

นายกรัฐมนตรียัสซินมองว่า แค่ทำให้คนอย่าง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ยอมรับปากต่อที่ประชุมว่าจะยุติความรุนแรงในทันที ถือเป็น “ความสำเร็จ” อย่างยิ่งแล้ว

โดยไม่จำเป็นต้องไปคุ้ยแคะแกะเกา หรือก่นด่าประณามว่าใครกันคือผู้ที่ก่อความรุนแรงขึ้นมา

แต่แน่นอน หากมองในมุมขององค์กรภาคประชาสังคมในเมียนมากว่า 400 องค์กร ที่มองเห็นความผิดพลาดใหญ่หลวงของการประชุมหนนี้ซึ่งไม่มีแม้แต่ “ตัวแทนที่ชอบด้วยกฎหมาย” ของประชาชนชาวเมียนมาเข้าร่วมด้วย ตั้งแต่แรกเริ่ม การประชุมหนนี้ก็ต้องถือว่า “ล้มเหลว”

เพราะผลลัพธ์ของการประชุม ไม่ได้กดดันหรือแม้แต่เอ่ยถึงแม้แต่น้อยว่า ให้รัฐบาลทหารเมียนมา “คืนอำนาจ” การปกครองให้กับรัฐบาลพลเรือนที่ถูกรัฐประหาร และปัจจุบันนี้รวมตัวกันขึ้นเป็น “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ “เอ็นยูจี”

เพราะเป็นการมองแบบเล็งผลเลิศ ทั้งๆ ที่รู้ดีว่า แต่ไหนแต่ไรมา รัฐบาลทหารและกองทัพเมียนมาไม่เคยทำตัวเป็น “นักเรียน” หันก้นให้ “ครู” ตีโดยง่ายให้เห็นกันมาก่อนเลย

ที่สำคัญที่สุด ในบรรดาผู้นำอาเซียนประดามี ไม่มีใครมีบารมี มีคุณสมบัติในระดับที่เหมาะสมกับการเป็น “ครู” เลยสักคน

ผู้นำที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในบรรดา 10 ชาติอาเซียน อย่างสมเด็จอัครมหาบดีเดโช ฮุน เซน ก็หนักไปในทางเป็น “นักเรียนโข่ง” ประจำห้องมากกว่าอย่างอื่น

 

ในบทวิเคราะห์ของ “รอยเตอร์ส” เขียนโดยภาณุ วงศ์ชะอุ่ม กับเคย์ จอห์นสัน เผยแพร่เมื่อ 26 เมษายนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ระดับ “ผู้สันทัดกรณี” หลายคน ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ก่อนหน้าการประชุมหนนี้ มีน้อยคนมากที่ “คาดหวังไว้สูง” ว่าผลของการประชุมจะก่อให้เกิด “ความคิดริเริ่มที่จริงจัง” อันจะยังผลให้ “ยุติการนองเลือดในเมียนมา” ขึ้นได้

การปรากฏ “ฉันทามติ 5 ประการ” ขึ้นเมื่อสิ้นสุดการประชุม จึงนับได้ว่าเป็น “เซอร์ไพรส์” ประการหนึ่ง

ที่น่าทึ่งก็คือ สิ่งที่ปรากฏขึ้นดังกล่าวนั้น ถือเป็นการ “ยืด” หลักการ “ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของชาติสมาชิก” ที่อาเซียนยึดกุมมานานปีดีดัก ออกไปจน “ตึงถึงขีดสุด” จวนจะขาดผึงอยู่รอมร่อแล้ว

กันตธีร์ ศุภมงคล อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศไทยบอกกับรอยเตอร์สว่า ทั้งการประชุมและถ้อยแถลงฉันทามติ “ตรงไปตรงมา” มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาของอาเซียน โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะ “ระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น” ในเมียนมาเป็นปัจจัยสำคัญ

ไมเคิล วาติคิโอติส อดีตผู้สื่อข่าวมือเก๋าที่ผันตัวมาทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการสานเสวนาทางมนุษยธรรม ประจำภูมิภาคเอเชีย บอกว่า ครั้งนี้ “เป็นครั้งแรก” ที่อาเซียนโยน “ความลังเลที่จะแทรกแซง” ทิ้งไว้ด้านข้าง “อย่างแท้จริง”

 

แต่บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์สตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยเช่นกันว่า “ความแตกแยก” ภายในอาเซียนเอง ทำให้แผนสันติภาพใดๆ ที่จะมีขึ้นมีจุดอ่อนตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

“ในขณะที่มาเลเซีย, สิงคโปร์ และไทย ล้วนแต่ออกถ้อยแถลงของตัวเองในแนวทางแข็งกร้าวไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง และโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียถึงกับเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง สมาชิกอาเซียนที่เหลือ รวมทั้งเวียดนามและกัมพูชา มุ่งสงบปากสงบคำเสียมากกว่า”

กอบศักดิ์ ชุติกุล อดีตเอกอัครราชทูต อดีต ส.ส. ให้ความเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้นำอาเซียนจัดการจนมีฉันทามติขึ้นได้ ถือเป็น “เซอร์ไพรส์ที่น่าพอใจ” แล้ว แต่อดตั้งข้อสังเกตเอาไว้ไม่ได้ว่า “ขณะที่ประชุมกันอยู่ การฆ่าและการลักพาตัวก็ยังเกิดขึ้นอยู่ต่อไป”

โจชัว เคอร์แลนท์ซิก นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ประจำสภาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในวอชิงตัน ถึงกับ “ยินดีต้อนรับ” การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของอาเซียน ที่ “ออกห่างจากพฤติกรรมเดิมๆ” ไปเลย

ก่อนปิดท้ายด้วยการย้ำว่า

“ผมยังมีความหวังสุดๆ อยู่ว่า สิ่งนี้น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเมียนมา”