วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ : อาจจะต้องเลื่อนการเปิดภูเก็ตออกไปก่อน

ในช่วงของการประชุม ASEAN Summit ในปลายสัปดาห์นี้ วันนี้ประเทศสมาชิกมีการประชุมย่อยเรื่องการเปิดการเดินทางภายในกลุ่มอาเซียน ความพยายามนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของนักธุรกิจ และ นักการเมืองทั่วโลกที่จะพลิกฟื้นความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งมีเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากที่สุดในภูมิภาค

คนสำคัญที่ทุกคนเงี่ยหูฟัง คือ ตัวแทนองค์การอนามัยโลก ข้อสรุปของท่านนี้ก็คือ อย่าใช้พาสปอร์ตวัคซีน (vaccine passport) เป็นตัวจำกัดการเดินทางเพราะยังไม่มีความรู้มากพอว่าผลของการฉีดวัคซีนได้ผลอย่างไรในการป้องกันการแพร่หรือรับโควิดอันเกิดจากการเดินทางข้ามประเทศ คำพูดนี้สะท้อนท่าทีทางการทูตที่ไม่ห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ แต่ทำลายความฝันของผู้เข้าร่วมประชุมและนักธุรกิจในอาเซียนว่ามีวัคซีนแล้วการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวง่าย ๆ ทั้งนี้เพราะพาสปอร์ตวัคซีนก็ยังไม่เป็นหลักประกันด้านความปลอดภัยของผู้เดินทางและประชากรเจ้าภาพ วัคซีนจึงยังมีบทบาทจำกัดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

ไม่ว่าองค์การอนามัยโลกจะห้ามอย่างไร กระแสความต้องการเปิดการท่องเที่ยวของผู้จัดประชุมก็ยังสูง เรื่องที่พูดกันมาก คือ เรื่องการใช้ไอทีทำให้พาสปอร์ตวัคซีนเป็นระบบดิจิตอลซึ่งด่านเข้าเมืองระหว่างประเทศใช้ตรวจผู้เข้าเมือง เพราะพาสปอร์ตวัคซีนแบบเล่มสมุดหรือกระดาษปลอมแปลงได้ง่าย การส่งผ่านข้อมูลส่วนบุคคลจากประเทศหนึ่งไปประเทศหนึ่งก็เป็นข้อตกลงที่ต้องทำกันก่อนจะเปิดการท่องเที่ยว

อีกด้านหนึ่ง ผมค้นดูข้อมูลก็พบว่าประเทศมัลดีฟส์ที่หลุดพ้นความยากจนด้วยธุรกิจการท่องเที่ยวมีอัตราการฉีดวัคซีนประชากรของตนในปัจจุบันได้สูงถึง 65% ของประชากร (เข็มแรก) และมีอัตราการใช้ห้องพักของโรงแรม/รีสอร์ทที่สูงถึง 56% ในฤดูการท่องเที่ยวเมื่อปลายปี 2020 แต่โครงสร้างทางภูมิศาสตร์ของที่พักในมัลดีฟส์ต่างกับภูเก็ตอย่างมาก

รัฐบาลมัลดีฟส์ไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเมืองหลวงกรุงมาเล (Male) ซึ่งมีความยาวเพียงกิโลเมตรเศษ ๆ และมีประชากรหนาแน่น นักท่องเที่ยวต้องเดินทางจากสนามบินซึ่งเป็นเกาะที่สร้างขึ้นจากการขุดปะการังใต้น้ำ ตรงไปยังที่พักในเกาะเล็กเกาะน้อยซึ่งอยู่กระจัดกระจายออกไป โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะรับเชื้อและแพร่เชื้อให้แก่ประชาชนทั่วไปน่าจะจำกัดมาก ภูเก็ตเราจะทำอย่างนั้นได้มากน้อยเพียงไร

ผมฟังการประชุมแล้วคิดถึงภูเก็ตที่รัฐบาลทุ่มการฉีดวัคซีน เพื่อช่วยเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ทันวันที่ 1 กค. ที่ประกาศไว้ ผมสงสัยว่าการเปิดจริง ๆ อาจจะเลื่อนออกไปด้วยเหตุผลหลายอย่าง

ประการแรก สถานการณ์โควิดในประเทศไทยและที่ภูเก็ตเอง เหลือเวลาอีกเพียงห้าสัปดาห์ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับโควิดขาขึ้น และทีภูเก็ตเองก็ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลสองร้อยกว่าราย และผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวานนี้มี 13 คน ถ้าจะให้ปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวภูเก็ตควรปลอดจากผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างน้อย 1 เดือน หรือ สองเท่าของระยะฟักตัวของโรค เราจะกดตัวเลขให้เหลือศูนย์ภายในสัปดาห์นี้น่าจะทำไม่ได้ เพราะทั่วประเทศยังมีแต่เพิ่ม ภูเก็ตจะรอดได้อย่างไร วัคซีนฉีดที่ภูเก็ตแล้วป่านนี้คงจะเป็นแสนรายและคงจะเต็มเป้าในไม่ช้า เพราะวันนี้วัคซีนล็อตใหม่เพิ่งมาถึงประเทศไทย แต่กว่าที่วัคซีนจะกดการระบาดได้ต้องใช้เวลา อย่างน้อยเป็นเดือน คาดว่าวันที่ 1 กค. ก็ยังจะมีผู้ป่วยใหม่ในภูเก็ตอยู่ การมีการระบาดในประเทศและในพื้นที่ภูเก็ตเองอาจจะไม่ปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยว เราต้องรับผิดชอบอย่างน้อยทางศีลธรรม ถ้าเขาเลือกที่จะมาเขาต้องรับรู้ความเสี่ยง และเตรียมการจัดการความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าอย่างดี

จะให้ภูเก็ตปลอดเชื้อโควิดเพื่อให้นักท่องเที่ยวปลอดภัย นอกจากจะฉีดวัคซีนในประชากรภายในภูเก็ตแล้ว ยังต้องจำกัดการเดินทางเข้าออกของประชากรทั้งภายในและภายนอกเพื่อไม่ให้มีคนนำเชื้อใหม่เข้า ถ้าไม่จำกัด การแพร่เชื้อจะไม่สามารถสะเด็ดน้ำได้ การเลือกจำกัดเฉพาะบางจังหวัดไม่น่าจะเพียงพอถ้าเราต้องการประสิทธิผลสูง แต่การจำกัดการเดินทางก็จะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ เพราะฉะนั้น คงจะทำไม่ได้ง่าย ๆ

เอาแนวคิดของการประชุมข้างบนมาประยุกต์กับกรณีภูเก็ต เราจะมีท่าทีและปฏิบัติการต่อพาสปอร์ตวัคซีนของนักท่องเที่ยวอย่างไร เราจะได้ข้อมูลจากประเทศต้นทางที่เป็นระบบดิจิตอลที่เชื่อถือได้หรือเปล่า หรือเราจะเชื่อหลักฐานการฉีดวัคซีนจากกระดาษที่นักท่องเที่ยวแสดงให้ ตม. ของเราที่สนามบินก็เป็นการเพียงพอแล้ว การติดต่อต่อแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลระบบการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ทำไปแล้วกับประเทศไทยบ้าง ผลเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบที่จะแจ้งข่าวให้ประชาชน นอกจากนี้ อย่างที่องค์การอนามัยโลกเตือนหลายครั้ง ข้อมูลเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนต่อการเดินทางข้ามประเทศยังไม่มี ถ้าเราอาสาจะเป็นประเทศที่ทดลองว่านักท่องเที่ยวที่มีหลักฐานการฉีดวัคซีนจะไม่แพร่เชื้อในประเทศเจ้าบ้าน ก็ต้องมีกลุ่มวิจัยและฐานข้อมูลที่ดี เราจะจำกัดไม่ให้นักท่องเที่ยวออกนอกภูเก็ตหรือไม่ จะได้ผลหรือ ถ้านักท่องเที่ยวแพร่เชื้อที่ดื้อวัคซีนของเราเราจะทราบอย่างรวดเร็วได้อย่างไร

โดยสรุป ภูเก็ต ยังอยู่ใต้บริบททางระบาดวิทยาของโควิดและการควบคุมโรคในประเทศไทย ตามข้อมูลขณะนี้บริบทของเราน่าจะยังไม่พร้อมนัก ผู้รับผิดชอบต้องเร่งในภูเก็ตปลอดโควิดหนึ่งเดือนก่อนเปิด นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ต้องพิจารณาความจำเป็นที่จะกำจัดการเดินทางเข้าออกภูเก็ตโดยคนไทยเองเพื่อเสริมการควบคุมโรคให้ได้ผล

ประเทศไทยต้องพร้อมทางด้านพาสปอร์ตวัคซีนแบบดิจิตอลโดยร่วมมือกับประเทศต้นทาง และต้องกำกับติดตามผลกระทบด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการแพร่โรคของผู้เดินทางในระหว่างที่เขาอยู่ประเทศไทย