รีวิวแบบไหนทรงพลังที่สุด / Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

รีวิวแบบไหนทรงพลังที่สุด

 

ไม่รู้ว่าคุณผู้อ่านเป็นเหมือนกันหรือเปล่า เกือบทุกครั้งที่ฉันเดินเข้าร้านหนังสือ หยิบเล่นนั้น พลิกดูปกหลังเล่มนี้ก็จะอดรนทนไม่ได้ที่จะต้องคว้าสมาร์ตโฟนขึ้นมาเสิร์ชหารีวิวของหนังสือเล่มนั้นๆ

แต่ฉันก็เชื่อว่ามีหลายคนเป็นแบบนี้แหละ ท่ามกลางหนังสือมากมายและงบประมาณในกระเป๋าที่จำกัด การเสิร์ชหารีวิวหนังสือบนอินเตอร์เน็ตก่อนก็น่าจะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบที่สุดจริงไหมคะ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นก็คือเวลาฉันเสิร์ชหารีวิวของหนังสือภาษาอังกฤษบนร้านขายหนังสือออนไลน์อย่างบนเว็บไซต์ Amazon ก็คือหนังสือแทบทุกเล่มมีรีวิวที่ค่อนข้างดี ดีไปหมดทุกเล่มจนบางครั้งฉันก็ยอมแพ้ เก็บมือถือ และใช้วิจารณญาณบวกสัญชาตญาณตัวเองตัดสินแทน

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับทุกคนโดยมีผลการศึกษาของ Northwestern University ที่ออกมายืนยันเรื่องนี้แล้ว

กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนี้ได้เก็บข้อมูลรีวิวและยอดขายของหนังสือกว่า 1.6 ล้านเล่ม ภาพยนตร์ 2,400 เรื่อง และร้านอาหารอีก 1,000 แห่งเพื่อที่จะดูว่ารีวิวส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าอย่างไรบ้าง

สิ่งแรกที่พวกเขาสังเกตเห็นก็คือรีวิวส่วนใหญ่มักจะเป็นรีวิวที่เป็นด้านบวกสุดๆ

อย่างบน Amazon มีค่าเฉลี่ยของดาวที่รีวิวให้กันอยู่ที่ 4.2 เต็ม 5 ดาวเลยทีเดียว

ซึ่งฉันก็ไม่แปลกใจเลยเพราะทุกครั้งที่เสิร์ชหาหนังสือเล่มไหนก็น้อยมากๆ ที่จะเห็นคะแนนที่น้อยกว่า 4 ดาว

จนกลายเป็นนิสัยของฉันไปเลยว่าถ้าฉันไม่ค่อยแน่ใจว่าจะซื้อหนังสือเล่มนี้ดีไหม แล้วเปิดรีวิวพบว่าคะแนนไม่ถึง 4 ดาว ฉันก็จะวางมันกลับลงไปบนชั้นแล้วเริ่มกรีดนิ้วไล่หาเล่มใหม่

ไม่ใช่แค่บน Amazon เท่านั้น แต่ทีมนักวิจัยนี้พบว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็มีแนวโน้มเป็นแบบเดียวกัน

ตัวอย่างที่ฉันพบเห็นบ่อยๆ ในชีวิตประจำวันของตัวเองก็คือร้านอาหารที่อยู่บนแอพพ์เดลิเวอรี่ทั้งหลาย ว่ากันตามตรงฉันไม่เคยเห็นร้านไหนได้ค่าเฉลี่ยน้อยกว่า 4 ดาวเลยเหมือนกัน

บางร้านที่ได้มากกว่า 4 ดาวแต่พอสั่งมาลองกินจริงๆ ทุกคนบนโต๊ะอาหารก็เห็นพ้องต้องกันว่าดาวที่แท้จริงที่ร้านนั้นควรจะได้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 ดาวเท่านั้นแหละ

ทำให้ฉันและหลายๆ คนก็น่าจะเลิกดูค่าเฉลี่ยดาวบนแอพพ์เหล่านั้นกันไปแล้ว

ถ้าจะสั่งอาหารจากร้านที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนก็ต้องทำใจไว้เลยว่ามันคือการเสี่ยงดวงล้วนๆ เพราะรีวิวบนแอพพ์นั้นไม่ได้ให้ความมั่นใจอะไรได้เลย

 

การดูรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อได้กลายเป็นพฤติกรรมติดตัวคนรุ่นใหม่ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในหมวดหมู่อะไร ชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่แค่ไหน การได้เปิดหารีวิวก่อนก็มักจะทำให้เราอุ่นใจได้เสมอ แต่ถ้ารีวิวล้วนมีค่าเฉลี่ยเป็นบวกไปเสียหมด แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรกันล่ะว่าของชิ้นไหนดีจริง

นักวิจัยทีมนี้เขาบอกไว้อย่างนี้ค่ะ การจะแยกแยะว่ารีวิวไหนน่าจะดีจริงเราอาจจะดูกันที่คะแนนเฉลี่ยอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องอ่านด้วยว่ารีวิวแต่ละชิ้นนั้นเขาพูดว่าอย่างไรกันบ้าง

อย่างการจะซื้อหนังสือสักเล่ม รีวิวที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของเราจะเป็นรีวิวที่ผู้เขียนใส่ความคิดเห็นที่ส่วนตัวสุดๆ ลงไป

อย่างการบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกที่กระเจิดกระเจิงของตัวเองหลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนั้นๆ

การเล่าว่าหนังสือทำให้ระเบิดเสียงหัวเราะออกมา ร้องไห้อย่างบ้าคลั่ง หรือทำให้นึกถึงความหลังครั้งไหนในชีวิตบ้าง

รีวิวที่ผู้เขียนเทอารมณ์ของตัวเองออกมานี่แหละจะเป็นรีวิวที่ทรงพลังที่สุดสำหรับผู้ที่ได้อ่าน

การใช้อารมณ์รีวิวกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียรุ่นใหม่ อย่างบน TikTok แฮชแท็ก #BookTok ที่เป็นคลิปสั้นๆ ซึ่งผู้ใช้รีวิวหนังสือที่ตัวเองอ่านได้กลายเป็นแฮชแท็กที่มีคนให้ความสนใจอย่างล้นหลาม

คนทำคลิปวิดีโอในแฮชแท็กนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Z ที่ไม่เกรงกลัวหรือเขินอายที่จะระบายความรู้สึกของตัวเองหลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบ

บางคนร้องห่มร้องไห้ บางคนกรีดร้องสุดเสียง หรือโยนหนังสือทิ้งอย่างหัวเสียเพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองคิดอย่างไรกับหนังสือเล่มนั้นๆ

ซึ่งอารมณ์รุนแรงในระหว่างรีวิวนี่แหละที่กลายเป็นตัวผลักดันยอดขายให้หนังสือจนสำนักพิมพ์ต้องออกมาแสดงความประหลาดใจว่าไม่เคยเห็นยอดขายหนังสือพุ่งพรวดพราดเพราะคลิปรีวิวแบบนี้มาก่อน

ฉันลองกดเข้าไปดูบางคลิปแล้วก็ต้องตกใจเหมือนกันว่า โอ้โห นี่เป็นการรีวิวหนังสือที่อีโมชั่นนอลสุดๆ บางคนอ่านไปถึงท่อนที่กินใจตัวเองมากๆ ก็หยุดอ่านแล้วมาถ่ายคลิปสั้นๆ ร้องไห้ฟูมฟายว่าตัวละครในหนังสือรักกันแค่ไหน

บางคนก็ถ่ายคลิปแบบเร่งเวลาเพื่อให้ดูว่าตัวเองนั่งๆ นอนๆ อ่านหนังสือเล่มที่อยู่ในมือนานติดกันเกือบ 4 ชั่วโมงจนจบเล่มโดยที่ไม่ลุกไปไหนเลย และในคลิปก็เห็นว่าร้องไห้ไปทั้งหมด 3 ครั้ง

บางคนถ่ายคลิปสั้นโชว์หนังสือที่อยู่ในมือพร้อมเพลงประกอบที่แสนเศร้าจนฉันแทบจะร้องไห้ตาม

ทั้งๆ ที่ฉันยังไม่รู้แม้แต่เรื่องย่อของหนังสือเหล่านั้นด้วยซ้ำ!

 

ไม่มีใครดีใจกับเทรนด์นี้มากไปกว่าสำนักพิมพ์อีกแล้ว

สำนักพิมพ์หลายแห่งในต่างประเทศออกมาแสดงความดีอกดีใจกันยกใหญ่ที่ในที่สุดการอ่านหนังสือก็กลายเป็นเทรนด์ฮิตบนโซเชียลมีเดียกับเขาเสียที

หลายๆ แห่งบอกว่ายอดขายหนังสือดีขึ้นมากนับตั้งแต่คนเริ่มฮิตทำรีวิวหนังสือแบบใส่อารมณ์เว่อร์วัง

แน่นอนว่าหลายๆ ค่ายใช้โอกาสนี้ในการโปรโมตหนังสือใหม่ๆ ด้วยการส่งหนังสือฟรีไปให้อินฟลูเอนเซอร์วัยรุ่นได้อ่าน หรือบางทีก็จ่ายเงินค่ารีวิวเพิ่มไปให้ด้วย

ค่ายไหนเก่งหน่อยก็เกาะกระแสแฮชแท็กนี้แล้วรวบรวมหนังสือยอดฮิตเอาไว้ให้โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินใครเลยสักบาท

ดูเหมือนกับว่าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok ที่คนฮิตทำคลิปรีวิวใส่อารมณ์แบบนี้ ความเศร้าดูจะเป็นอารมณ์ที่ขายได้ง่ายและขายได้ดีที่สุด เพราะคลิปส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นคนที่ถ่ายตัวเองร้องไห้น้ำตาเป็นกระบุงโกยกันทั้งนั้น

จะอะไรก็ตาม เรื่องที่น่าดีใจก็คือเทรนด์การอ่านหนังสือได้จุดติดแล้วบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ทำให้ร้องไห้หรือหัวเราะ แต่การได้เริ่มอ่านก็ดีเสมอ

 

ไม่รู้เหมือนกันว่าเทรนด์การรีวิวแบบแสดงอารมณ์สุดขั้วแบบนี้จะไปฮิตกับสินค้าประเภทอื่นอีกบ้างหรือเปล่า ที่ติดร่างแหนี้ไปด้วยกันแน่ๆ ก็คงเป็นหนังหรือเพลงที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์แบบเดียวกันนี้ได้

ว่ากันตามตรง รีวิวที่นักรีวิวทุ่มสุดตัวเพื่อแสดงความชอบหรือไม่ชอบต่อสินค้าชิ้นใดชิ้นหนึ่งถึงขั้นแทบจะจิกทึ้งผมตัวเองหรือคว้าลูกกะตาออกมาปาใส่กล้องขนาดนี้

ถ้าดูแล้วไม่มีอารมณ์ร่วมจนต้องรีบวิ่งออกไปซื้อบ้างก็ให้มันรู้ไป