คนมองหนัง : ปิดฉาก ‘กม.เซ็นเซอร์หนัง’ อายุกว่า 100 ปี ในอิตาลี

คนมองหนัง

 

ปิดฉาก ‘กม.เซ็นเซอร์หนัง’

อายุกว่า 100 ปี ในอิตาลี

 

หนึ่งในประเทศที่ศิลปะ/สื่อภาพยนตร์ถูกควบคุมโดยรัฐอย่างเข้มข้นมาต่อเนื่องยาวนาน ก็คือประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นต้นธารของหนังเรื่องสำคัญๆ และคนทำหนังผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลกจำนวนมากมาย ตลอดจนเทศกาลหนังอันดับต้นๆ เช่น เทศกาลภาพยนตร์เวนิส

นับเป็นเรื่องน่าทึ่งและตลกร้ายไม่น้อย ที่อิตาลีเพิ่งจะได้ฤกษ์ประกาศยกเลิก “กฎหมายเซ็นเซอร์ภาพยนตร์” ซึ่งเริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1913 หรือกว่าร้อยปีก่อน (พร้อมๆ กับจุดกำเนิดของ “ภาพยนตร์”) ในเดือนเมษายนปีนี้นี่เอง

กฎหมายเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ฉบับเก่าของอิตาลีได้เปิดทางให้ผู้ใช้อำนาจรัฐสามารถสั่ง “ตัดฉาก” หรือกระทั่ง “แบนหนัง” ทั้งเรื่อง ด้วยเหตุผลทางด้านศีลธรรม, ศาสนา และการเมือง

มีการสำรวจพบว่าตั้งแต่ปี 1944 เป็นต้นมา มีหนังอิตาเลียน 274 เรื่อง หนังอเมริกัน 130 เรื่อง และหนังจากประเทศอื่น อีก 321 เรื่อง ที่ถูก “แบน” ด้วยกฎหมายนี้

ทั้งยังมีหนังอีกกว่าหมื่นเรื่องที่ถูกสั่งให้ “แก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหา” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

ย้อนไปในช่วงทศวรรษ 1970 มีภาพยนตร์เรื่องสำคัญจำนวนไม่น้อยที่โดน “คำสั่งห้ามฉาย” โดยกฎหมายเซ็นเซอร์หนังของอิตาลี

ไม่ว่าจะเป็น “Last Tango in Paris” ภาพยนตร์แนวอีโรติกดราม่าเมื่อปี 1972 ของ “แบร์นาร์โด แบร์โตลุชชี” ซึ่งได้เข้าชิงสองรางวัลออสการ์

โดยฟิล์มทุกก๊อบปี้ของหนังเรื่องนี้ต้องถูกทำลายลงด้วยคำสั่งของรัฐ และมีฟิล์มเพียงสามฉบับที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในฐานะ “หลักฐานของการก่ออาชญากรรม”

ขณะที่ “Salò or the 120 Days of Sodom” หนังเมื่อปี 1975 ของ “ปิแอร์ เปาโล ปาโซลินี” ที่เผยให้เห็นความโหดเหี้ยมในยุคฟาสซิสต์ ซึ่งเคยได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์อยู่พักหนึ่ง ก็ถูกสั่ง “แบน” เมื่อเดือนมกราคม 1976 (ขณะที่ตัวปาโซลินีเองถูกลอบสังหารในปลายปี 1975)

กระทั่งภาพยนตร์ไซไฟเรตเอ็กซ์เรื่อง “A Clockwork Orange” (1971) ของ “สแตนลีย์ คูบริก” ก็หนีไม่พ้นการโดน “แบน” ในอิตาลี

 

ในกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งเข้ามาแทนที่กฎหมายเซ็นเซอร์ฉบับเดิม กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายและจัดสร้างภาพยนตร์ของอิตาลี จะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่วมกันกำหนด “เรตภาพยนตร์” ที่เหมาะสมสำหรับผู้ชมกลุ่มอายุต่างๆ

ทั้งนี้ จะมีคณะกรรมการจำนวน 49 คน อันประกอบด้วยประธานที่แต่งตั้งโดยรัฐบาล และตัวแทนบุคลากรจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นักวิชาการสาขาต่างๆ อาทิ สังคมวิทยาและจิตวิทยา นักกฎหมาย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการปกป้องสิทธิเด็กและสิทธิสัตว์ มาพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือตรวจสอบความเหมาะสมของการกำหนดเรตหนังแต่ละเรื่องอีกทีหนึ่ง

โดยกรรมการชุดนี้จะมีเวลา 20 วันในการพิจารณายืนยันหรือเปลี่ยนแปลง “เรต” ของหนังเรื่องต่างๆ ที่กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจภาพยนตร์กำหนดออกมา

ภายหลังความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ “ดาริโอ ฟรานเชสคินี” รมว.วัฒนธรรมของอิตาลี ได้ระบุในแถลงการณ์ว่า “ระบบการควบคุมแทรกแซง ซึ่งยังคงอนุญาตให้อำนาจรัฐสามารถแทรกแซงเสรีภาพของศิลปิน ได้ถึงคราวยุติสิ้นสุดลงแล้วโดยเด็ดขาด”

ส่วน “ปูปิ อวาติ” ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ผลงานของเขาเคยถูกเซ็นเซอร์ในทศวรรษ 1970 ได้แสดงความเห็นถึงกฎหมายฉบับใหม่ว่า “นี่เป็นรูปแบบในการกำกับควบคุมกันเอง เพราะพวกเรา (คนในวงการภาพยนตร์) มีวุฒิภาวะมากเพียงพอ”

ขณะเดียวกัน “เอเลนา โบเอโร” ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ ก็บ่งชี้ว่านี่เป็น “ย่างก้าวประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการภาพยนตร์อิตาเลียน”

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถูกล้มเลิกในปี 2021 กฎหมายเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของอิตาลีได้ถูกนำมาบังคับใช้น้อยลงเรื่อยๆ ตลอดช่วง 2-3 ทศวรรษหลัง

ความขัดแย้งใหญ่หนสุดท้ายที่เกิดจากกฎหมายเซ็นเซอร์ฉบับดังกล่าว ก็คือ กรณีเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง “Toto Who Lived Twice” ของสองผู้กำกับฯ “ดานิเอเล ชิปริ” และ “ฟรานโก มาเรสโก” เมื่อปี 1998

เนื่องจากหนังที่มีฉากร่วมเพศกับสัตว์, ฉากข่มขืน, ฉากร่วมเพศทางทวารหนัก และมีเนื้อหาพาดพิงศาสนาเรื่องนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านอย่างหนักโดยกลุ่มคาทอลิกสายเคร่งครัด กระทั่งถูก “สั่งห้ามฉาย” ในเบื้องต้น

ก่อนที่ผู้กำกับภาพยนตร์จะตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ จนหนังสามารถออกฉายแบบจำกัดวงสำหรับคนดูวัย 18 ปีขึ้นไป

นับแต่ปี 2000 มีหนังเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่ถูกคำสั่ง “ห้ามฉาย” ในโรงภาพยนตร์อิตาลี นั่นคือ “Morituris” หนังอิสระแนวสยองขวัญของ “ราฟฟาเอลเล พิคคิโอ” เมื่อปี 2011

ทว่าการโดน “แบน” ในโรงหนัง กลับส่งผลให้หนังเรื่องนี้ไปประสบความสำเร็จในตลาดดีวีดี

เหมือนกับที่ผู้กำกับฯ อาวุโส เช่น “ปูปิ อวาติ” ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ในอีกด้านหนึ่ง กฎหมายเซ็นเซอร์ก็กลายสภาพเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์โดยไม่ได้ตั้งใจ

“กฎหมายฉบับนั้นทำให้ภาพยนตร์เป็นเรื่องน่าลุ่มหลงมากขึ้น มันช่วยกระตุ้นให้สาธารณะหันมาสนใจภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์แนวอีโรติก”

ข้อมูลจาก

https://www.screendaily.com/news/italy-scraps-film-censorship-as-new-classification-commission-launched/5158683.article

https://www.theguardian.com/world/2021/apr/06/italy-ends-censorship-of-films-on-moral-and-religious-grounds

https://www.slashfilm.com/italy-film-censorship-ends/