หลังเลนส์ในดงลึก : ‘คู่หู’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวางและอีกา - การอยู่ร่วมกันแบบได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ราวกับเป็นคู่หูที่ดี

 

‘คู่หู’

 

เวลาในป่าของผมผ่านมานานพอสมควร งานผมนั้นคือเล่าเรื่องราวสัตว์ป่า แต่ดูเหมือนผมจะเล่าถึงคน ไม่น้อยกว่าเล่าเรื่องสัตว์ป่า

ผมเล่าถึงคน โดยเฉพาะคนที่ทำงานร่วมกันบ่อยๆ

คนผู้ซึ่งผมเรียกพวกเขาว่าคู่หู

 

อดิเทพคือคู่หูที่ผมเล่าถึงมากในช่วง 4-5 ปีมานี้

เขาเป็นชาวกะเหรี่ยง วัยใกล้เคียง ช่างพูด ช่างเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ แม้การใช้ภาษาไทยจะอ่อนแอ

เขาเกิดในหมู่บ้านเล็กๆ ในป่า ตอนเด็กหนีโรงเรียนไปเที่ยวในป่า โตขึ้นเคยล่าสัตว์ เคยทำงานเหมืองจนได้เมีย

แต่เขาเป็นคนรักสัตว์ ข้อพิสูจน์คือไปขอเปลี่ยนชื่อ จากเดิมว่าคอแตก เป็นสมเสร็จที่อำเภอ แต่ไม่สำเร็จ

“เจ้าหน้าที่อำเภอบอกว่าไม่เหมาะ” เขาเล่า

ไม่ได้ชื่อสมเสร็จอย่างตั้งใจ เขาได้ชื่อว่าอดิเทพแทน

งานในป่าของผม พูดได้ว่าสบายเมื่อมีอดิเทพเป็นคู่หู

 

“สงสัยมันคงหมดอายุ” อดิเทพพูดเบาๆ

บ่ายวันหนึ่ง ขณะกำลังเดินไปจุดหมายที่จะพักแรม เราพบซากกระทิงตัวหนึ่งข้างด่าน ซากมีรอยถูกกินช่วงก้น

จากร่องรอยเราพบว่าเป็นฝีมือเสือโคร่ง

มันเป็นกระทิงตัวผู้ อาวุโส หนังยับย่น โคนเขากว้าง แต่ความยาวเขาไม่มาก เป็นปกติของกระทิงแก่เขาจะสั้นลง มันดูผอม เห็นซี่โครงเป็นซี่ๆ

ผมพยักหน้าเห็นด้วยกับคู่หู

กระทิงชราภาพตัวนี้ตายเพราะหมดอายุ

 

ในป่า การพบซากสัตว์ป่าคือเรื่องปกติ ส่วนใหญ่เป็นผลงานของเสือโคร่งและเสือดาว

เพราะหากเป็นงานของหมาไน พวกมันจะรุมกินจนกระทั่งซากหมดโดยเร็ว เหลือไว้แค่กระดูกท่อนโตๆ

ซากที่พบมักอยู่ริมๆ ห้วย เพราะเมื่อบาดเจ็บสาหัส ถ้าทำได้ สัตว์จะพยายามไปให้ถึงลำห้วยเพื่อดื่มน้ำ

อีกทั้งเสือ พวกมันก็ชอบน้ำ หลังกินเหยื่อมันจะต้องกินน้ำ และหลายครั้งจะนอนแช่น้ำอย่างสบายอารมณ์

ซากสัตว์นั้นจะโทรมเร็วเมื่อมีแมลงวันตอม วางไข่ ไม่นานก็เกิดหนอน

เมื่อล่าเหยื่อได้ เสือจะลากเหยื่อของมันไปเรื่อยๆ หลังจากกินในแต่ละวัน

เหตุผลคือ ต้องการให้หนอนร่วงหล่นไปบ้าง

กลิ่นซากนั้นรุนแรง แต่กลิ่นจะติดกับตัวเสือไม่นาน เพราะเสือรักษาความสะอาดร่างกายเสมอ ทั้งแช่ในลำห้วย และกลิ้งตัวกับหญ้า

 

พบซากที่เป็นงานของสัตว์ผู้ล่า ผมจะหลีกเลี่ยงการเข้าไปใกล้ หรืออยู่ที่นั้นนานๆ

กลิ่นกายของคนที่ติดอยู่ อาจทำให้เสือไม่กลับมาอีก

นั่นย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี ในการล่าแต่ละครั้ง ความสำเร็จเป็นเรื่องยาก เสือต้องใช้เวลา ทักษะ รวมทั้งพละกำลังอย่างมาก อีกทั้งเสี่ยงกับการบาดเจ็บไม่น้อย แม้เหยื่อจะเป็นพวกสัตว์กินพืช ซึ่งดูไม่มีพิษสง

รอยแผลเล็กๆ หรือบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย อาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่

ร่างกายไม่พร้อม ย่อมเป็นอุปสรรคของการล่า ชีวิตเสืออยู่ได้เพราะมีเหยื่อ สิ่งสำคัญกว่า คือการล่าต้องประสบผล

ล่าเหยื่อไม่ได้ ชีวิตจะจบสิ้น

จบทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลา

 

อดิเทพจะไปรับผมที่ซุ้มบังไพรราวๆ หนึ่งทุ่ม ช่วยแบกขาตั้ง เดินกลับแคมป์ ระหว่างผมไปอาบน้ำ เขาจะเตรียมอาหาร นอกจากน้ำพริกปลากระป๋องแล้ว อย่างอื่นๆ พูดได้ว่า อดิเทพไร้พรสวรรค์ในการทำกับข้าว

แต่การรู้จักพืชต่างๆ ที่นำมากินกับน้ำพริกได้ดี นั่นช่วยได้มาก

หลังอาหาร ถึงเวลาที่ผมจะนั่งฟังเขาคุยเรื่องโน้นนี้ข้างกองไฟ กลิ่นยาเส้นมวนด้วยใบกระโดนลอยคละคลุ้ง

“ยาเส้นบ้านเราต้องมวนด้วยใบกระโดนนี่แหละ ยาเส้นซื้อจากตลาดมามวนไม่อร่อยหรอก ยาตลาดต้องมวนด้วยใบจาก” เขาเชี่ยวชาญเพราะสูบยาเส้นมาตั้งแต่สิบขวบ

อยู่กันไปนานๆ ภาษากะเหรี่ยงผมคืบหน้าบ้าง บางครั้งผมให้เขาเล่าเรื่องต่างๆ ด้วยภาษากะเหรี่ยงพอเข้าใจ

จริงแล้ว ผมคิดว่าภาษาที่อดิเทพใช้ไพเราะ สำเนียงที่พูดใกล้เคียงภาษาอังกฤษ

ผมไม่แปลกใจที่ “ฝรั่ง” ซึ่งเข้ามาฝังตัวอยู่ในหมู่บ้านจะพูดกะเหรี่ยงชัดเจน

 

ช่วงฤดูฝน เพราะทักษะความเป็น “ลูกป่า” ของอดิเทพ ช่วยให้เรามีอาหารกินค่อนข้างสมบูรณ์ เมนูหลักคือหน่อไม้และผักกูด

พวกเร่ว กระทือ ข่า ช่วงฝนจะแก่จัด พ้นเวลาที่เราจะกินแล้ว

หน่อไม้จิ้มน้ำพริกปลากระป๋อง หน่อไม้ผัดไข่ก็ไม่เลว

บางทีอดิเทพพยายามดัดแปลงใส่โน่นนี่ แต่ดูเหมือนรสชาติมักประหลาดๆ ผมต้องบอกให้เขาปรุงแบบธรรมดา

ว่าตามจริง ตลอดเวลาไม่ว่าจะเรื่องกิน เรื่องอยู่ เขาทำให้รู้ว่าชีวิตง่ายๆ เป็นเช่นไร

มีเพียงข้าวสาร เกลือ พริกแห้ง เท่านี้เราก็อยู่ได้อย่างดี

“ผมไม่จนหรอก” ช่วงคุยหลังอาหารค่ำหนึ่ง เขาเริ่ม

“มีข้าวกินทุกวัน”

 

เพื่อนๆ ในป่าส่วนใหญ่เป็นเช่นเดียวกับเขา มีไร่ข้าว ปลูกไว้พอกินได้ทั้งปี เชื่อฟังเมีย และมีลูกมาก 5 คน คือปกติ อดิเทพมีลูก 10 คน เขาทำคลอดเอง

“พี่ชายผมมี 12 คนครับ” เขาเล่า ท่าทางภูมิใจ

“ตอนเด็กๆ ที่นี่มีช้างเยอะ” เขาเล่าเรื่องนี้ซ้ำ

“โป่งที่เฝ้าวันนี้นี่ผมเคยเห็นช้างเป็นร้อย” เขาว่า

เราอยู่ข้างกองไฟ หัวค่ำเกินกว่าจะขึ้นเปล

ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก เรียกได้ว่าไม่มีประชากรช้างอาศัยอยู่ประจำ มีผ่านมาบ้าง ช่วงปลายๆ ฤดูแล้ง

“บางคนว่าเพราะต้นไผ่ตายหมด ช้างไม่มีอาหาร พวกมันเลยย้ายไปป่าอื่น” เขาเล่า

ต้นไผ่ออกดอก แสดงถึงวันเวลาของการสิ้นอายุ แต่ดอกไผ่ที่ร่วงหล่นเต็มพื้น ใช้เวลาไม่นานก็งอก สีเขียวๆ ของต้นไผ่อ่อน ดูราวกับพรมคลุมบนพื้น

ต้นไผ่ใช้เวลาไม่นานในการงอก

แต่ใช้เวลานานพอสมควรจึงเติบโต

 

“มีซากกระทิงไม่ไกล จะเน่าแล้ว ไปเฝ้าถ่ายหมีไหม” อดิเทพชวน

เมื่อซากส่งกลิ่น โอกาสจะพบหมีควายมีมาก พวกมันนิยมซากเน่าๆ หมีกินทั้งพืชและสัตว์

ผมพยักหน้าเห็นด้วย รู้ว่าอดิเทพจะดูทิศทางลม หาตำแหน่งตั้งซุ้มบังไพรให้อย่างเหมาะสม

กระทิงตัวหนึ่งตายเพราะคมเขี้ยว มีประโยชน์กับหลายชีวิต

ความตาย อันเป็นเวลาเริ่มต้นงานเลี้ยง

 

บางวันตีห้าครึ่ง ผมไม่อยากลุก อดิเทพจะเข้ามาปลุก

“ไม่สบายหรือเปล่า” แววตาเขาเป็นห่วง

เขาเหมือนผู้ปกครอง ที่ไม่ยอมให้เด็กขี้เกียจไปโรงเรียน

เมื่อมีคู่หูอย่างอดิเทพ งานในป่าผมไม่ยุ่งยาก

เราพบกันวันที่ผมจะย้ายที่ทำงาน เขาขอหัวหน้าลาออกเพื่อไปอยู่บ้านช่วยเมียทำงาน

ตอนบอกลา ผมสวมกอดเขา

“จะมาหาผมไหม” เขาถาม

“มาสิ” ผมตอบ

คู่หูช่วยให้งานในป่าผมพ้นจากความยุ่งยาก

ผมคิดถึงเขาบ่อยๆ ไม่ใช่เพราะเราใช้เวลานานในการร่วมผจญภัย

เพราะ “คู่หู” ในความหมายของผม

หมายถึงเพื่อนที่จะอยู่ในใจเสมอ