ยานยนต์ สุดสัปดาห์/จาก “ญี่ปุ่น” ถึง “เซี่ยงไฮ้” ตามรอยวิถีฮอนด้า “2030” (1)

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

จาก “ญี่ปุ่น” ถึง “เซี่ยงไฮ้” ตามรอยวิถีฮอนด้า “2030” (1)

เป็นครั้งแรกในชีวิตก็ว่าได้กับการเดินทางทริปเดียว 2 ประเทศ เมื่อผมได้รับเชิญจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย ให้เดินทางไปร่วมงาน Honda Meeting 2017 ที่ประเทศญี่ปุ่น

จากนั้นเดินทางจากญี่ปุ่นต่อไปยังนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมชมงาน CES Asia (Consumer Electronics Show Asia) งานแสดงนวัตกรรมล้ำสมัยของสินค้าต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

แน่นอนต้องมีกลุ่มรถยนต์รวมอยู่ด้วย และหนึ่งในนั้นคือฮอนด้า นั่นเอง

ทั้ง 2 งานใหญ่นี้ ฮอนด้าใช้เป็นเวทีประกาศศักยภาพด้วยวิสัยทัศน์ในปี 2030 ว่านอกจากจะผลิตรถขับเคลื่อนอัจฉริยะแล้ว ยังตั้งเป้าให้รถของฮอนด้าที่ผลิตออกมาจำนวน 2 ใน 3 ใช้พลังงานทางเลือก เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด

โดยรถยนต์พลังงานทางเลือกของฮอนด้า มีทั้งไฮบริดปลั๊กอิน รถไฟฟ้าล้วน หรืออีวี และไฮโดรเจน หรือฟิวเซล

พลังงานทางเลือกทั้ง 3 รูปแบบหลักๆ ดังกล่าวนั้น ฮอนด้าผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ทั้งหมดแล้ว

รุ่นล่าสุดที่เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของฮอนด้า คือเก๋งกลางรุ่นคลาริตี้ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน เปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และปลายปีนี้คลาริตี้อีก 2 เครื่องยนต์จะอวดโฉมตามมาคือ เครื่องยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และอีวี

ทริปนี้ของผมกับเพื่อนๆ ผู้สื่อข่าวจากเมืองไทยและทั่วโลกได้ลองขับคลาริตี้ ทั้ง 3 เครื่องยนต์ รวมถึงทดสอบการขับขี่ระบบขับขี่อัตโนมัติ ในรถเก๋งลีเจนด์ และแอคคอร์ด ด้วย

ด้วยความน่าสนใจของเนื้อหาที่ค่อนข้างเยอะ ไม่มีทางใส่ทั้งหมดลงในเนื้อที่ของยานยนต์ สุดสัปดาห์ ได้ภายในครั้งเดียว

ครั้นจะละเลยบางอย่างไปก็น่าเสียดาย จึงขอแบ่งเนื้อหาออกเป็นตอนๆ

เพื่อเจาะลึกถึงเทคโนโลยีเหนือชั้นของค่ายฮอนด้า ที่พัฒนาสมองกลของรถยนต์ได้ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ

ฉลาดขนาดไหนหรือครับ?ก็ขนาดที่สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง

งาน Honda Meeting 2017 เชิญสื่อมวลชนจากทั่วโลกเดินทางไปรับทราบข้อมูลสำคัญๆ รวมถึงอัพเดตการพัฒนารถยนต์ของฮอนด้า ที่ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัฑ์ของฮอนด้า ที่เมืองโตชิกิ

เทรนด์สำคัญไม่พ้นการมุ่งสู่การผลิตรถยนต์เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกสบายของผู้ขับขี่นั่นเอง

ที่นี่ไม่ได้พัฒนาแต่รถยนต์เท่านั้นนะครับ แต่รถสองล้อเขาก็ดูแลด้วย ตอนนี้ฮอนด้าพัฒนารถจักรยานยนต์ที่ไม่มีวันล้ม เพราะมีระบบ”ไรดิ้ง แอสซิส” ช่วยการทรงตัว

เรียกว่าจอดอยู่เฉยๆ ระบบนี้จะช่วยทรงตัวได้เองโดยที่ผู้ขี่ไม่ต้องใช้เท้ายันพื้นเหมือนที่ผ่านมา และแน่นอนว่าได้เรื่องความปลอดภัย เพราะอุบัติเหตุหลักๆ ของจักรยานยนต์ส่วนใหญ่มาจากการเสียหลักล้มเอง

นอกจากนี้ ยังพัฒนาถุงลมนิรภัยสำหรับจักรยานยนต์ ซึ่งไม่ได้ใส่เฉพาะรถใหญ่ๆ นะครับ แต่รถตลาดฮอนด้าก็นำมาโชว์ด้วย โดยรุ่นที่นำมาแสดงในงาน Honda Meeting 2017 เป็นรุ่นพีซีเอ็กซ์ 150 คนไทยคุ้นกันดีเพราะวางขายในบ้านเราด้วย

ส่วนรถพลังงานทางเลือกในกลุ่มจักรยานยนต์นั้น ฮอนด้ากำลังพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบสกู๊ตเตอร์ขนาดเล็ก เน้นจุดเด่นที่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ง่าย เริ่มจำหน่ายในปี 2018 หรือปีหน้า

ขณะที่ความปลอดภัยพื้นฐานของรถยนต์ เช่น ระบบฮอนด้า เซ็นซิ่ง อาทิ ระบบช่วยเตือนการชนด้านหน้าและเบรกอัตโนมัติ หรือระบบควบคุมความเร็วตามรถคันหน้า และอื่นๆ อีกมากมาย

ระบบความปลอดภัยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะติดตั้งในรถรุ่นใหญ่ของค่ายฮอนด้า แต่ในอนาคตอันใกล้จะติดตั้งในรถเล็ก เป็นระบบมาตรฐานของญี่ปุ่นด้วย

พร้อมกันนี้เพื่อให้ได้สัมผัสกับการขับขี่ของจริง ฮอนด้าจึงจัดการทดสอบรถยนต์ 2 กลุ่มหลักๆ คือ รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือก และรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองหรือระบบอัตโนมัติ

ฮอนด้าติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่กำลังพัฒนาในรถยนต์รุ่น “เลเจนด์” เก๋งซีดานขนาดใหญ่ที่ขายในอเมริกาและยุโรป กับรุ่น “แอคคอร์ด” ที่บ้านเราคุ้นเคยดี

รุ่นเลเจนด์ ฮอนด้าติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติบนทางด่วน หรือถนนไฮเวย์ใหญ่ๆ

ส่วนรุ่นแอคคอร์ด ติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติภายในเมือง

ผมได้ลองขับรถทั้ง 2 ระบบนี้ด้วย

แต่จะบอกว่าลองขับก็เขินๆ อยู่ เพราะรถควบคุมตัวเองเกือบทุกอย่าง ทั้งระบบคันเร่ง เบรก แซง หรือบังคับพวงมาลัย

การทดสอบรุ่นเลเจนด์ ใช้พื้นที่สนามทดสอบของฮอนด้าอาร์แอนด์ดี จำลองเหตุการณ์ให้มีรถอีก 2 คันขับนำหน้า

หลังออกตัวมาสัก 200 เมตร ก็กดปุ่มขับเคลื่อนอัตโนมัติที่พวงมาลัย จากนั้นนั่งยิ้มอย่างเดียว

เหตุการณ์แรกขับตามรถคันหน้าไป แล้วพบรถที่ขับช้า เจ้าเลเจนด์ที่ติดตั้งระบบอัตโนมัติจะคำนวณว่าคันหน้าช้าเกินไปแล้ว ก็หักพวงมาลัยเปลี่ยนเลนออกขวาแล้วกดคันเร่งแซงขึ้นหน้า

ผ่านฉลุยไม่มีปัญหา

หลังจากแซงแล้วรถก็เร่งความเร็วเร่งขึ้นไปถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงไปปะกับรถอีกคันที่เบรกจนหยุดสนิท ระบบอัตโนมัติค่อยๆ แตะบรกจนหยุดสนิทในระยะปลอดภัย

เมื่อรถคันหน้าแล่นออกไป เลเจนด์ก็ขับตามไป สักพักเมื่อรถคันหน้าเบี่ยงออกซ้าย ระบบอัตโนมัติก็เร่งเครื่องแซง

เป็นอันจบการทดสอบขับเคลื่อนอัตโนมัติบนถนนใหญ่

แม้จะเป็นการทดสอบช่วงสั้นๆ บอกเลยว่ามันน่าตื่นเต้นมาก เพราะเรานั่งเฉยๆ แล้วปล่อยให้รถจัดการเองทุกอย่าง โดยเฉพาะช่วงที่พวงมาลัยหมุนเปลี่ยนเลนแล้วเร่งเครื่องแซง มันเจ๋งดี

ระบบนี้ฮอนด้าคาดว่าจะเริ่มติดตั้งในรถช่วงปี ค.ศ.2020 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า

แต่บอกก่อนนะครับระบบที่ติดตั้งในเลเจนด์ เพื่อช่วยวิ่งบนถนนใหญ่ ที่ว่าเจ๋งแล้ว กลายเป็นเบบี้ไปเลย หากเทียบกับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในเมืองที่ติดตั้งในรุ่นแอคคอร์ด เป็นต้นแบบกำลังพัฒนาอยู่นี้

เพราะไม่เพียงมีระบบเดียวกับที่ติดตั้งในเลเจนด์เท่านั้น หากแต่ยังใส่สมองกลปัญญาประดิษฐ์ หรือ “เอไอ” ในการควบคุมและสั่งการ เนื่องจากการขับขี่ในเมืองด้วยระบบอัตโนมัติจะซับซ้อนกว่า มีตัวแปรมากกว่า ไม่ว่าปริมาณรถที่มากกว่า และหลากหลายชนิดกว่า คนเดิน รถออกจากซอย ฯลฯ

สัปดาห์หน้าผมจะพาไปทดลองขับพร้อมๆ กับการลองของรถยนต์รุ่น “คลาริตี้” ทั้ง 3 เครื่องยนต์ด้วย