เปิดชะตากรรม “ทูตพม่า” เลือกต้านรัฐประหาร โดนกองทัพไล่ออก-ยึดพาสปอร์ต

วันที่ 10 เมษายน เอเอฟพี รายงานน.ส.ชอว์ คาลยาร์ อายุ 49 ปี นักการทูตเมียนมาประจำสถานทูตเมียนมาในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีเปิดใจถึงสถานการณ์ในแวดวงการทูตเมียนมาหลังกองทัพยึดอำนาจว่า จากที่ตนเองมีภารกิจให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติที่ถูกอดีตรัฐบาลทหารชุดก่อนหน้าเพิกถอนสัญชาติ แต่ปัจจุบันพบว่าตนเองที่เป็นนักการทูตตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน

.ส.คาลยาร์ระบุว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย พร้อมเล่าย้อนตอนเกิดรัฐประหารใหม่ๆ ว่า ตอนเริ่มรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ.นั้น ฉันสิ้นหวังที่เกิดรัฐประหารขึ้นอีก จากที่นับตั้งแต่ปี 2558 เมียนมาอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ตนเองจึงตัดสินใจเข้าร่วมอารยะขัดขืนต้านการรัฐประหาร

นักการทูตหญิงคาลยาร์ สมัยเป็นนักเรียนมัธยมปลายในปีค.ศ.1988 หรือปีพ.ศ.2531 เข้าร่วมประท้วงต่อต้านเผด็จการทหาร รำลึกถึงว่ามีเพื่อนตั้งมากมายที่ถูกสังหารในเวลานั้น ตนเองได้แต่เก็บความรู้สึกสะเทือนใจมาตลอดชีวิต

น.ส.คาลยาร์ เลขานุการตรีประจำสถานทูตเบอร์ลินระบุว่า ตนเองไม่ได้นิ่งดูดายและเอาแต่นั่งดูวิกฤตการเมืองคลี่คลาย และว่า สถานทูตเบอร์ลินเป็นเพียงสถานทูตเดียวของเมียนมาในยุโรปที่มีผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร

“ตนรู้สึกว่าอิทธิพลของผู้ช่วยทูตทหารเติบโตขึ้น ขณะนี้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารมาที่สถานทูตบ่อยขึ้นและให้บันทึกข้อความโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา” น.ส.คาลยาร์กล่าว

เปิดชะตากรรม “ทูตพม่า”
จอว์ โม ทุน ทูตเมียนมาประจำยูเอ็นชูสามนิ้วต่อต้านรัฐประหาร (รอยเตอร์)

น.ส.คาลยาร์กล่าวอีกว่า ตนเองรู้สึกตกใจหลังนายจอว์ โม ทุน ทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติหรือยูเอ็นกล่าวต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมาอย่างเปิดเผยกลางเวทียูเอ็นและเรียกร้องให้นานาชาติช่วยประชาชนเมียนมานำพาประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเมื่อปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

“ฉันรู้สึกประทับใจในการกระทำของท่านทูตอย่างมาก” น.ส.คาลยาร์กล่าวและว่า ทูตเป็นผู้นำสำหรับพวกเราและเราสามารถทำตามแบบท่านได้ด้วยเช่นกัน

น.ส.คาลยาร์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ตนเองและนักการทูตอีก 2 คน ร่วมกันทำอารยะขัดขืนและโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กแสดงการสนับสนุนผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธ ในอีกไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ตนเองและเพื่อนนักทูตรวม 3 คน ได้รับหนังสือแจ้งว่า ถูกไล่ออกทั้งหมดและยังถูกเพิกถอนพาสปอร์ต

“เมื่อโพสต์ประกาศจุดยืนต้านรัฐประหารบนเฟซบุ๊ก เรารู้ว่าจะมีผลกระทบอะไรตามมา เราไม่สามารถกลับไปบ้านที่เมียนมาได้หรือออกไปนอกประเทศเยอรมนีได้เพราะเราถูกรัฐบาลทหารยกเลิกหนังสือเดินทาง และว่าเราต้องพักอยู่ที่นี่แต่ก็ยังถือว่าไม่เป็นไรเมื่อเทียบกับประชาชนในเมียนมาที่ชีวิตอยู่ในความเสี่ยงในทุกขณะ” น.ส.คาลยาร์กล่าวและว่า ทางการเยอรมนี ซึ่งประณามการรัฐประหารในเมียนมานั้น กำลังตรวจสอบคดีนักการทูตดังกล่าวอยู่

น.ส.คาลยาร์กล่าวว่าทั่วโลกมีนักการทูตเมียนมาราว 20 คน รวมถึงในกรุงปารีส นครเจนีวา และกรุงวอชิงตันที่ร่วมเคลื่อนไหวอารยะขัดขืน

นอกจากนี้น.ส.คาลยาร์ยังประณามนักการทูตเมียนมาในอังกฤษที่สนับสนุนเผด็จการทหารโดยไล่เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำกรุงลอนดอนออกเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยห้ามทูตเข้าสถานทูตและบีบบังคับให้ทูตนอนในรถยนต์ส่วนตัวตลอดคืน

น.ส.คาลยาร์คาดว่าในอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันที่สถานทูตเมียนมาในกรุงเบอร์ลิน หนึ่งในสถานทูตที่สำคัญแห่งหนึ่งในยุโรปของเมียนมา เมื่อพิจารณาจากความใกล้ชิดระหว่างทูตกับกองทัพ

เปิดชะตากรรม “ทูตพม่า”
ทูตเมียนมาประจำลอนดอนชูสามนิ้วต้านกองทัพ (เอเอฟพี)