ฝนมาแล้ว แต่เอกชนยังห่วงภัยแล้ง รัฐมั่นใจทำแผนพร้อมแก้ปัญหาซ้ำซาก ปีนี้ไม่เห็นจำภาพน้ำท่วมสลับดินแตก?/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

ฝนมาแล้ว

แต่เอกชนยังห่วงภัยแล้ง

รัฐมั่นใจทำแผนพร้อมแก้ปัญหาซ้ำซาก

ปีนี้ไม่เห็นจำภาพ น้ำท่วม สลับดินแตก?

จากความกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำของภาคเอกชนอย่างศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ที่เคยให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในประเทศไทย

โดยระบุว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีน้ำท่วมสลับกับภัยแล้ง มีเพียงประเทศไทย

ซึ่งปี 2564 คาดว่าจะแล้งหนักเพราะจีนจะกักน้ำไว้ ดังนั้น ต้องบริหารจัดการน้ำให้ดี

ทางซีพีมีโมเดลที่กำลังทดลองทำเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งขณะนี้ภาครัฐและภาคเอกชนกำลังให้ความสนใจกับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

ซึ่งการบริหารจัดการน้ำถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าลงทุน หากสามารถบริหารจัดการน้ำได้ ผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มขึ้นมหาศาล

ฟากการบริหารหากนำมาพัฒนาเทคโนโลยีและทำให้ผลผลิตออกได้ตามความต้องการของตลาด

จะยิ่งส่งผลให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเสริมรายได้ครัวเรือนได้มากขึ้นอีกด้วย

 

สอดคล้องกับความเห็นของชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศ ที่เผยว่า ความแห้งแล้งของปีนี้จะเท่าๆ กับปีที่แล้ว และเป็นแล้งปีที่ 3 ติดต่อกัน จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ต่อเนื่องมาถึงกลางฤดูฝนปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ

โดยปริมาณฝนสิ้นสุดเมื่อเมื่อเดือนธันวาคม ภาคเหนือมีฝนตก 1,020 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1,200 มิลลิเมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1,400 มิลลิเมตร ภาคกลางมีฝนตกเฉลี่ยเพียง 1,100 มิลลิเมตร ภาคตะวันตกมีฝนตกเฉลี่ย 1,700 มิลลิเมตร ส่วนภาคใต้ ฝนตกอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยเพียงภาคเดียว

ฝนที่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย รวมทั้งฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ลดลง บางพื้นที่แห้งแล้งรุนแรง และส่งสัญญาณการขาดแคลนน้ำปรากฏให้เห็นชัดเจนตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

 

สําหรับ 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อสิ้นหน้าฝนในปีปกติจะมีน้ำใน 4 อ่างรวมกันมากกว่า 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ปีที่แล้วและปีนี้มีเพียงแค่ 5,000 ล้าน ลบ.ม. หรือครึ่งหนึ่งของที่ควรจะมี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง

โดยพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะเป็นพื้นที่การเกษตรที่ต้องการใช้น้ำปริมาณมาก และต่างคาดหวังจะใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก

ภาครัฐจึงกำหนดมาตรการและแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/2564 ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน

โดยแบ่งจัดสรรเป็นน้ำใช้การ 3,000 ล้าน ลบ.ม. จะสามารถใช้ได้ตามแผนไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ และเก็บกักสำรอง 2,000 ล้าน ลบ.ม.

หากฝนตกต้องตามฤดูกาลในเดือนพฤษภาคมก็ไม่เป็นปัญหา

แต่ถ้าฝนล่าช้าก็จะเกิดผลกระทบ เกษตรกรที่ต้องการปลูกช่วงต้นฤดูไม่สามารถทำได้ เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรเสียหาย

โดยที่น้ำที่เก็บกักสำรองไว้ 2,000 ล้าน ลบ.ม.ดังกล่าว เพื่อนำมาใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงได้ถึงเดือนกรกฎาคม 2565

 

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งปี 2564 หรือระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2564 ซึ่งเห็นต่างจากภาคเอกชน มองว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้นับว่าไม่รุนแรง และน่าจะรุนแรงน้อยกว่าปี 2563 โดยพิจารณาจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงเพียง 7.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงเฉพาะในภาคตะวันตกเท่านั้น ขณะที่ภาคอื่นยังมีปริมาณน้ำในเขื่อนมากกว่าปีก่อน

ส่วนภาวะภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ในบางพื้นที่ต่อเนื่องถึงเดือนเมษายนนี้ น่าจะไม่กระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรังอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด และเป็นผลกระทบแค่ในระยะสั้นเท่านั้น โดยคาดว่าผลผลิตข้าวนาปรังน่าจะขยับขึ้นได้เล็กน้อย เทียบจากฐานที่ต่ำในปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 4.4-4.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.5-5.5%

อย่างไรก็ดี ปริมาณผลผลิตคาดการณ์ข้าวนาปรังนี้ ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต (ปี 2559-2563) ที่ราว 5.6 ล้านตัน

สำหรับในส่วนของราคาคาดการณ์เฉลี่ยข้าวนาปรังอยู่ที่ 8,800-9,000 บาทต่อตัน ลดลง 1.5-3.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจไม่เกิดขึ้นหากปริมาณน้ำฝนคาดการณ์มาตามปกติ

แต่ถ้าหากปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ก็อาจทำให้มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ รวมถึงสภาพภูมิอากาศในช่วง 2 เดือนข้างหน้า เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูแล้งและยังอาจมีพายุฤดูร้อนเพิ่มเติมเข้ามาได้อีก และแม้การประเมินผลกระทบจากภัยแล้งจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตพืชเกษตรหลักของไทยอย่างข้าวนาปรังอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ในระดับภูมิภาค ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในท้องที่ที่เดิมส่วนใหญ่ก็เผชิญความยากลำบากอยู่ก่อนแล้ว จากปัญหาต่างๆ โดยจะยิ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้ภาพรวมความต้องการสินค้าเกษตรอยู่ในภาวะที่เติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร

 

ฟากหน่วยงานจากภาครัฐอย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยืนยันว่า จากความกังวลทั้งหมดเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมาพบว่าขณะนี้ยังไม่มีการประกาศพื้นที่ภัยแล้ง เนื่องจากยังสามารถแก้ไขปัญหาในบางพื้นที่ได้ สามารถส่งน้ำ รวมถึงนำน้ำจากแหล่งน้ำมาช่วยเหลือโดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทยได้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าสถานการณ์ภัยแล้งยังสามารถควบคุมได้

ทั้งนี้ เปรียบเทียบสถานการณ์น้ำปีนี้เทียบเคียงปี 2561 ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2562/2563 แต่ยังไม่เกิดปัญหาภัยแล้ง

แต่มีสิ่งที่น่าห่วงคือหากไม่สามารถควคุมปริมาณน้ำได้จะส่งผลให้ฤดูแล้งปี 2564-2565 น่าห่วงมากที่สุด ดังนั้น ในปี 2564 นี้ สทนช.จึงได้วางแผนจัดสรรน้ำและจัดแผนป้องกันภัยแล้งไว้ล่วงหน้าแล้ว

โดยสั่งการให้กรมชลประทานเตรียมช่วยเหลือ หากตรวจสอบพื้นที่ในเบื้องต้นแล้วพบว่าพื้นที่นั้นมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำทั้งในด้านการเกษตร และอุปโภคบริโภค

จะมีการเข้าไปช่วยเหลือทันทีเพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย

 

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่ามีทั้งฝั่งที่ประเมินว่าปีนี้ไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ถึงขั้นส่งผลกระทบต่อราคาพืชผลเกษตร

แต่อีกฝั่งมองว่าสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วงและสามารถควบคุมได้

ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมประชุมเพื่อหาแนวทางรับมือ ทั้งสถานการณ์ภัยแล้ง และฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงด้วย

สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือ เป็นปัญหาที่รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขทุกปี และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังไม่เห็นภาพจำของภาครัฐสามารถคุมภัยแล้ง หรือน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที!

ปีนี้ภาครัฐย้ำว่าเริ่มมีความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำมากขึ้น

ต้องติดตามต่อไปว่าแผนที่รัฐบาลจะงัดออกมาสู้กับภัยแล้งและน้ำท่วม จะเป็นอย่างไร และมีแรงส่งพอให้รัฐบาลไปถึงเป้าหมายในการควบคุมสถานการณ์ซ้ำซากเหล่านี้ได้หรือไม่

…รอดูกัน