อังคณา จี้รัฐดูแลผู้ลี้ภัยจากพม่าตามหลักสิทธิมนุษยชน ห้ามฝ่ายมั่นคงผูกขาด

‘อังคณา’ จี้รัฐดูแลผู้อพยพตามหลักสิทธิมนุษยชน ห้ามฝ่ายมั่นคง ผูกขาดความรับผิดชอบ แนะมอบอำนาจให้มท.จัดการงานในระดับท้องถิ่น

วันที่ 9 เมษายน 2564 เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 62 องค์กร นำโดย นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการอิสระด้านสันติภาพ นายศิววงศ์ สุขทวี เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ยื่นแถลงการณ์ “ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า คือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย” พร้อมข้อเสนอจากภาคีองค์กรภาคประชาชน 5 เม.ย. 2564 ถึงนายกรัฐมนตรี มีนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับเรื่อง

นางอังคณา กล่าวว่า มีการใช้ความรุนแรงและใช้อาวุธปราบปรามชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ที่ถูกกดดันให้กลับประเทศ และหากปราบปรามมากขึ้นก็จะมีการอพยพเข้ามาในไทย ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ถ้าเราไม่เตรียมพร้อมสถานที่ก็อาจมีปัญหา ดังนั้นเราต้องมีมาตรการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ในการส่งสิ่งของช่วยเหลือ เราจึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในการรับมือกับการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยคือ 1.รัฐจะต้องไม่ปฏิเสธการเข้าลี้ภัย โดยหน่วยงานความมั่นคงจะต้องเปิดให้ผู้ลี้ภัย เข้าพักภายในประเทศตามหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่รัฐได้จัดไว้

นางอังคณา กล่าวว่า 2.เมื่อหน่วยงานความมั่นคงเปิดรับให้ผู้ลี้ภัยเข้าสู่พื้นที่พักพิงแล้วก็ต้องมอบความรับผิดชอบให้กับกระทรวงมหาดไทยระดับอำเภอและจังหวัดในการดูแลให้ความคุ้มครอง ซึ่งจะได้ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นให้มีบทบาทนำในด้านงานควบคุมโรค และองค์กรมนุษยธรรมซึ่งมีประสบการณ์และความพร้อมในด้านงบประมาณ 3.รัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชนไทยที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัย 4.รัฐควรอนุญาตให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

สามารถเข้าถึงผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าวและสามารถใช้กลไกคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับความคุ้มครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 เพื่อคัดกรองผู้ที่ต้องการความคุ้มครองเป็นการเฉพาะเนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจยังไม่สามารถกลับคืนถิ่นฐานพร้อมกับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนชายแดนได้

นางอังคณา กล่าวว่า และ 5.การตัดสินใจที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้หนีภัยกลุ่มใดหรือบุคคลใดกลับคืนถิ่นฐานจะต้องเป็นบทบาทรวมของหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัยไม่ใช่บทบาทของฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงฝ่ายเดียว