‘สุพัฒนพงษ์’ สยบติดโควิด รุกฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังไวรัสระบาดรอบ 3 ดึงนักลงทุนต่างชาติกลับไทย /ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

‘สุพัฒนพงษ์’ สยบติดโควิด

รุกฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่

หลังไวรัสระบาดรอบ 3

ดึงนักลงทุนต่างชาติกลับไทย

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม จากคลัสเตอร์ชนชั้นนำ-คลับหรู แพร่กระจายแรงและเร็ว กินพื้นที่กว้างขวางไปทั่วประเทศ กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่

รุนแรงและน่ากังวลถึงขนาดที่มาตรการ “ล็อกดาวน์” ถูกเสนอเพื่อพิจารณาอีกครั้ง จากผลสะเทือนของ “แอ่งทองหล่อ” เชื่อมโยงกับรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงในรัฐวิสาหกิจ นักร้องและดารา

แต่กว่าจะมาเป็นชื่อ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม และเครือข่าย ที่มีผลการตรวจถูกยืนยันอย่างเป็นทางการ ว่าเป็นรัฐมนตรีไทยรายแรกที่ติดเชื้อโควิดจากแอ่งทองหล่อ

มี “ข่าวลือ-ข่าวปล่อย” ที่สะเทือนทำเนียบรัฐบาล โดยแหล่งข่าวนักการเมืองต่างขั้วชี้เป้าโดยปราศจากการยืนยันไปที่ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน

แพร่สะพัดจน “สุพัฒนพงษ์” ต้องปรี่รุดเข้าตรวจกับโรงพยาบาลในจังหวัดอุดรธานี ขณะลงพื้นที่ปฏิบัติการขับเคลื่อนมาตรการเศรษฐกิจรอบใหม่ เพื่อคลี่คลายปมคาใจ “ตามข่าว” ที่ถูกเปิดมาจากใจกลางทำเนียบรัฐบาล ว่ารัฐมนตรีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจติดแอ่งทองหล่อ โดยไม่กักตัว 14 วัน แต่กลับเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี พบปะสื่อมวลชนนับร้อยชีวิต

ผ่ากลางสถาณการณ์ รัฐบาลอยู่ระหว่างโรดโชว์ นโยบายดึงการลงทุนจากธุรกิจเอกชนไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นโมเมนตัมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3

 

หลังรู้แหล่งข่าว-ต้นตอ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” บุคคลระดับรัฐมนตรี VVIP ที่ถูกพาดพิง กำประเด็นคาใจ พุ่งเข้าชนนักข่าว พรั่งพรู…ทุกประเด็น

เริ่มจากโชว์ความบริสุทธิ์ ด้วยใบผลการตรวจโควิด-19 ที่มี “ผลเป็นลบ”

จากนั้นให้สัมภาษณ์นักข่าวตัวเป็นๆ ครั้งแรก หลังมรสุมข่าวปล่อย

เขาเริ่มต้นว่า “ผมต้องไปพบนักธุรกิจ นักลงทุน เขาก็จะมาพบ ผมแก้ปัญหาผ่านการประชุมคณะกรรมการ เราต้องพิสูจน์ให้คนทั้งโลกเห็นว่า ประเทศไทยยามที่เราช่วยกันฝ่าอุปสรรคและวิกฤตได้อย่างดีและจะกลับมาแข็งแรงได้”

สุพัฒนพงษ์ย้ำว่า นาทีนี้เป็นนาทีที่ประเทศไทยมีโอกาส อย่าให้สะดุด ทั้งนี้เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนานาประเทศ

“ผมไม่เคยไปผับดังกล่าวแม้สักครั้งด้วย และอยากรู้ว่าใครเป็นคนให้ข่าวว่าผมไปผับย่านทองหล่อคนแรก ถ้าท่านแสดงตน ผมจะได้ตอบ เพราะมันก็สร้างความเดือดร้อน ตัวผมเองไม่เท่าไหร่หรอก แต่พอดีเราทำเรื่องเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจ สนับสนุนนโยบายของท่านนายกฯ มันก็มีความจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่น เพราะกติกาต้องปฏิบัติ ภายใต้กฎกติกาของ ศบค. การยืนระยะห่าง พื้นที่เสี่ยงต้องหลีกเลี่ยง”

 

เป้าหมายของ “สุพัฒนพงษ์” และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2564 ร้อยละ 4 ด้วยสมมุติฐานเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวขับเคลื่อน-เดินเต็มสูบ โดยมีแผน “เปิดประเทศ” ในช่วง “ไตรมาสสาม”

โดยมีเป้าใหญ่ ปั้นจีดีพีโตร้อยละ 4 ติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปี เพื่อนำพาประเทศหลุดพ้นจากกับดับรายได้ปานกลางในปี 2570 และเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2580

หวังเริ่มต้นนับ 1 จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีน “ครบโดส” แล้ว โดย “ไม่ต้องกักตัว” บินตรงไปยังจังหวัดนำร่อง-ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

“สุพัฒนพงษ์” ผนึกทีมเศรษฐกิจวงใน-วงนอกรัฐบาลดีดลูกคิด ทันทีที่เปิดประเทศในไตรมาส จะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังจังหวัดภูเก็ต 1 แสนคน และนำ “เม็ดเงิน” เก็บเป็นรายได้ให้กับประเทศทันที 3 หมื่นล้านบาท

คู่ขนานไปกับทีมปฏิบัติการเชิงรุก-ทาบทามบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ ที่มีคู่หู-คู่คิด “ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร” หัวหน้าทีมกำลังวางแผนปลดล็อกอุปสรรคการลงทุนประเทศ ค้าขายอุตสาหกรรมยุคใหม่เพื่อดึงบริษัทชั้นนำของโลกไม่ต่ำว่า 40 บริษัทเข้ามาลงทุนในไทยทันทีที่โควิดเอาอยู่ ควบคู่วัคซีนออกฤทธิ์ตั้งแต่กลางปี 2564 เป็นต้นไป

ขีดเส้นก่อนสิ้นปี 2564 จะปลดล็อกอุปสรรคการลงทุน เช่น การปรับแก้เรื่องกฎระเบียบอำนวยความสะดวก เช่น เรื่องเวิร์กเพอร์มิต วีซ่าที่คนเกษียณอายุที่จะเข้ามาพักอาศัยในประเทศไทย และตั้งศูนย์ One stop services

โดยมี 4 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-curve) เป็นเรือธง-เกาะขบวนโลกเพื่อดึงดูดนักลงทุน ได้แก่ 1.ยานยนต์ไฟฟ้า 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ และ 4.อุตสาหกรรมดิจิตอล-คลาวด์

 

แผนระยะใกล้จะเปิดประตูดึงเงินจากชาวต่างชาติ “รายได้สูง” จากทั่วทุกมุมโลกที่มีอยู่ 200 ล้านคน หากดึงมาได้ 1 ล้านคน เกิดการจับจ่ายใช้สอยเกิดเป็นรายได้เข้าประเทศ คนละ 1 แสนบาทต่อเดือน หรือคนละ 1.2 ล้านบาทต่อปี

โดยเฉพาะประเทศยุโรปที่มีฐานะมั่งคั่ง-มั่งมี อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน กลุ่มแสกนดิเนเวีย ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงสหรัฐอเมริกา

โฟกัสกรุ๊ปเกษียณอายุ-ผู้รับเงินบำนาญ 5 กลุ่ม 1.เกษียณอายุที่มีรายได้สูง (Retirees) 2.รับเงินบำนาญรายได้สูง (Pensioners) 3.คนทำงานแบบไร้ออฟฟิศ (NOMAD) 4.สตาร์ตอัพ 5.สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค (Regional Hub)

โดยจะทดลองเปิด 3-5 ปี ในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) โดยออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่ออนุญาตให้ต่างชาติถือครองอสังหาริมทรัพย์ในแนวดิ่ง-คอนโดมิเนียม ขยายเพดานจาก 49% เป็น 70-80%

และกำหนดระเบียบที่เป็นการจำกัดสิทธิของคนไทย และทำสัญญาเช่าสูงสุด 30 ปี ขยายเพิ่ม 50 ปี+40 ปี

โดยเตรียมเสนอ “ร่าง พ.ร.ก.ดึงดูดนักลงทุน” พร้อมแก้กฎหมาย เช่น การแก้ประมวลกฎหมายที่ดิน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาคารชุด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม 2542 เข้าสู่ที่ประชุมศูนย์ ศบศ. ปลายเดือนเมษายนนี้

แผนการที่สวยหรู คือใช้การบริโภคภาคเอกชน ผ่านการเยียวยา 41 ล้านคน กระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุน 3 รอบ ก่อนไตรมาส 3 จากนั้นจะใช้แรงเหวี่ยงไปสู่การลงทุนจากในและต่างประเทศ เป็นตัวดึงจีดีพีให้อยู่ในแดนบวก

แต่เมื่อโควิดโจมตีระลอก 3 ผ่ากลางแผนปฏิบัติการ แถม “สุพัฒนพงษ์” ถูกถล่มด้วยคลัสเตอร์ทองหล่อ การขึ้นเค้าโครงเศรษฐกิจใหม่ จึงต้องพลิกแพลงใช้ท่ายากขึ้นอีกทวีคูณหลายเท่า

เป็นโจทย์สำคัญเรื่องแรกที่ต้องเริ่มขับเคลื่อนทันที หากต้องการฟื้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปตามเป้าหมาย ท่ามกลางตัวแปรจากวิกฤตโควิด-19 ที่ยังคงดำรงอยู่กับประเทศไทย พร้อมสำแดงอิทธิฤทธิ์มารอบแล้วรอบเล่านั่นเอง