การรุกรานในตอนบ่ายสองโมง : 10 ปีสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง / บทความพิเศษ ชาคริต แก้วทันคำ

บทความพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

การรุกรานในตอนบ่ายสองโมง

: 10 ปีสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง

จะมีใครบ้างที่จดจำได้ว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ช่วงเวลานี้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองอะไรขึ้น

แน่นอนว่าคงไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนจะออกมาจัดงานรำลึกครบรอบ การสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงกันหรอก

ผมในฐานะนักวิจารณ์วรรณกรรมไม่อาจนิ่งดูดายให้วาระครบรอบนี้ผ่านไปโดยไม่พูดถึงอะไรเลย

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “การรุกรานในตอนบ่ายสองโมง” ของกล้า สมุทวณิช พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น “หญิงเสาและเรื่องราวอื่น” ได้รับรางวัลชมเชย สพฐ. ปี 2557 โดยจะวิเคราะห์การเผชิญหน้าระหว่างคนเมืองกับคนชนบทที่แบ่งเขา-แบ่งเราจนกลายเป็นคนอื่นและอุปมานิทัศน์ทางเพศ

เรื่องสั้น “การรุกรานในตอนบ่ายสองโมง” ของกล้า สมุทวณิช ให้ “ฉัน” หรือสรรพนามบุรุษที่ 1 เป็นผู้เล่าเรื่องซึ่งเป็นตัวละครหลักที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจร้านกาแฟ ที่ฉันและสามีลงทุนเปิดร้าน แต่เวลาแห่งความสุขผ่านไปแค่ 3 เดือน ก็ปรากฏคน “พวกนั้น” “ฝูงชนผู้มิได้รับเชิญ” และ “กองทัพผู้รุกราน” ที่พากันจากภูมิลำเนาเข้ามาชุมนุมตามสี่แยกธุรกิจในกรุงเทพมหานคร

เหตุการณ์เกิดขึ้นกับฉัน เมื่อสามีออกไปหาซื้อหนังสือและนิตยสารไว้สำหรับบริการลูกค้า แล้วก็มีชายรูปร่างสูงใหญ่วัยสี่สิบปลาย พร้อมกับหญิงร่างอ้วนผิวสีทองแดงและลูกสาววัยไม่เกินแปดขวบเดินมาหยุดเมียงมอง ก่อนจะเข้ามาในร้าน ซึ่งทำให้เธอรู้สึกอึดอัดใจอย่างไร้เหตุผล

ชายคนดังกล่าวขอซื้อน้ำเปล่าขวดหนึ่ง หลังจากนั้นฉันก็เผชิญหน้ากับบรรยากาศกระอักกระอ่วน เมื่อหญิงร่างอ้วนและลูกสาวขอเข้าห้องน้ำ ทิ้งให้ฉันและชายร่างใหญ่ไว้หน้าร้าน

และเขาก็ลุกมาหยุดยืนตรงหน้าบาร์ มองสำรวจร่างกายและกระทำรุนแรงทางเพศโดยที่ฉันไม่อาจขัดขืน

 

การเผชิญหน้าระหว่างคนเมือง

กับคนชนบท

ที่แบ่งเขา-แบ่งเราจนกลายเป็น “คนอื่น”

การมีร้านกาแฟเก๋ๆ ในย่านธุรกิจใจกลางเมืองหลวงเป็นความฝันของฉันและสามี แต่ช่วงเวลาอันงดงามก็ดำรงอยู่ได้เพียง 3 เดือนหลังปีใหม่ ก่อนที่คน “พวกนั้น” จะมาถึง

“ผู้คนหน้าไม่คุ้นเคย แต่งตัวด้วยเครื่องแบบสีเดียวกัน สีหน้าสีผิวใกล้เคียงกันและอาจจะกล่าวได้ว่ามีกลิ่นเดียวกัน พวกเขาเป็นเหมือนคนเผ่าเชื้อเดียวกัน แต่เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ไม่คุ้นเคยสำหรับย่านนี้” (กล้า สมุทวณิช, 2556 : 78)

ข้อความข้างต้น เป็นความรู้สึกของฉัน หลังออกไปซื้อนมสดเพื่อเตรียมไว้รับรองลูกค้า และเห็นคน “พวกนั้น” เคลื่อนเข้ามาเต็มท้องถนนสายหลัก ซึ่งฉันบรรยายว่า “พวกเขา” เป็นสิ่งแปลกปลอมที่นอกจากฉันจะไม่คุ้นเคยแล้ว มันยังดูแปลกแยกกับสถานที่แถบนี้ด้วย

เมื่อคน “พวกนั้น” เข้ามาปักหลักในกรุงเทพฯ ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดง การชุมนุมเริ่มต้นขึ้น แต่มันกลับเป็นจุดจบของธุรกิจและการจราจรบนเส้นทางเหล่านั้น

การที่ฉันเรียกพวกเขาว่าคน “พวกนั้น” ผู้คนในร้านวิตกการมาเยือนของ “ฝูงชนผู้มิได้รับเชิญ” หรือลูกค้าบางคนที่มาร้านบ่นก่นด่า “กองทัพผู้รุกราน” จึงสะท้อนถึงการแบ่งชนชั้นระหว่างคนเมืองกับคนชนบทอย่างเห็นได้ชัด

โดยพวกเขาต่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่สะดวกสบาย จึงมองคนพวกนั้นว่าเป็น “ผู้รุกราน” และ “ฝูงชนผู้มิได้รับเชิญ”

แสดงถึงทัศนคติของคนเมืองที่มีต่อคนชนบท โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา อุดมการณ์ทางการเมืองและชาติพันธุ์ จึงเหยียดหยามว่าคน “พวกนั้น” ทำให้เศรษฐกิจเสียหาย เรียกร้องในสิ่งที่ตนเองยังเรียกและสะกดคำไม่ได้ หรือถูกจ้างมา เป็นต้น

ผู้อ่านจะเห็นเส้นแบ่งอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสภาวะอารมณ์ที่คนเมืองมีต่อคนชนบทแบบเหมารวม

แต่ต่างจากทองลูกจ้างที่มาทำความสะอาดร้าน ที่ฉัน “จะเรียกว่าคนพวกนั้นเสียทีเดียวก็ใช่ที่ เพราะแม้เขาจะอาศัยอยู่ในแฟลตการเคหะแถวชานเมือง หรือมาจากครอบครัวที่อาจมีฐานะไม่ดีนัก แต่ทองก็ถือเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดและเรียนจบถึงมัธยมหก” (กล้า สมุทวณิช, 2556 : 80)

ข้อความข้างต้น สะท้อนความคิดของฉันที่มีต่อทองลูกจ้าง โดยเข้าข้างตัวเองว่าเขาไม่ใช่คนพวกนั้นเสียทีเดียว แม้ว่าจริงๆ แล้วเขาเคยเป็นคนมีรกรากที่มาเช่นเดียวกับคน “พวกนั้น” ต่างเพียงทองและครอบครัวอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นแรงงานในกรุงเทพฯ และทองก็ถือกำเนิดที่นี่ มีการศึกษาระดับหนึ่ง จึงเกิดการแบ่งเขา-แบ่งเรา แบ่งพวกและชนชั้นขึ้นมา

ทั้งๆ ที่ทองก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงที่ถูกมองว่าเข้ามาปั่นป่วนและสร้างความขัดแย้ง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

ดังนั้น คำว่าคน “พวกนั้น” “ฝูงชนผู้มิได้รับเชิญ” และ “กองทัพผู้รุกราน” จึงเป็นคนอื่นหรือผู้ร้ายในสายตาของคนเมืองอย่างฉันที่สร้างความหวาดระแวงขึ้นมาเอง

 

ใครรุก-ใครราน

และทำไมต้องบ่ายสองโมง

กับอุปมานิทัศน์ทางเพศ

หลังจากคนเมืองรับรู้การมาถึงของคนชนบทและวิพากษ์วิจารณ์คนพวกนั้นในทางเสียหาย ที่กลายเป็นอคติเพราะทำให้วิถีชีวิตและเศรษฐกิจของพวกเขาไม่ปกติและเสียหายแล้ว การเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างฉันกับคน “พวกนั้น” เกิดขึ้นในบ่ายสองโมงวันหนึ่ง เมื่อชายรูปร่างสูงใหญ่วัยสี่สิบปลายพร้อมหญิงร่างอ้วนผิวสีทองแดงและลูกสาววัยไม่เกินแปดขวบเดินเข้ามาในร้าน และขอซื้อน้ำเปล่าขวดหนึ่ง

ในสายตาของฉัน คน “พวกนั้น” คือภัยคุกคามสถานะและตัวตนของเธอ เมื่อสามีออกไปซื้อหนังสือและนิตยสาร ทิ้งให้เธออยู่ร้านเพียงลำพัง และหลังจากหญิงร่างอ้วนและลูกสาวขอเข้าห้องน้ำ เธอเห็นเขาลุกขึ้นมาจากเก้าอี้ หยุดยืนตรงหน้าบาร์ มองสำรวจร่างกายและกระทำรุนแรงทางเพศ

“ไม่จริงนะ! ฉันกำลังจะตกเป็นเมียของคนพวกนั้น เสียงประตูห้องน้ำเปิด หญิงร่างอ้วนผิวสีทองแดงเดินกระมิดกระเมี้ยนออกมา หล่อนมองหน้าฉันอย่างหวาดๆ ช่วยด้วยซี ผัวแกจะซอยฉันอยู่แล้วเห็นไหม! ฉันไม่กล้าหันไปมอง แต่หูแว่วเสียงปลดกางเกงสวบสาบ ฉันนึกภาพแท่งโสโครกผงาดผึงขึ้น มันจะขนาดสักเท่าไรนะ ฉันจะชอกช้ำเสียเลือดเสียเนื้อหรือเปล่า อันที่จริงฉันว่างเว้นจากการถูกรุกล้ำแบบนี้มานานแล้วเหมือนกัน” (กล้า สมุทวณิช, 2556 : 86-87)

ข้อความข้างต้น เป็นอุปมานิทัศน์ที่สื่อความหมายแรกแบบพื้นผิวว่าฉันถูกกระทำรุนแรงทางเพศ

แต่ความหมายที่สองเป็นแบบเชิงลึกเกี่ยวกับการเมืองหรือสัญลักษณ์ ที่เกี่ยวโยงกับการสอดใส่อวัยวะเพศชาย และความหวาดกลัวที่แฝงเร้นในความเป็นหญิง ที่นอกจากจะรังเกียจ ร้องขอความช่วยเหลือในตอนแรก กลับรู้สึกว่าการถูกเขารุกล้ำได้กระตุ้นเตือนว่าเธอไม่ได้มีกิจกรรมทางเพศกับสามีมานานแล้ว

สะท้อนความเก็บกดทางเพศภายในใจของฉันที่รอระบายมันออกมา

ดังนั้น การรุกรานในตอนบ่ายสองโมง จึงแสดงความสัมพันธ์ทางเพศของฉันและสามีในเชิงเปรียบเทียบจนเกิดภาพว่าชายรูปร่างสูงใหญ่เป็น “ผู้รุก” แฝงนัยทั้งการรุกรานในเชิงพื้นที่จากชนบทมาสู่เมือง กับการรุกล้ำทางจินตนาการที่หลอมรวมความปรารถนาทางเพศ คนที่แหลกรานคือฉัน ผู้คิดว่าถูกกระทำ “ฉันกำลังจะตกเป็นเป็นเมียของคนพวกนั้น” หรือ “ฉันจะท้องกับมันไหมนะ” หลังถูกเขากระแทกอัดเข้าใส่บั้นท้ายจนสัมผัสได้ถึงความอุ่นวูบที่แผ่กระจายอยู่ภายใน เป็นการทิ้งอะไรบางอย่างไว้ให้กับคนเมืองหลังจากคน “พวกนั้น” ต้องยุติการชุมนุมนั่นเอง

สิ่งที่คน “พวกนั้น” ทิ้งไว้ไม่ใช่เชื้อพันธุ์ที่อาจปฏิสนธิทางจินตนาการ แต่มันคือความหวาดระแวงที่เกิดในจิตใจ จนทำให้ฉันต้องพบจิตแพทย์และกลายเป็นเหยื่อของโรคซึมเศร้า

อย่างไรก็ตาม การรุกรานในตอนบ่ายสองโมงของวันนั้น ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของฉันอย่างไม่อาจคาดหมายได้

นอกจากฉันจะเล่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่ถูกกระทำในจินตนาการให้สามีและจิตแพทย์ฟังไม่ได้แล้ว

มันยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของฉันกับสามีเมื่อ “สติก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความตื่นความหลับและความจริงความฝัน ฉันพบว่าตัวเองนอนหันหลังให้สามี และรู้สึกหวิวหวามวาบไหวจนร่างกายหลุดหลั่งเมือกกระสัน ก่อนแสวงวิธีบรรลุด้วยตนเองอย่างหยาบหื่นเมื่อคิดถึงการรุกรานในครั้งนั้น” (กล้า สมุทวณิช, 2556 : 92)

ข้อความข้างต้น นอกจากจะเป็นย่อหน้าจบเรื่องสั้นแล้ว ยังนำผู้อ่านไปสู่คำตอบว่าทำไมต้องรุกรานในตอนบ่ายสองโมง เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่สามีไม่อยู่ร้าน การพบกับคนแปลกหน้าจึงทำให้เธอนอกใจสามี อีกทั้งการ “นอนหันหลังให้สามี” ยังสะท้อนถึงการไม่กล้าเผชิญหน้าความเป็นจริง แต่กลับโหยหาการรุกรานในบ่ายวันนั้น เพื่อปลดปล่อยตัวเองออกจากความจริงด้วยจินตนาการ

เป็นมายาคติทางความคิดที่ถูกกลบเกลื่อนด้วยเรื่องสมรรถภาพทางเพศของฝ่ายชายนั่นเอง

 

เรื่องสั้น “การรุกรานในตอนบ่ายสองโมง” ของกล้า สมุทวณิช สะท้อนการแบ่งเขา-แบ่งเราจนกลายเป็นคนอื่น โดยยึดการอยู่อาศัยและการถือกำเนิดเป็นตัวหลักในการตัดสินของฉันว่าเป็นคนเมืองหรือคนชนบทจากอคติ และคนเมืองต่างมีทัศนคติว่าคน “พวกนั้น” คือภัยคุกคามหรือผู้ร้ายสำหรับพวกเขา และการรุกราน (เดินทาง) และการรุกล้ำ (สอดใส่) ยังแฝงไว้ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งเป็นวาทกรรมทางเพศที่ถูกนำเสนอผ่านความปรารถนาของฉัน ที่เกิดจากความเก็บกดกับความคิดและจินตนาการ ที่ผู้เขียนนำเอาการรุกรานและการรุกล้ำมาถักทอความหมายกับการกระชับพื้นที่ของทหาร และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมผ่านความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์

แม้บทความนี้ จะไม่ได้กล่าวย้อนเหตุการณ์ ความสูญเสียหรือบาดแผลทางการเมืองจากการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

แต่หวังว่าการวิจารณ์วรรณกรรมจะเป็นเครื่องมือที่สะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองที่แฝงเร้นอยู่ ให้ผู้อ่านได้ทบทวนและรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านความทรงจำบนหน้ากระดาษได้บ้าง

บรรณานุกรม

กล้า สมุทวณิช. (2556). “การรุกรานในตอนบ่ายสองโมง”. ใน หญิงเสาและเรื่องราวอื่น. กรุงเทพฯ : มติชน, 75-92.

นัทธนัย ประสานนาม. (2561). หลวงวิจิตรวาทการกับนิยายโรมานซ์แนวจักรวรรดินิยม. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.