กองเพลิงและเถ้าถ่าน! จีนกับรัฐประหารเมียนมา/ ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

กองเพลิงและเถ้าถ่าน!

จีนกับรัฐประหารเมียนมา

 

“จีนเป็นพี่เลี้ยงของกองทัพเมียนมา… จีนขุดเอาหยกและเพชรพลอยของเรา เอาน้ำมันของเราไป และตอนนี้ต้องการตัดประเทศเราออกเป็นสองส่วนด้วยท่อส่งน้ำมัน”

คำสัมภาษณ์ของผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในย่างกุ้ง

 

หนึ่งในข่าวใหญ่ของการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารของเมียนมาคือ การจุดไฟเผาโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าของจีนประมาณ 32 แห่งในพื้นที่ของย่างกุ้ง และมีมูลค่าความเสียหายราว 37 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภาพกองเพลิงจากโรงงานครั้งนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงทัศนะต่อต้านจีนที่เกิดขึ้นในสังคมเมียนมาปัจจุบัน

และที่สำคัญสังคมเชื่อว่าจีนอยู่เบื้องหลังกองทัพและการรัฐประหารในเมียนมา หรือดังที่นักวิเคราะห์การเมืองพม่ากล่าวไว้ว่า ยิ่งจีนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับระบอบทหารมากเพียงใด ทัศนะของสังคมเมียนมาในการต่อต้านจีนก็ยิ่งเพิ่มมากเท่านั้น

และเชื้อไฟถูกสุมมากขึ้น เมื่อสำนักข่าวซินหัวของจีนกล่าวถึงรัฐประหารในเมียนมาว่า เป็นเพียงการ “ปรับใหญ่รัฐบาล”

จนถึงวันนี้การแสดงออกถึงการต่อต้านจีนอย่างรุนแรงในการเมืองพม่ายังดำเนินต่อไป

และคงต้องยอมรับว่าการต่อต้านจีนที่เกิดคู่ขนานกับการต่อต้านรัฐบาลทหารนั้น เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองสำหรับการเมืองในเอเชีย

ซึ่งการต่อต้านจีนที่เกิดขึ้นครั้งนี้สะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งว่า ปีกนิยมประชาธิปไตยในเมียนมามีความหวาดระแวงจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะมองว่าจีนไม่เคยสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่จีนจะสนับสนุนรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนในทางการเมืองและเศรษฐกิจกับจีนเป็นหลัก

ดังมุมมองที่ว่า “จีนไม่เคยสนใจว่าใครจะเป็นรัฐบาล (ที่เนปิดอว์) แต่จีนต้องการรัฐบาลที่สามารถปกป้องผลประโยชน์และโครงการของจีนได้”

กรรมกลางจากปักกิ่ง?

 

ทัศนะที่ดำรงอยู่ภายในสังคมเมียนมาเช่นนี้ ส่งผลให้เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความหวาดระแวงจีนจึงเพิ่มมากขึ้นด้วย ภาพโปสเตอร์การประท้วงหน้าสถานทูตจีนเป็นรูปของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ที่กำลังชักหุ่นที่เป็นรูปของนายพลมิน อ่อง ลาย สะท้อนความรู้สึกของผู้ประท้วงได้เป็นอย่างดี

ซึ่งสำหรับผู้ประท้วงแล้ว จีนคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการรัฐประหารของทหาร หรือมีความเชื่อว่า จีนคือ “แกนกลางของความยุ่งยาก” ทางการเมืองทั้งปวงในเมียนมา

แม้รัฐบาลปักกิ่งพยายามยืนยันตลอดเวลาว่า จีนไม่เคยรับทราบมาก่อนว่าผู้นำทหารเมียนมาจะก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง…

แต่ประชาชนเมียนมาดูจะไม่เชื่อคำกล่าวของรัฐบาลจีนเท่าใดนัก

อีกทั้งพวกเขาไม่เชื่อเลยว่าจีนจะเล่นบทเป็น “กรรมการกลาง” ที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาได้

เพราะวันนี้จีนถูกมองว่าเป็น “ผู้ร้าย” ทางการเมืองร่วมกับกองทัพเมียนมาในการทำลายระบอบประชาธิปไตยไปแล้ว

ผลจากการขยายตัวของทัศนะต่อต้านจีน ย่อมส่งผลต่อบทบาทของจีนในการเมืองเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งฝ่ายประชาธิปไตยเองก็ไม่ให้น้ำหนักกับความหวังที่ จีนจะเข้ามาเป็น “ผู้ลดทอนความรุนแรง” (de-escalation) ในการปราบปรามของรัฐบาลทหาร ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจที่มีต่อจีนนั่นเอง

ในขณะเดียวกันการต่อต้านจีนที่ขยายตัวเป็นความรุนแรงอย่างมากนั้น ได้สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนโฆษกของกระทรวงต่างประเทศของจีนต้องออกมาแถลงถึงความกังวลใจต่อปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวจีนในเมียนมา

โดยเฉพาะรัฐบาลจีนได้พยายามกดดันให้ทางการเมียนมาใช้ “มาตรการที่มีประสิทธิภาพ” ในการจัดการกับผู้ก่อเหตุ

ในอีกด้านรัฐบาลปักกิ่งได้เรียกร้องให้ผู้ประท้วงแสดงออกภายใต้กรอบทางกฎหมาย เพื่อที่จะไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อความสัมพันธ์แบบสองฝ่ายระหว่างจีนกับเมียนมา

ซึ่งการประท้วงครั้งนี้อาจส่งผลกระทบอย่างมากกับโครงการ “ความริเริ่มแถบและเส้นทาง” (BRI) ของจีน และอาจกระทบต่อโครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซของจีนที่จะต้องตัดผ่านเมียนมาด้วย

 

หากย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นได้ว่าประชาชนเมียนมารับรู้มานานจากการรัฐประหารครั้งก่อนแล้วว่า รัฐบาลทหารของตนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลปักกิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับกองทัพของสองประเทศ และมีทัศนะว่าจีนเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของระบอบการปกครองของทหารที่เนปิดอว์

ดังนั้น เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ประชาชนเมียนมาจึงมองว่า จีนมีท่าทีในการสนับสนุนรัฐบาลทหารของตนไม่ต่างจากในอดีต

และที่สำคัญจีนไม่เคยแสดงท่าทีประณามการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

และว่าที่จริงในอดีตจีนมักจะเล่นบท “เหยียบเรือสองแคม” เพื่อเป็นหลักประกันของผลประโยชน์ ด้วยการสนับสนุนทั้งรัฐบาลทหาร และสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยบางส่วน

ซึ่งหากฝ่ายใดชนะ จีนจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากผลลัพธ์ของการต่อสู้ที่เกิดขึ้น

ผลจากความรู้สึกเช่นนี้ทำให้กระแสต่อต้านจีนในเมียนมาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายตัวออกไปอย่างคาดไม่ถึง ขยายไปจนสุดโต่ง เช่น การสร้าง “วาทกรรมแห่งความเกลียดชัง” ต่อชาวจีน ทั้งมีการเรียกร้องให้มีการทำร้ายชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมียนมา ตลอดรวมทั้งทำลายโครงการที่จีนได้เข้ามาลงทุนด้วย

การเกิดกระแสเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดความกังวลจากบทเรียนในประวัติศาสตร์ว่า กระแสความเกลียดชังชาวจีนครั้งนี้จะย้อนรอยกลับไปเหมือน “การจลาจลต่อต้านจีน” เช่นที่เกิดในปี 1967 อีกหรือไม่ เพราะการต่อต้านชาวจีนไม่ใช่เพิ่งเกิดครั้งแรกหลังรัฐประหาร 2021

สำหรับจีนเองก็กังวลอย่างมากว่าการต่อต้านจีนและการต่อต้านรัฐประหารที่ขยายตัวเป็นความรุนแรงในเมียนมานั้น จะไปไกลเกินกว่าที่จะควบคุมได้ อันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของจีนในเมียนมาโดยตรง

ทั้งยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของจีนในทางสากลโดยตรง ทั้งที่จีนพยายามสร้างภาพว่าประชาชนในประเทศที่จีนเข้าไปมีบทบาทนั้น มีความรู้สึกในทางบวกและตอบรับกับพฤติกรรมของรัฐจีน

แต่ขณะเดียวกันจีนเองก็ตระหนักถึงความละเอียดอ่อนของอารมณ์ทางการเมืองว่า ทั้งผู้นำพลเรือน ทหาร และสังคมเมียนมาบางส่วน มีทัศนะแบบ “กลัวคนนอกและชาตินิยม” (xenophobia and nationalism) ที่พร้อมจะหันกลับต่อต้านจีนได้ตลอดเวลา

เพราะประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความหวาดระแวงเป็นทุนเดิมในหลายเรื่อง

ดังจะเห็นได้ว่ากองทัพเมียนมาในปัจจุบัน ไม่ได้พึ่งพายุทโธปกรณ์จากจีนเป็นหลัก หากมีความพยายามที่จะหันไปหารัสเซียและอินเดีย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่

มุมมองหรือการมีทัศนะต่อต้านจีนเช่นนี้เกิดจากทัศนะของคนในสังคมเมียนมาที่มองว่า รัฐบาลทหารได้รับความสนับสนุนจากจีนโดยตรง และอยู่รอดได้ด้วยการค้ำจุนของจีน

อีกทั้งจีน (และรัสเซีย) เป็นประเทศที่คัดค้านการประนามรัฐประหารของสมัชชาความมั่นคงของสหประชาชาติในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการแสดงการปกป้องรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีสากล และเป็นสัญญาณว่า จีนยอมรับการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลทหาร

แม้ในวันที่ 4 รัฐบาลจีนจะพยายามแสดงอีกด้าน ด้วยการแถลงถึง “ความกังวลอย่างมากกับการประกาศภาวะฉุกเฉินของทหาร และการคุมขังผู้นำรัฐบาล (พลเรือน) ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจี”

แต่หลายฝ่ายกลับมองว่า เป็นเพียงการ “แก้เกี้ยว” ทางการทูต เพราะการต้านรัฐประหารขึ้นสู่กระแสสูงทั้งในเมียนมา และในสากล

ในทางเศรษฐกิจ ประชาชนเมียนมามีความรู้สึกถึงการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจของจีนมานาน การต่อต้านจีนในทางการเมืองครั้งนี้ จึงเป็นผลรวมของทัศนะต่อจีนที่ก่อตัวในสังคมเมียนมามาระยะหนึ่งแล้ว

และแน่นอนว่าการเผาโรงงานอุตสาหกรรมของจีนเป็นการเพิ่มความซับซ้อนของเหตุการณ์ที่มีความซับซ้อนในตัวเองอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การต่อต้านจีนครั้งนี้มีข้อเรียกร้องให้เลิกซื้อสินค้าจีน

และที่สุดโต่งมากขึ้นคือการเรียกร้องให้โจมตีท่อส่งน้ำมันของจีนที่พาดผ่านเมียนมาไปยูนนาน

ซึ่งท่อส่งน้ำมันนี้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จีนได้ลงทุนดำเนินการในเมียนมา

นอกจากนี้ จีนมีความคาดหวังอย่างมากในทางเศรษฐกิจที่จะเชื่อมต่อเมียนมาเข้ากับโครงการ “ความริเริ่มแถบและเส้นทาง” (โครงการ BRI) ซึ่งลงนามโดยรัฐบาลของพรรคสันนิบาตประชาธิปไตยแห่งชาติ (พรรค NLD) อันจะเป็นการเปิดทางออกทะเลสู่มหาสมุทรอินเดียของจีนด้วย และผลจากการลงนามในครั้งนั้น จีนได้แสดงตนเป็นผู้ปกป้องรัฐบาลเมียนมาในปัญหาโรฮิงญาในเวทีสหประชาชาติ

สำหรับในทางเศรษฐกิจนั้น นอกจากจีนแล้ว การลงทุนทำอุตสาหกรรมในเมียนมายังมีทุนต่างชาติส่วนอื่นจากเอเชีย ได้แก่ ทุนจากไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไทย เป็นต้น และทุนจากประเทศเหล่านี้มีโรงงานอุตสาหกรรม ที่ช่วยสร้างงาน และช่วยในการพยุงระบบเศรษฐกิจของเมียนมาด้วย

ซึ่งในส่วนของไต้หวัน ได้มีความพยายามในการลดผลกระทบจากการต่อต้านจีนด้วยการเขียนป้ายติดที่หน้าโรงงานว่า เป็นโรงงานของไต้หวัน

หรือวันนี้โรงงานของทุนสัญชาติเอเชียจึงพยายามแสดงสัญลักษณ์ว่า โรงงานของเขาไม่ใช่ของจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเผาโรงงาน

กราดเกรี้ยวและรุนแรง!

 

ทีท่าของการต่อต้านจีนอย่างรุนแรงในสังคมเมียนมาครั้งนี้ ไม่แต่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความ “กราดเกรี้ยวทางการเมือง” ของผู้ประท้วง เพราะหลายฝ่ายในสังคมรับรู้อยู่พอสมควรถึงการขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีนในเมียนมา และผู้คนมองด้วยความโกรธแค้นว่า จีนพยายามสนับสนุนรัฐบาลทหารเนปิดอว์และตักตวงเอาประโยชน์ด้านเดียว

อีกทั้งจีนไม่เคยแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อฝ่ายประชาชนที่ถูกปราบปราม ตลอดรวมถึงการที่จีนไม่เคยแสดงออกด้วยวาจาที่จะประณามการใช้อาวุธสังหารผู้ชุมนุมแต่อย่างใด

หากพิจารณาโดยเปรียบเทียบ สิ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนทั้งต่อรัฐประหารในเมียนมาก็คือ จีนใช้วิธี “ปิดปากเงียบ” โดยการไม่แสดงท่าทีในทางการทูต

แต่ขณะเดียวกันก็ให้การสนับสนุนทางการทูตกับรัฐบาลทหารอยู่เบื้องหลัง ซึ่งการแสดงออกด้วยท่าทีเช่นนี้ จึงทำให้ถูกมองด้วยความเชื่อว่า จีนเป็น “ผู้พิทักษ์” ของรัฐบาลทหาร

ประเด็นเช่นนี้จึงน่าสนใจว่า กระแสต่อต้านจีนจะขยายตัวไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงใด

เพราะภูมิภาคนี้มีการขยายอิทธิพลของจีนเป็นองค์ประกอบสำคัญในทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด และมีจีนเป็นผู้สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมในภูมิภาค

หรืออย่างน้อยจีนได้แสดงท่าทีตอบรับรัฐบาลอำนาจนิยมอย่างไม่รีรอในทางการเมือง เช่นที่เห็นได้ในกรณีของไทยหรือกัมพูชามาแล้ว

ฉะนั้น ประเด็น “ความสัมพันธ์บนกองเพลิง” ระหว่างจีนกับเมียนมาจึงท้าทายรัฐบาลปักกิ่งอย่างน่าสนใจ และ “เถ้าถ่านของโรงงาน” ในเขตย่างกุ้งสะท้อนถึงความรู้สึกของเจ้าของประเทศต่อการขยายอิทธิพลของจีนอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ด้วย…

จีนจะปรับตัวอย่างไรกับกระแสต่อต้านจีนที่เปิดตัวด้วยความรุนแรงในเมียนมา และอาจขยายเป็นกระแสในภูมิภาคในอนาคต?