ถอดบทเรียน นาทีสยอง ไฟไหม้-ตึกถล่มซ้ำ 4 กู้ภัยฮีโร่สละชีวิต ล้อมคอก-เร่งหาปม

ย้อนรอยนาทีสยองไฟไหม้-ตึกถล่มซ้ำ

4 กู้ภัยฮีโร่สละชีวิตเร่งหาปม-ล้อมคอก

กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นกับวงการอาสากู้ภัย

สำหรับเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคาร 3 ชั้น ในพื้นที่ย่านศาลาธรรมสพน์ กทม. ที่หน่วยกู้ภัยระดมเจ้าหน้าที่เข้าดับเพลิงช่วยเหลือ

และขณะกำลังตามหาผู้รอดชีวิต ที่มีรายงานว่าอาจหลบอยู่ในห้องน้ำของอาคารดังกล่าว ก็เกิดเหตุสลดซ้ำซ้อน เมื่ออาคารดังกล่าวพังครืนลงมาคาตา

ทับร่างอาสากู้ภัยเสียชีวิตถึง 4 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 1 คน ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการช่วยเหลือผู้รอดชีวิต

ขณะที่ผู้อยู่อาศัยในอาคารหลังดังกล่าวพบว่าเสียชีวิต 1 ราย

รวมความสูญเสียจากเหตุการณ์สลดครั้งนี้ถึง 5 คน กลายเป็นเรื่องที่ต้องสอบสวนกันต่อไปว่าสาเหตุทั้งหมดเกิดจากอะไร ไม่ว่าจะเป็นต้นตอของเพลิงไหม้ และทำไมอาคารดังกล่าวถึงถล่มลงมาได้

เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้อีก

ไฟไหม้-ตึกถล่มดับ 5

เชิญวิญญาณ

เหตุสลดครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเช้าตรู่วันที่ 3 เมษายน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ธรรมศาลา รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชน ภายในหมู่บ้านกฤษดานคร 31 ถนนบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ

ที่เกิดเหตุเป็นบ้านปูน ลักษณะเป็นอาคารสูง 3 ชั้น บนเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา เปิดเป็นบริษัท ชื่อบริษัท โลกโสภา จำกัด พบแสงเพลิงกำลังโหมลุกไหม้จากชั้นล่างลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั้งอาคาร

เจ้าหน้าที่ระดมสายยางฉีดน้ำควบคุมเพลิง และได้รับรายงานว่าในอาคารดังกล่าวมีผู้พักอาศัยอยู่ 8 คน จึงเร่งฉีดน้ำดับเพลิงเพื่อช่วยเหลือผู้พักอาศัย และปรากฏว่าสามารถช่วยเหลือออกมาได้ 7 ราย ยังคงสูญหายอีก 1 คน

หลังจากที่ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงเพลิงก็สงบ เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็เข้าไปภายในพื้นที่ โดยนายสุทัศน์ หรือโอ เปลี่ยนกลัด เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย รหัส ธน 27-32 แจ้งวิทยุสื่อสารว่าพบผู้หมดสติอยู่ในห้องน้ำชั้นล่างด้านในสุด ซึ่งก็คือนายเกียรติ แพนเตอร์สัน อายุ 35 ปี ยังไม่ทราบอาการว่าเสียชีวิตแล้วหรือไม่ จึงขอกำลังให้เข้าช่วยเหลือ

แต่ระหว่างกำลังเข้าจุดพื้นที่ช่วยเหลือ ก็ได้ยินเสียงปูนลั่นตลอดเวลา และพริบตาดังกล่าวอาคาร 3 ชั้นก็ทรุดตัวถล่มลงมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยวิ่งหนีตายกันอย่างอลหม่าน

หลังเหตุการณ์คลี่คลาย ตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่กู้ภัยถูกเศษอาคารทับเสียชีวิตถึง 4 ราย ประกอบด้วย นายสุทัศน์ นายสมัญญา นิลธร อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย รหัสธน 27-30 นายอรรถพล ท้วมทอง รหัสธน 37-85 เสียชีวิตอยู่คู่กันที่บริเวณด้านข้างของตัวบ้าน

ถัดไปพบศพนายธนภพ ประไพ รหัสเหนือ 33-00 อปพร.เทศบาลนนทบุรี ถูกปูนทับเสียชีวิตอยู่กลางบ้าน เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องตัดถ่างนำศพออกมาด้วยความทุลักทุเล

นอกจากนี้ ยังพบผู้บาดเจ็บอีก 1 ราย ติดอยู่ใต้ซากตึก ทราบชื่อว่านายสุรศักดิ์ หรือเค เปลี่ยนกลัด รหัสธน 26-35 ซึ่งเป็นน้องชายของนายสุทัศน์ สภาพขาหัก 2 ข้าง มีบาดแผลตามลำตัว เจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องตัดถ่าง และใช้เครื่องช่วยหายใจ

ทั้งนี้ ระหว่างเร่งช่วยเหลือ เปลวไฟก็ยังปะทุและลุกลามขึ้นมาอีก เจ้าหน้าที่ต้องฉีดน้ำเลี้ยงไว้ไม่ให้ลุกลามถึงคนเจ็บ โดยใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงถึงสามารถช่วยเหลือนายสุรศักดิ์ออกมาได้สำเร็จ ส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลวิชัยเวช หนองแขม ช่วยชีวิตเอาไว้ได้สำเร็จ

หลังจากนั้นใช้เครื่องตรวจสัญญาณชีพ จนแน่ใจว่าไม่มีสัญญาณชีพใดๆ แล้ว

ทรงรับไว้ในพระราชานุเคราะห์

รับศพฮีโร่

โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่สามารถกู้ร่างของนายธนภพได้แล้ว จากนั้นในช่วงเวลา 01.00 น.ของวันที่ 4 เมษายน เจ้าหน้าที่กู้ร่างนายสุทัศน์ เปลี่ยนกลัด ที่อยู่ใต้คานชั้น 2 ของตัวบ้าน และสามารถนำร่างออกมาได้เป็นรายแรก โดยใช้ธงชาติคลุมร่างออกมาอย่างสมเกียรติ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ รวมทั้งผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีก 6 ราย สร้างความปลาบปลื้มเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้กับกลุ่มญาติของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

และจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 11 เมษายน

สำหรับสาเหตุของเพลิงไหม้ดังกล่าว นายพลกฤษณ์ เหลือพิสุทธิกุล อายุ 46 ปี พนักงานบริษัทที่เกิดเหตุ กล่าวว่า บริษัทนี้เป็นของนายอดิสรณ์ โสภา ซึ่งเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด และกลับประเทศไทยไม่ได้

ก่อนเกิดเหตุมีคนพักอาศัยอยู่ด้วยกัน 8 คน ชั้น 2 จำนวน 4 คน ชั้น 3 จำนวน 4 คน ช่วงเวลาประมาณ 05.30 น. ได้กลิ่นเหม็นไหม้ จึงชะโงกดูหน้าบ้าน พบเปลวไฟลุกไหม้ในป้อมยามหน้าบ้านที่ติดกับตัวบ้าน ซึ่งในป้อมยามมีปลั๊กที่เสียบปั๊มลมเพียงอย่างเดียว ไม่มียามคอยเฝ้า เพลิงลุกลามเข้าตัวบ้านอย่างรวดเร็ว พวกตนพยายามวิ่งหนีเอาตัวรอดออกมาได้ 7 คน ส่วนนายเกียรติเลขาฯ ของนายอดิสรณ์หนีเข้าไปหลบอยู่ในห้องน้ำชั้นล่าง ทำให้หนีออกมาไม่ได้

ด้าน กทม.สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเรื่องการขอใบอนุญาตก่อสร้างและแบบก่อสร้าง อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และเร่งรัดให้ตรวจสอบโดยเร็วที่สุด ขณะที่ความเสียหายในขณะนี้ นอกจากบ้านหลังดังกล่าวแล้ว ยังมีบ้านข้างเคียงที่ได้รับผลกระทบจำนวนสองหลัง ซึ่งได้รับความเสียหายในส่วนของกำแพง หลังคา และรั้วบ้าน เบื้องต้นทราบว่าเจ้าของบ้านต้นเพลิงจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นายณรงค์ รักษ์คิด รักษาการหัวหน้าฝ่ายโยธา สำนักงานเขตทวีวัฒนา เปิดเผยว่า มีการยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้าง และมีวิศวกรควบคุมงานอย่างถูกต้องเมื่อปี 2553 สิ้นสุดอายุเมื่อปี 2554 และเจ้าของบ้านมีการยื่นขอก่อสร้างดัดแปลงเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วงปี 2554 สิ้นสุดปี 2555 โดยเนื้อที่ก่อสร้างมีประมาณ 600 ตารางเมตร

นอกจากนี้ วิศวกรโยธา สำนักงานเขตทวีวัฒนา ได้เข้ามาตรวจสอบร่วมกับตัวแทนเจ้าของบ้านที่มาขออนุญาตเข้ารื้อถอนอาคาร เพื่อประเมินความปลอดภัยในการรื้อถอน

ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

เร่งหาเหตุถล่ม-ไม่ให้เกิดซ้ำ

 

ด้าน ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า สาเหตุที่อาคารถล่ม น่าจะเกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ

1. การออกแบบถูกต้องหรือไม่

2. การก่อสร้างเป็นไปตามแบบหรือไม่

3. ใช้งานผิดประเภทหรือไม่

และ 4. มีตัวเร่งในกรณีนี้หมายถึงเกิดเพลิงไหม้และมากกว่านั้น

ต้องมาวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใด ทั้งนี้ ทางสภาวิศวกรยังอยากให้มีการถอดบทเรียน ในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ลักษณะนี้อีก ให้มีการนำแปลนของโครงสร้างอาคารมาดูควบคู่กับการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย

ส่วน รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ระบุว่า เนื่องจากสภาพอาคารพังทลายลงมาหมดแล้ว จึงต้องไปหาข้อมูล แบบแปลนการก่อสร้างอาคารว่า มีจุดใดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารถล่มลงมา

เบื้องต้นประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอแปลนบ้าน เพื่อที่นำไปถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต ยังไม่สามารถระบุว่ามีการต่อเติมอาคารตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตหรือไม่ ต้องขอดูแปลนบ้านก่อน

ทั้งนี้ อาคารแห่งนี้มีการก่อสร้างในช่วงปี 2554-2555 ในช่วงนั้นมีเทคโนยีการก่อสร้าง การใช้วัสดุที่ดี ทนต่อไฟอยู่แล้ว จึงต้องดูสภาพแวดล้อมรอบข้าง โดยขนาดของพื้นที่เองก็มีส่วนเกี่ยวข้อง หากพื้นที่แคบจะทำให้อาคารอมความร้อนมากกว่าอาคารที่อยู่ในพื้นที่กว้าง พื้นที่โล่งกว้างจะทำให้ความร้อนกระจายตัวได้มากกว่า

ขณะเดียวกัน วัสดุ สิ่งของที่อยู่ภายในบ้าน เช่น กระดาษ พลาสติกต่างๆ รวมทั้งวัตถุไวไฟ จะเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงได้ถึง 900-1,000 องศา จากปกติที่วัสดุก่อสร้างจะทนความร้อนได้ถึง 300-600 องศา ตรงส่วนนี้ทำให้โครงสร้างอาคารเกิดรอยร้าว มีการแยกตัวออกจากกัน ความร้อนจึงเข้าไปในช่องว่าง ทำให้เหล็กเปลี่ยนรูปร่างหรือเปลี่ยนสภาพ ยื้อกันระหว่างจุดที่แข็งแรงของตัวบ้านกับจุดที่อ่อนแอ เป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารถล่มลงมา

ยืนยันว่า อาคารที่มีอายุประมาณ 10 ปีนั้น ถือว่ายังไม่เสื่อมสภาพ หากก่อสร้างอย่างถูกต้อง จะอยู่ได้ 30-50 ปี

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องไม่ด่วนสรุป รอผลอย่างเป็นทางการเพื่อถอดบทเรียน

ไม่ให้เกิดเหตุสลดซ้ำซาก