ขัน-ไม่ขัน / บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ขัน-ไม่ขัน

 

กรณี “ขัน (น้ำ)” ณ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะ “ขัน” หรือ “ไม่ขัน”

น่าสนใจ

โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ก่อนการประชุม ส.ส.พรรค พปชร.

เจ้าหน้าที่พรรคได้มอบขันน้ำพลาสติกซึ่งมีทั้งสีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วง

เขียนข้อความ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค” และ “สุขสันต์วันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย” ให้กับ ส.ส.เขตนำไปแจกให้ประชาชนในพื้นที่ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์

โดยเตรียมไว้ประมาณ 2 แสนใบ

ข่าวระบุว่า แม้ปีนี้ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด หรือ ศบค. จะประกาศห้ามเล่นสาดน้ำ

แต่ พปชร.เดินหน้าแจก “ขัน” ต่อไป เนื่องจากเห็นว่า สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้

เพียง “ขัน” แค่นี้ ไม่น่าจะเป็นประเด็น หรือเป็นเรื่องใหญ่

 

อย่างไรก็ตาม หากย้อนความจำไปเมื่อปี 2559

กรณี “ขัน” ที่ไม่น่าจะมีอะไรนี่แหละ

กลายเป็นเรื่องที่จะเอาเป็นเอาตายกันเลยทีเดียว

เมื่อพบการแจกขันน้ำสีแดง พร้อมแผ่นภาพถ่ายของนายทักษิณ ชินวัตร กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ในขันมีคำอวยพรว่า “สวัสดีวันสงกรานต์ปีใหม่ไทย 2559” และข้อความ “แม้สถานการณ์จะร้อน ขอให้พี่น้องได้รับความเย็นผ่านขัน”

ส่วนภาพถ่ายของนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีข้อความที่อยู่ใต้ภาพว่า “สวัสดีวันสงกรานต์ปีใหม่ไทย 2559 สงกรานต์ปีนี้ผมรู้สึกคิดถึงพี่น้องเป็นพิเศษ อยากมาช่วยท่านแก้ปัญหา แต่วันนี้ขอส่งกำลังใจมาก่อน รักและคิดถึง”

ขันแดงและภาพถ่ายนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ดังกล่าว ถูกตีความในทันทีว่าเป็นสัญลักษณ์แอบแฝงทางการเมือง

โดยอาศัยเทศกาลสงกรานต์

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์โดยตั้งข้อสงสัยว่า

“สีแดง สีเหลืองก็ตักน้ำอาบได้ ทำไมถึงอยากได้สีแดง สีแดงเอามาอาบน้ำแล้วสบายกว่าสีอื่นเหรอ ขันใบละกี่สตางค์ ซื้อเองไม่เป็นเหรอ หรือชอบของฟรี แล้วใครให้มาล่ะ”

พร้อมกับสั่งการให้ตำรวจไปตรวจสอบว่าการแจกขันสีแดงเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่

“ถ้าไม่ผิดก็คือไม่ผิด แต่สมควรทำหรือเปล่า บางอย่างไม่ผิดกฎหมาย แต่สมควรทำหรือไม่ มันเป็นเรื่องของการเกรงกลัวต่อบาปที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่าหิริโอตตัปปะ”

แถมยังย้ำว่า “ถ้าเจตนาดีจะแจกขันทำไม แจกตุ่มสิ เอาไว้เก็บน้ำฝน จะแจกขันทำไม”

ขณะที่ พล.ต. (ยศขณะนั้น) สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กร้าวไม่แพ้นาย โดยระบุว่า เป็นพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ เพราะมีเจตนายั่วยุปลุกปั่นให้เกิดการแบ่งแยกประชาชนออกเป็นสี เป็นฝ่าย…การเลือกกระทำในสิ่งที่มีนัยแฝงเช่นนี้ ตีความได้เพียงประการเดียวคือ ฉวยโอกาสจากเทศกาล มาสร้างสถานการณ์ความแตกแยก

และก่อความวุ่นวายในสังคม

 

สัญญาณ “ให้จัดการ” จากผู้นำและโฆษก คสช. ทำให้ทหาร ตำรวจในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ออกกวาดจับจุดที่เป็นที่จ่ายแจกขันสีแดงกันเอิกเกริก

มีการเข้าตรวจค้นบ้านของอดีต ส.ส.เพื่อไทย อาทิ นางสิรินทร รามสูตร อดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย สำนักงาน ส.ส.นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ที่ อ.เวียงสา และสำนักงาน ส.ส.ณัฐพงษ์ สุปรียศิลป์ ที่ อ.ปัว โดยได้ยึดขันแดงที่พบทั้งหมด

พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะนั้น แถลงว่า ได้แจ้งข้อหากับผู้ครอบครอบขันแดง และถ่ายภาพลงเฟซบุ๊ก ในข้อหากระทำผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นทางการเมือง

ปฏิบัติดังกล่าว ทำให้นายทักษิณโพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพผ่านอินสตาแกรม thaksinlive ตอบโต้ว่าขันน้ำไม่กี่บาทเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกวันสงกรานต์จะต้องทำของมาแจกทุกปี แจกมาเป็นสิบๆ ปีไม่มีปัญหา ไม่ทำให้ความมั่นคงของชาติสั่นคลอนแต่อย่างใด

“วันนี้ทหารแจ้งว่าจะตั้งข้อหาผิด ม.116 …ซึ่งขันก็มีชื่อของผม ไม่เห็นต้องคาดคั้นให้มากความ จะตั้งข้อหาอะไรก็ตั้งมาเลย แล้วเอาเวลาไปดูแลประชาชน ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ระเบิดภาคใต้ ยาเสพติดดีกว่า”

เช่นเดียวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า อยากให้มองเป็นเรื่องบรรยากาศสืบสานประเพณีไทยมากกว่าจะมองเป็นเรื่องของความมั่นคง

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เราคงคุ้นเคยกันดีตอนนี้

เพราะรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือเอาผิดแกนนำกลุ่มราษฎรและเยาวชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลอย่างเอาการเอางาน

มาตรา 116 นี้อย่างที่ทราบมีบทลงโทษแรง ระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

โทษติดคุกขนาดนั้น แสดงว่าเรื่อง “ขันแดง” ซีเรียส ถึงซีดเรียสอย่างยิ่ง

 

จึงเป็นเรื่องย้อนแย้งอย่างยิ่ง ที่ในเทศกาลสงกรานต์ปี 2564

พปชร.ซี่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค เลือกที่จะใช้ “ขันน้ำ”

ขันน้ำที่เคยกล่าวหาฝ่ายตรงข้าม ว่าใช้เป็นสัญลักษณ์แอบแฝงประเพณีไทย เพื่อเคลื่อนไหวทางทางการเมือง

และงัดกฎหมายเหล็กขึ้นมาจัดการอย่างเด็ดขาด

แต่ผ่านมาไม่กี่ปี “ความทรงจำ” ในเรื่องนี้กลับเลือนหายไป

ยิ่งกว่านั้น “ขันน้ำ” ถูกกลับนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองเสียเอง

และยังสวนทางกับแนวทางของรัฐบาล ที่ “บังคับ” คนไทยไม่ให้สาดน้ำในเทศกรานต์ปีนี้ การแจกขันดูฝืนๆ กับข้อปฏิบัตินั้น

แม้จะมีการอ้างว่าเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นก็ได้

เลยกลายเป็น กรณีขัน “หลายมาตรฐาน” ที่หลายคนหัวเราะในลำคอ หึหึ

และพยายามมองเรื่องนี้ให้เป็นเรื่อง “ขัน”

 

อย่างนายพานทองแท้ ชินวัตร หรือโอ๊ค บุตรชายนายทักษิณ ได้โพสต์อินสตาแกรมส่วนตัว oak_ptt ว่า “เทศกาลสงกรานต์ ลุงถือโอกาสแจกขัน แนะนำอาชีพใหม่ให้คนไทย #เนียนนะลุง คนไทยเคยทำมาค้าขาย พอลุงยึดอำนาจ เปลี่ยนเป็นขายรถ ขายบ้าน ขายที่ ขายสมบัติเก่ากินกันเป็นแถว อยู่มา 7 ปี ลุงแจกขันทีนึง 2 ล้านใบ หากอยู่จนครบเทอม คนไทยถือขันกันทั้งประเทศ แล้วใครจะเป็นคนหยอดเงินครับลุง!!”

คล้ายกับนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความแสดงความเห็นว่า

“…ตอนปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ที่มีการปราศรัยว่า พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 5 ปี ได้แจกบัตรคนจน (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) กันทั่วหน้า และถ้าหากได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ก็อาจจะแจกบัตรขอทาน แต่สำหรับวันสงกรานต์ปีนี้ เมื่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แจกขันน้ำให้กับ ส.ส.ของพรรค ระวังอาจจะถูกแซวว่า แจกอุปกรณ์การขอทานก็ได้นะครับ 5555”

ถือเป็นมุข “ขัน” ที่ฟังแล้วอาจทำให้หลายคนเกิดอาการจุกเสียดได้ง่ายๆ

 

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก สมชัย ศรีสุทธิยากร เตือนว่า

“ขันของพลเอกประวิตร อาจไม่ขัน”

เพราะการแจกขันที่มีตราพรรคพลังประชารัฐ และชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ ส.ส.เขตไปแจกประชาชนช่วงสงกรานต์ ซึ่งสื่อบางสื่อรายงานว่า 200,000 ใบ บางสื่อว่าให้ ส.ส.แต่ละคนไปแจกคนละ 5,000 ใบ ทั้งนี้ หากเป็นกรณีหลัง ส.ส.พปชร. มี 122 คน คูณ 5,000 ใบ เท่ากับ 610,000 ใบ หากตีราคาเบื้องต้นใบละ 10 บาท เป็นเงิน 6.1 ล้านบาท แต่หากราคา 20 บาท ก็เป็นเงินถึง 12.2 ล้านบาท

“พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตรา 65 ระบุว่า แม้พ้นช่วงเลือกตั้งแล้ว แต่ถ้าพรรค ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค สมาชิกพรรค หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด ให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย กกต.ต้องสั่งให้เลขาธิการบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยต้องแจ้งกลับไปยังพรรคหรือบุคคลดังกล่าวทราบ หาก กกต.ไม่สั่ง ถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เลขาฯ กกต.ไม่แจ้งพรรค ถือว่าเลขาฯ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ พรรคการเมืองแจ้งค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ ยุบพรรค ขันจึงไม่ขัน ด้วยประการฉะนี้”

แม้จะไม่เจอมาตรา116 แต่ก็มีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ ซึ่งอาจทำให้คนที่เกี่ยวข้อง “ไม่ขัน” ก็ได้

 

ถามว่าเมื่อเป็นเรื่องขัน “ขื่น” และสุ่มเสี่ยงทางกฎหมายแล้ว

ทำไม พปชร.จึงเลือกเดินหน้าแจก “ขัน”

นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องเหนือการคาดหมาย ด้วยขณะนี้ฝ่ายกุมอำนาจ 3 ป.กำลังถูกจับตามองว่า กำลังมุ่งขยายฐานเสียง เพื่อที่จะกุมอำนาจการบริหารในนามรัฐบาลต่อไปอย่างแน่วแน่

ทั้งการแตกพรรค เพื่อขยายฐานรองรับฐานเสียงทุกฝ่าย และรองรับการเลือกตั้งทุกระบบ ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ

เราจึงน่าจะได้เห็น พปชร.สาขา 1-2-3 ในอนาคตอันใกล้

ขณะเดียวกัน ใน พปชร.เองก็ได้เห็นการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงในพรรค

โดยกลุ่มที่สนิทสนมกับ พล.อ.ประวิตร กำลังจะผลักดันให้เปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้

ที่กล่าวถึงกันมาก คือเปลี่ยนเลขาธิการพรรค จากนายอนุชา นาคาศรัย ไปเป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในนามกลุ่ม 4 ช.

เพื่อกระชับอำนาจของ พล.อ.ประวิตรให้เหนือกลุ่มการเมืองในพรรค อาทิ กลุ่ม 4 ว. นำโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และเหนือกลุ่ม กทม. ของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็เร่งขยายบารมี พล.อ.ประวิตรในฐานะหัวหน้าพรรค ให้ครอบคลุมมวลชนอย่างกว้างขวาง

กรณี “ขันสงกรานต์” จึงเป็นอีกยุทธวิธีหนึ่ง

แม้จะถูกมองว่า ไปลอกวิธีการของคนอื่นมาใช้

แต่ในนาทีนี้ อะไรที่จะสร้างบารมีให้บิ๊กป้อมได้ก็เดินหน้าเต็มที่

จะขัน-ไม่ขัน ไม่รู้!