ปริศนาโบราณคดี : ชวนอ่าน ‘มหาโศลกรุไบยาต’ เวอร์ชั่นแปล โดย ‘พงศ์เกษม สนธิไทย’ (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ชวนอ่าน ‘มหาโศลกรุไบยาต’

เวอร์ชั่นแปล

โดย ‘พงศ์เกษม สนธิไทย’ (1)

 

นักจารึกวิทยา-นักภาษาวรรณกรรม

ผู้อ่านที่ติดตามงานของดิฉันเกี่ยวกับเรื่อง “หริภุญไชยศึกษา” มาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ย่อมคุ้นเคยกับชื่อของ “พงศ์เกษม สนธิไทย” เป็นอย่างดี

เพราะท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกอักษรมอญโบราณ ซึ่งหาผู้เจาะลึกเรื่องนี้ได้น้อยนิดเหลือเกินในแวดวงวิชาการบ้านเรา

ไม่เพียงแต่ท่านจะช่วยแปลหรือปริวรรตตัวอักษรมอญโบราณจากศิลาจารึกมากกว่า 10 หลัก กับที่พบตามโบราณวัตถุ (เช่น ที่ฐานพระพิมพ์ดินเผา) มาเป็นภาษาไทยให้แล้วเท่านั้น

อาจารย์ยังช่วยวิเคราะห์ ตีความ ถอดรหัส กล้านำเสนอมุมมองใหม่เกี่ยวกับปมปัญหาอันยุ่งยากของตำนาน มุขปาฐะ ประวัติศาสตร์หน้าที่มืดมน เต็มไปด้วยข้อขัดแย้งของยุคหริภุญไชยทุกแง่มุม

ช่วยจุดประกายให้ดิฉันนำองค์ความรู้แปลกใหม่ ที่อาจารย์กล้าคิดนอกกรอบไปต่อจิ๊กซอว์ขยายผลได้หลายประเด็นอีกด้วย

ดังนั้น ช่วงที่ดิฉันทำงานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ระหว่างปี (2543-2553) มักเชิญอาจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย มาเป็นวิทยากร ที่ปรึกษาหรือคณะทำงานในกิจกรรมต่างๆ เป็นประจำทุกปี

ต่อมาท่านได้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (ทุ่งมหาเมฆ) เมื่อปี 2560

นอกเหนือไปจากความชำนิชำนาญในด้านอักขระมอญโบราณแล้ว อาจารย์พงศ์เกษมยังเป็นนักฟังเพลง นักแปลเพลงภาษาอังกฤษ และนักแปลบทกวีเทศมาเป็นภาษาไทย ได้อย่างถึงรสถึงชาติถึงอารมณ์อีกด้วย

หนึ่งในกวีนิพนธ์แปลที่อาจารย์พงศ์เกษมภาคภูมิใจมากที่สุดก็คือ “มหาโศลกรุไบยาต” (อันที่จริงตอนที่อาจารย์แปลก็ใช้ชื่อแค่ “รุไบยาต” แต่ในที่นี้ดิฉันขอตั้งชื่อใหม่ให้เองว่า “มหาโศลกรุไบยาต” เพื่อสร้างความแตกต่างจากงานแปลของท่านอื่น)

อาจารย์พงศ์เกษมได้เริ่มแปลตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย จนถึงเป็นนักศึกษาเอกวิชาภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

แปลเก็บไปเรื่อยๆ ว่างเมื่อไหร่ เกิดสุนทรียารมณ์เมื่อใดก็หยิบมานั่งอ่านทวนซ้ำ ด่ำดื่ม ปัดฝุ่น ขัดเกลาสำนวน ปรับแก้จนสำเร็จบริบูรณ์เมื่อปี ค.ศ.2003

อาจารย์พงศ์เกษมได้ส่งต้นฉบับให้ดิฉันอ่านตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว และต่อมาอาจารย์ได้มอบต้นฉบับดังกล่าวให้ตีพิมพ์ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพของญาติผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่งชื่อ “รองศาสตราจารย์พิณ สินธุเสก” เมื่อปี 2552

นับจากการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการครั้งแรกก็รวม 12 ปีแล้ว หรือการที่ดิฉันได้รับมอบต้นฉบับเป็นตัวพิมพ์ดีดกระดาษเอสี่จากมืออาจารย์ก็หลายปีดีดัก หรือการที่อาจารย์ขัดเกลาจนเสร็จสมบูรณ์ก็เกือบ 2 ทศวรรษแล้ว

อาจารย์ได้แต่เก็บเรื่องนี้ไว้อ่านคนเดียว หรือส่งให้เฉพาะเพื่อนสนิทอ่านเท่านั้น ยังไม่ได้พิมพ์ซ้ำสู่สาธารณะอีกเลย

ดิฉันเห็นว่า “งานวรรณกรรมที่ตั้งใจทำแบบนี้ ควรได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง” จึงขออนุญาตอาจารย์พงศ์เกษม ว่าดิฉันอยากเขียนถึงผลงานชิ้นดังกล่าว

 

เบื้องหลังอักษรา

ในมหาโศลกรุไบยาต

ข้อความต่อไปนี้ เป็นบทสัมภาษณ์ที่ดิฉันได้ถามอาจารย์พงศ์เกษม เริ่มด้วยคำถามที่ว่าอาจารย์ได้ต้นฉบับมาจากไหน

“ต้นฉบับที่ผมแปลนี้ได้มาจาก Norton’s Anthology of English Poetry มีสอง Volume คำว่า ‘รุไบยาต’ ไม่ใช่ชื่อตัวละครเอก แต่หมายถึง ‘โศลกที่มีรูปแบบคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง’ ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงบัญญัติไว้ว่า น่าจะเป็นคำโคลง ด้วยเหตุนี้งานแปลเรื่อง ‘รุไบยาต’ มาเป็นภาษาไทยครั้งแรกของพระองค์ท่านเมื่อปี 2457 จึงเลือกใช้โคลงสี่สุภาพมาเขียน”

“ซึ่งอันที่จริง ผมว่าเรื่องรุไบยาตเหมาะกับกลอนมากกว่าโคลง เพราะโคลงมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทำให้งานของกรมพระนราธิป เต็มไปด้วยเครื่องหมายคอมมาร์ ไฮเฟน เว้นวรรค อ่านแล้วเกิดการสะดุด อันนี้ผมแค่กล่าวถึง รูปแบบฉันทลักษณ์ที่ท่านเลือกใช้เท่านั้นนะครับ โดยส่วนตัวแล้วผมเคารพท่านมาก ถือว่าท่านเป็นครูกวีคนหนึ่งของผม และยอมรับว่าท่านพยายามอย่างยิ่งยวดแล้วในการแปลรุไบยาตให้มาเป็นโคลงสี่สุภาพ”

ด้วยเหตุนี้หรือไม่ งานของแคน สังคีต จึงเลือกที่จะใช้ “กลอนเก้า” แบบทุ่มเทใส่จำนวนคำได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วงานของอาจารย์พงศ์เกษมก็ดูค่อนไปทางกลอนเก้าด้วยเช่นกัน?

“รูปแบบของกลอนแปด มีได้ตั้งแต่ 7-10 พยางค์/คำ ผมไม่ได้ตั้งใจทำให้เป็นแพตเทิร์นของกลอนเก้าแบบแคน สังคีต เพียงแต่พบว่า หากใช้คำแค่ 8 พยางค์ แล้วไม่สามารถเก็บเนื้อหาที่ต้องการสื่อได้ครบถ้วน เนื่องจากการแปลบทกวีจากภาษาหนึ่งมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง มันจำเป็นต้องอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจทั้งเนื้อหาที่ต้องไม่ตกหล่น ทั้งยังต้องรักษาอรรถรส หากใช้คำจำกัดมากเกินไปอาจสื่อออกมาได้ไม่ครบถ้วน”

งานของ “แคน สังคีต” เป็น “รุไบยาต” ที่มีชื่อเสียงที่สุดที่คนในแวดวงวรรณกรรมกล่าวขวัญ ได้รับยกย่องว่ามี “วรรคทอง” เกือบทุกบท

แต่ทำไมจึงมีขนาดสั้นเพียงแค่ 100 บทเท่านั้น ในขณะที่งานของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และของอาจารย์พงศ์เกษม มีความยาวกว่า 300 บท

“งานของแคน สังคีต เป็นการสรุปรวบยอด ย่อเอาแกนหลักๆ ของ ‘รุไบยาต’ เฉพาะท่อนที่เด่นๆ มาสร้างวรรคทองเชิงนามธรรมมากกว่าที่จะเน้นให้ผู้อ่านดื่มด่ำในทุกรายละเอียด ซึ่งก็เป็นทางหรือเป็นลีลาเฉพาะตัวของผู้แปลแต่ละคน”

“สำหรับผมแล้ว บางบทของรุไบยาต เมื่อแปลออกมานั้น ยอมรับว่าเราต้องช่วยผู้อ่านตีความให้แตกด้วย ว่าชื่อบุคคล สถานที่ที่มหากวี ‘โอมาร์ คัยยัม’ นำมาผูกร้อยนั้นคือใคร เพราะชื่อเฉพาะเหล่านั้น มีทั้งตัวละครร่วมสมัยกับกวีผู้รจนา และบางครั้งก็โยงไปถึงสัญลักษณ์ที่ปรากฏในเทพนิยายกรีก บาบิโลน เปอร์เซียยุคโบราณ”

“ผมคิดว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นอุปสรรคทำให้ผู้แปลหลายท่าน ไม่อยากแตะชื่อเฉพาะเหล่านี้ จึงเลี่ยงเสีย เพราะเมื่อพาดพิงถึงแล้ว ผู้อ่านย่อมไม่รู้จัก ผู้แปลก็จำเป็นจะต้องทำเชิงอรรถ และการทำเชิงอรรถนั้น มันทำให้มีกลิ่นอายของงานเชิงวิชาการเข้ามาแทรกอีก ทำให้ดูไม่เป็นงานวรรณกรรม”

 

 

ระยะเวลาของการเขียนงาน “รุไบยาต” ของโอมาร์ คัยยัมนั้นหากเป็นโลกตะวันตกก็อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 ตรงกับยุคกลาง คือกอทิก ที่ผู้คนให้ความสนใจต่อดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ หรือหากเทียบเคียงกับโลกอุษาคเนย์ จะตกอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 15-16 ตรงกับสมัยพระญาอาทิตยราชสร้างพระธาตุหริภุญไชย หรือพระเจ้าอนิรุทธมหาราชแห่งพุกาม กำลังขยายแสนยานุภาพมาทางตะวันออกเฉียงใต้

“ผมเรียกยุคนั้นว่ายุคศาสนาครับ มีสงครามครูเสดหรือสงครามศาสนา 300 ปีระหว่างคริสต์กับอิสลาม โอมาร์ คัยยัม เป็นชาวมุสลิมที่หัวก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้น เขาไม่ได้เคร่งศาสนาอิสลาม แต่เขาสนใจปรัชญากรีก สนใจการก่อเกิดโลก ตำนานอีฟ-อาดาม แอปเปิล เหล้าองุ่น เมื่อเทียบกับโลกอุษาคเนย์ที่เรามีมหาราชแห่งพุกามคือพระเจ้าอนิรุทธ กับมีมหาราชแห่งหริภุญไชยคือพระญาอาทิตยราช ผมถือว่าทุกซีกโลกในยุคนั้น กำลังสร้างอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นด้วยการใช้ ‘ศาสนา’ เป็นเครื่องหลอมรวมทางจิตใจทั้งสิ้นครับ แต่ทางเปอร์เซียกลับมีคนอย่างโอมาร์ คัยยัม ที่ไม่ถึงกับปฏิเสธศาสนา หากเขามีสายตาที่กว้างไกล จึงมองหาจุดเด่นของศาสนาอื่นๆ มาผสมผสานหลอมรวมกับคติปรัชญาของศาสนาอิสลามด้วย”

อาจารย์มองว่า โอมาร์ คัยยัม มีมุมมองอย่างไรต่อโลก บางคนว่าเขาเป็นสุขนิยม วันๆ เอาแต่ร่ำสุราเมรัยเล้าโลมนารี? หรือคิดเห็นเช่นไร ต่อการที่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์เขียนในคำนำว่า น่าเสียดายที่โอมาร์ คัยยัม ไม่รู้จักศาสนาพุทธ จึงเน้นแต่การเสพสุขเชิงโลกีย์

“ไม่จริงครับ โอมาร์ คัยยัม เป็นสังคมนิยม ไม่ใช่สุขนิยม เขาเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดแบบ ‘กระแสสำนึก’ หรือ Existentialist สังเกตให้ดีๆ เวลาอ่านรุไบยาต เราจะได้ยินสุ้มเสียงของคนชั้นล่างดิ้นรน ทุกขณะชีวิต เต็มไปด้วยการวิพากษ์สังคมที่ถูกชนชั้นปกครองกดขี่ เขาเย้ยหยันโลกที่อวดอ้างเอาทรัพย์ศฤงคาร ความดี ศีลธรรมอันจอมปลอมของผู้ดีมีสกุลมาข่มเหงคนอีกกลุ่ม”

“น่าเสียใจมากที่งานของเขาถูกนำไปใช้ประโยชน์จากพวกสุขนิยม หรือถูกดูแคลนจากพวกคลั่งศาสนาพุทธ จึงมองว่าเขาเป็นสัญลักษณ์ของฮิปปี้ ขี้เหล้า เพลย์บอย ไม่จริงเลยครับ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ เท่านั้นเองที่เขาต้องการแสดงออกถึงความเป็นเสรีชน มนุษย์ผู้มีอิสรภาพ ไม่ถูกกักขัง สามารถดื่มเมรัยได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เสพกามได้โดยไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นบาป นอนข้างถนนทำตัวปอนๆ ได้โดยไม่ต้องมีอะไรมากดทับ”

“แต่ลึกๆ แล้ว เขาแสวงหาสัจธรรม แน่นอนว่าสัจธรรมในที่นี้ย่อมไม่ใช่ ‘นิพพาน’ ตามวิถีของชาวพุทธ แต่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกัน”

 

ทําไมจึงใช้คำประพันธ์ประเภทฉันท์มาประกอบในปริเฉทหัวท้ายของงาน ไหนว่าแค่ “คำโคลง” ก็ยากเกินเอื้อม ไม่เหมาะกับจริตของรุไบยาตแล้ว คำฉันท์ไม่ยิ่งโหดร้ายต่อผู้อ่านเกินไปละหรือ?

“ผมมองว่า ‘คำฉันท์’ เป็นฉันทลักษณ์ที่สง่างามอลังการที่สุด แน่นอนว่าเขียนยาก อ่านยาก หากเนื้อเรื่องทั้งหมดแปลเป็นคำฉันท์ ผมก็คิดว่าโหดเกินไป คงจะเก็บคำเก็บความได้ไม่ครบถ้วน เพราะคงมัวแต่ต้องมาคอยกังวลเรื่องข้อบังคับ ครุ-ลหุ ผมจึงนำมาใช้แค่สองช่วง คือเปิดอินโทร เป็นบทประณามพจน์ และปิดท้ายเป็นปัจฉิมพจน์”

“อีกประการหนึ่ง การนำฉันท์มาแทรกหัวท้าย อาจเป็นเพราะผมคิดถึงมหากวีสยามท่านหนึ่งนาม ‘นายชิต บุรทัต’ ด้วยกระมัง ท่านผู้นี้ดำรงชีวิตคล้ายกับตัวละครเอกใน ‘รุไบยาต’ คือแอนตี้สังคม กินแต่เหล้า คิดนอกกรอบ แต่ในความจริงเขาแสวงหาสัจธรรม เมื่อผมอ่านต้นฉบับรุไบยาตภาษาอังกฤษที่แปลโดย Edward Fitzgerald จบตั้งแต่ยังหนุ่มๆ บุคคลเพียงคนเดียวที่ลอยเข้ามาในมโนสำนึกของผมก็คือ ‘นายชิต บุรทัต’ เจ้าพ่อแห่งคำฉันท์”

“ดังนั้น เมื่อผมตัดสินใจแปลรุไบยาต นอกจากกลอนแปด (ถึงกลอนเก้า กลอนสิบ) แล้ว ผมจึงอยากเขียนคำฉันท์ฝากไว้ด้วย เพื่อรำลึกถึงนายชิต บุรทัต ครับ”

เนื้อที่หมดพอดี ยังไม่ทันได้คุยถึงรายละเอียดเรื่องกลวิธีการแปล ภาษา ลีลา ความงามของเนื้องานที่อาจารย์พงศ์เกษมได้ถ่ายทอดเลย คงต้องต่ออีกสักฉบับนะคะ

ขอจบด้วยตัวอย่างการแปลบทแรก ในท่อนที่ 1 พอให้ได้เสพเป็นน้ำจิ้ม

 

Wake! For the Sun, who scattered into Fight

The Stars before him from the Field of Night,

(And Lo! The Hunter of the East has Caught)

Drives Night along with them from Heav’n and Strikes

The Sultan’s Turret with a Shaft of Light.

 

ตื่นเถิดเหวยศรตะวันพลันพลุ่งแผลง      ไล่เสียบแทงดวงดาวพราวทุ่งสวรรค์

(พลันพรานบูรพ์เร่งเร้า เข้าประจัญ)

ขับราตรีพ้นพิสัยไปด้วยกัน                 เรืองราชัยไอศวรรย์สุดพรรณนา

ก่อนวิญญาณแห่งตีนฟ้าจะลาลับ          ข้าสดับเสียงสะท้อนวอนโหยหา

จากโรงเหล้ามอซอไม่รอรา                 เปิดเถิดน่า! โบสถ์เปิดแล้วแก้วพี่เอย