Global WiFi ธุรกิจใหม่ เบียด ‘ค่ายมือถือ’ ตกกระป๋อง? / บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Global WiFi ธุรกิจใหม่

เบียด ‘ค่ายมือถือ’ ตกกระป๋อง?

 

ดูเผินๆ ข่าวคราวของ Starlink หรือโครงการ “อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” ที่ Elon Musk เจ้าของบริษัท SpaceX ได้ประกาศปล่อย “ดาวเทียมจิ๋ว” จำนวน “42,000 ดวง” ขึ้นสู่วงโคจร

เหมือนเป็นข่าวต่างประเทศสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับผู้คนในธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแล้ว ข่าวดาวเทียม Starlink ของ Elon Musk ได้สร้างความตกใจถึงขั้น “หน้าซีด” ได้

เพราะโครงการ “อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” Starlink เป็นธุรกิจใหม่ ที่เรียกว่า Global WiFi หรือการให้บริการสัญญาณ WiFI ผ่านดาวเทียม ที่มีโครงข่ายครอบคลุมทั่วทุกมุมโลก จำนวน 42,000 ดวง

หลายคนบอกว่า Global WiFi จะเป็นธุรกิจที่จะมาแทนที่สินค้าหลักของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน คือธุรกิจ Non-Voice หรือการรับ-ส่งข้อมูลมือถือผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

จากเดิมที่ก่อร่างสร้างบริษัทบริการสัญญาณมือถือกันมา ก็เป็นธุรกิจโทรศัพท์แบบดั้งเดิมคือ Voice หรือ “การโทร.ออก-รับสาย” ซึ่งหมายถึง ธุรกิจให้บริการลูกค้าใช้โทรศัพท์มือถือพูดคุยสนทนากัน

แต่ก่อนจะไปถึงจุดที่ Global WiFi จะมาแทนที่ธุรกิจหลักของค่ายโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน

เรามาทำความรู้จักกับ Global WiFi โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่มาที่ไป และข้อมูลพื้นฐานของดาวเทียม Starlink กันก่อน

Global communication network around planet Earth in space, worldwide exchange of information by internet and connected satellites for finance, cryptocurrency or IoT technology, image furnished by NASA

อันที่จริง Starlink หาใช่บริษัทที่คิดค้น หรือให้บริการ “อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” เป็นรายแรกแต่อย่างใดไม่ เพราะจากอดีตถึงปัจจุบัน ได้มีธุรกิจ “อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” เปิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

และก็เปิดขึ้นกันมา เป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ที่ Starlink ได้สร้างความฮือฮาในปัจจุบัน ก็เนื่องมาจากการที่ Starlink ได้กำจัดจุดอ่อนของ “อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” ในอดีตไปจนหมดสิ้นนั่นเอง

เพราะนอกจากเรื่องสนนราคาค่าบริการที่แพงแสนแพงแล้ว “อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” ในอดีต ยังมีปัญหาตรงที่ “จำนวนดาวเทียม” มีน้อย ทำให้ “สัญญาณ WiFi อ่อน” และ “ไม่ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ การที่ “จำนวนดาวเทียม” ของ “อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” ในอดีตมีน้อย ส่งผลให้เกิดการแย่ง Bandwidth (ปริมาณความจุ) หรือ “ความกว้างของช่องสัญญาณ” กันในหมู่ลูกค้า

โดยหากค่า Bandwidth ยิ่งต่ำ ความเร็วในการ Download และ Upload ข้อมูลก็จะต่ำ ในทางตรงกันข้าม หากค่า Bandwidth ยิ่งสูง ความเร็วในการ Download และ Upload ข้อมูลก็จะสูง

ที่สำคัญที่สุดก็คือ “อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” ในอดีต มีค่า Latency สูง (ค่า Ping สูง) หรือมีระยะเวลาการตอบสนองระหว่าง Server ของผู้ให้บริการ กับ “โทรศัพท์มือถือ” หรือ Computer ของลูกค้าในอัตราที่ “ช้ามาก”

“ความล่าช้า” หรือที่ภาษาคนในวงการ ICT รู้จักกันดีในศัพท์ “ความหน่วง” ที่เกิดจากค่า Latency สูงนั้น เนื่องมาจากระยะทางวงโคจรของ “อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” ในอดีตนั้น “อยู่ไกลจากโลกมาก”

เพราะโดยปกติ ค่า Ping (ค่า Latency) นั้น หาก “ยิ่งต่ำ” จะ “ยิ่งดี” เพราะหมายถึงอัตราการตอบสนองระหว่าง Server ของผู้ให้บริการ กับ “โทรศัพท์มือถือ” หรือ Computer ของลูกค้าจะ “เร็วมาก” นั่นเอง

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ Starlink ได้ใช้ความล้มเหลวของธุรกิจ “อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” ในอดีต เป็นบทเรียนชั้นดี โดย Starlink ได้กำจัดจุดอ่อน ด้วยการ “เพิ่มจำนวนดาวเทียม” และ “ลดความสูงวงโคจร”

นี่คือเหตุผลที่ Elon Musk เจ้าของบริษัท SpaceX ได้ทำการปล่อย “ดาวเทียมจิ๋ว” จำนวน “42,000 ดวง” ขึ้นสู่วงโคจร เพื่อก้าวเข้าสู่ธุรกิจ “อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” ยุคใหม่ ให้ก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ

ไม่ว่าจะเป็น การที่ Starlink เป็น “ดาวเทียมวงโคจรต่ำ” ที่มีวงโคจร “ต่ำกว่าดาวเทียมทั่วไป” ถึง 60 เท่า ทำให้ Starlink แก้ไขจุดอ่อนเรื่อง Latency ให้ต่ำลงได้ จนความเร็วเทียบเท่ากับอินเตอร์เน็ตบ้านในปัจจุบัน

พูดอีกแบบก็คือ Starlink ถูกกดวงโคจรลง ลดระดับให้เป็น “ดาวเทียมวงโคจรต่ำ” ส่งผลให้ระยะทางการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างภาคพื้นดิน (มือถือลูกค้า) กับดาวเทียมสั้นลง ค่า Latency (ค่า Ping) จึงต่ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำนวน “ดาวเทียมจิ๋ว” ของ Starlink ที่มีปริมาณมากถึง “42,000 ดวง” ให้ความครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย ปลดล็อกปัญหาการแย่ง Bandwidth หรือ “แย่งช่องสัญญาณ” กัน

ส่งผลให้ลูกค้าทุกคนสามารถเข้าถึง WiFi ได้อย่างรวดเร็วทันใจ จากการเชื่อมต่อโดยตรงกับ “ดาวเทียม 42,000 ดวง” ที่ลอยอยู่เหนือศีรษะไม่ไกล เนื่องจาก Starlink เป็น “ดาวเทียมวงโคจรต่ำ” นั่นเอง

 

ผมจึงวิเคราะห์ว่า การมาถึงของ Global WiFi โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Starlink ของ Elon Musk จะกลายไปเป็น “ธุรกิจใหม่” ที่เบียดให้ “ค่ายมือถือ” ดั้งเดิม ที่ให้บริการอยู่ทุกวันนี้ “ตกกระป๋อง” อย่างง่ายดาย

พูดง่ายๆ ว่า สำหรับคนทั่วไปย่อม Happy ที่มี “ทางเลือกที่ดีกว่า” แต่สำหรับคนในธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแล้ว ข่าวดาวเทียม Starlink ของ Elon Musk อาจสร้างความตกใจถึงขั้น “หน้าซีด” ได้

ประการที่หนึ่ง ทุกวันนี้ เหลือ “ลูกค้าค่ายมือถือ” ปริมาณน้อยมาก ที่ใช้บริการ “โทร.ออก-รับสาย” หรือ “การคุยโทรศัพท์” หรือที่ “ค่ายมือถือ” เรียกว่า บริการ Voice เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นแบบ Non-Voice

จึงแทบไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องเป็น “ลูกค้าค่ายมือถือ” ดั้งเดิมอีกต่อไป ประการสำคัญก็คือ ปัญหา “อับสัญญาณ” ถ้าในเมืองก็ตาม “สี่แยก” ที่ค่า Bandwidth มักจะต่ำ เพราะคนแย่งกันใช้ช่องสัญญาณ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ “สัญญาณมือถืออ่อน” หรือบางแห่งถึงขั้น “ไม่มีสัญญาณ” จุดนี้ Global WiFi จึงตอบโจทย์มากกว่า “ค่ายมือถือ” ดั้งเดิม เพราะ “ดาวเทียม” ที่โคจรอยู่รอบโลก เหนือข้อจำกัด “เสาสัญญาณมือถือ”

 

นอกจาก “ค่ายมือถือ” ที่ “หน้าซีด” แล้ว อีกธุรกิจหนึ่งที่ดูเหมือนจะ “หน้าซีด” ไม่แพ้กัน หรือ “มากกว่า” ก็คือ ISP หรือ Internet Service Provider (ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต) เจ้าของเครือข่าย WiFi หรือ “อินเตอร์เน็ตบ้าน” และ “เน็ตองค์กร”

เพราะถ้า Starlink เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ Global WiFi จะเป็นศัตรูตัวฉกาจ ที่จะมา Disrupt ธุรกิจ ISP โดยตรง ISP จึงเดือดร้อนไม่น้อยหน้า “ค่ายมือถือ” เพราะต่อไปนี้ ลูกค้า “ต่อ WiFi” ผ่านดาวเทียมโดยตรง ไม่ง้อ ISP

ลูกค้าจำนวนมากอาจจะสะใจ เพราะทุกคนรู้ดีว่า ISP ทุกวันนี้ ดีเลิศประเสริฐศรีเพียงใด? เพราะเน็ตทั้งช้า ทั้งอืด บางวันก็เสียเฉยๆ ไม่มีปี่มีขลุ่ย Downtime ก็สูง หมายถึง เสียทีหนึ่ง กว่าจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติ นานมาก!

แต่คนที่ “คิดหนัก” ที่สุด เห็นจะเป็น “ผู้ถืออำนาจรัฐ” ครับ เพราะการกำกับดูแล “บรรษัทข้ามชาติ” อย่าง Starlink เจ้าของ Global WiFi แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ดูอย่างทุกวันนี้ Facebook Lazada Grab Airbnb กำกับดูแลยาก

การมาถึงของ Global WiFi จึงนอกจากจะ Disrupt ธุรกิจสื่อสารแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น ISP (ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ค่ายมือถือดั้งเดิม” แล้ว “ผู้ถืออำนาจรัฐ” ที่กำกับดูแลการสื่อสาร ก็อาจจะถูก Disrupt ไปด้วย

เพราะต่อไปนี้ ผมเชื่อว่า นอกจาก Starlink ก็จะมีบริษัทอื่นๆ ที่ทำธุรกิจ Global WiFi เปิดตัวอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น Loon ของ Google หรือ Aquila ของ Facebook ที่แม้ปัจจุบัน ทั้งสององค์กรจะประกาศชะลอโครงการไปแล้วก็ตาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Project Kuiper ของ Amazon ที่เปิดตัวตามมาติดๆ จุดนี้ผมจึงมองว่า ในอนาคตเป็นเรื่องยากที่ “ผู้ถืออำนาจรัฐ” ที่กำกับดูแลการสื่อสารจะ “ควบคุมดาวเทียม” ของ “บรรษัทข้ามชาติ” นี้ ที่มีมากถึง 42,000 ดวง!