E-DUANG : ความรุนแรง ต่อม็อบ 20 มีนาคม สยบ หรือ ท้าทาย ปฏิกิริยากลับ

มีความรุนแรง 2 ความรุนแรงที่กระทำต่อ”เยาวชน”โดยตั้งเป้าว่าจะทำให้เกิดความกลัว และกระบวนการชุมนุมเคลื่อนไหวในทางการ เมืองจะค่อยๆฝ่อและจางจากหายไป

1 คือ การใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้ม กระทั่งมีการคุมขังทั้งๆที่ยังไม่มีคำพิพากษา

ดังในกรณีของ นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน 1 คือการใช้มาตรการในการสกัดขัดขวางต่อการชุมนุมอย่างเข้มข้นดุเดือด ไม่เพียงแต่จะใช้รถฉีดน้ำหากยังใช้แก๊สน้ำตา การยิงกระสุนยาง

เห็นได้อย่างชัดเจนจากสถานการณ์#ม็อบ28กุมภาพันธ์ เห็นได้อย่างชัดเจนจากสถานการณ์#ม็อบ6มีนาคม และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากสถานการณ์#ม็อบ20มีนาคม

คำถามที่ตามมาอย่างฉับพลันทันใดก็คือ แล้วบรรดา”เยาวชน” ทั้งหลายบังเกิดความกลัวตามเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่

เด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่า อาจกลัว แต่ก็มิได้ยอมจำนน ตรงกันข้าม การชุมนุม การเคลื่อนไหวก็ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง มิได้ฝ่อ มิได้แผ่วลงแต่อย่างใด

 

สถานการณ์การชุมนุมอาจเทียบไม่ได้ในเชิงปริมาณกับสถานการณ์ การชุมนุมในห้วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่ก็มิได้หมดสิ้นไปอย่างที่มีการป่าวร้องแต่อย่างใด

แม้ว่าการชุมนุมอื่นๆอาจไม่มีปริมาณมากนัก กระนั้น กล่าวสำ หรับการนัดหมายโดย REDEM กลับมากด้วยความคึกคัก

หากจะศึกษากระบวนการปรากฏขึ้นและดำเนินไปผ่านการนัดหมายของ REDEM ไม่ว่าจะเป็นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ไม่ว่าจะเป็นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม

ภาพที่เห็นก็คือ ไม่ว่าจะนัดที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่ว่าจะนัดที่ 5 แยกลาดพร้าว ไม่ว่าจะนัดที่สนามราษฎร์ มวลชนต่างทยอยกันเข้าร่วมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

สะท้อนให้เห็นว่าความรุนแรงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์กลับกระตุ้นให้มาในวันที่ 6 และในวันที่ 20 มีนาคม

 

ทั้งๆที่มีความรุนแรงรออยู่ ทั้งๆที่การชุมนุมของ REDEM ไม่มีแกนนำ ไม่มีเวที ไม่มีการปราศรัย แต่ปรากฏว่าปริมาณของมวลชนที่เข้า ร่วมกลับมากขึ้น มากขึ้น

ไม่ว่าจะมองจากทางด้านของรัฐบาล ไม่ว่าจะมองจากทางด้านของตำรวจ ย่อมเป็นปฏิกิริยาที่สวนทางกับที่คาดหวังตั้งไว้เด่นชัด

ปรากฏการณ์เช่นนี้น่าศึกษา น่าวิเคราะห์อย่างจริงจัง