ครัวอยู่ที่ใจ l ทางรอดอยู่ในครัว : น้ำใจช่าง / อุรุดา โควินท์

 

ทางรอดอยู่ในครัว

: น้ำใจช่าง

 

ฉันเปลี่ยนใจจากการเช่าบ้าน มาต่อเติมบ้านเส้นก๋วยเตี๋ยว (บ้านหลังเล็กๆ ยาวๆ) ทำห้องครัว และทำห้องทำงานบนที่ดินของแม่

แรกทีเดียว เมื่อรู้ว่าต้องย้าย อย่างแรกที่ฉันคิดได้คือเช่าบ้าน แต่เพราะเราเป็นมนุษย์ที่อยู่บ้าน ทำงานในบ้าน ทำอาหารกินที่บ้าน เป็นสองนักเขียนที่มีเปียโน มีหนังสือกับจานชามมากมาย ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้บ้านที่เหมาะกับเราหายากเหลือเกิน ทั้งในแง่ของราคาค่าเช่า และพื้นที่ใช้สอย

พอแม่ออกปากชวนให้ไปอยู่บ้านแม่ โดยสัญญาว่าจะไม่มีใครให้ฉันย้ายอีก และฉันอยากสร้างอะไรตรงไหนก็สร้าง ฉันจึงเปลี่ยนใจทันที

ฉันรู้ว่าสัญญาปากเปล่านั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ (อย่างที่เคยเจอมาแล้ว) แต่ไม่ว่าคิดทบทวนกี่ตลบ ฉันก็พบว่า นี่คือการตัดสินใจเพื่ออนาคต

 

พอตัดสินใจจะย้าย ฉันก็บอกเขา (แทบจะวันเว้นวัน) เราต้องกลับมาดูแม่นะ ทำให้ฉันรู้ว่า ยังไงเสีย ฉันก็ต้องวิ่งไปวิ่งมา ระหว่างบ้านเช่ากับบ้านแม่

เอาเงินที่จะเช่าบ้าน มาสร้างครัว ทำสตูดิโอทำงานบนที่ดินของแม่ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

เราต้องสร้างเพิ่มเยอะมาก เป็นบ้านแบบแยกส่วน ครัวใช้โรงบาติกเดิม บ้านเดิมที่ฉันเคยอยู่คนเดียว แต่เล็กมากนั้น ดัดแปลงจากโรงรถของแม่ มันมีห้องน้ำแล้ว เราจะใช้นอน ใช้แต่งตัว เปลี่ยนครัวเล็กๆ ตรงกลาง เป็นบาร์เครื่องดื่ม และเหลือพื้นที่ด้านหน้าไว้กินข้าว

ห้องทำงานของสองนักเขียนสร้างใต้ต้นลิ้นจี่ ยกพื้นขึ้นมาหน่อย ที่กวนสบู่ของฉัน จะใช้พื้นที่ด้านข้าง ระหว่างบ้านเก่าที่ดัดแปลงจากโรงรถกับรั้ว

ที่ต้องทำโครงสร้างจริงๆ คือห้องทำงานนักเขียน นอกนั้นคือการดัดแปลง ฉันแน่ใจ- ค่าวัสดุไม่น่าจะมากมาย ค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวแปร คือค่าแรงช่าง

ฉันขอให้พี่ยกมาดูพื้นที่ แยกแจกรายละเอียด บอกปัญหาเขาไป และขอให้เขาคิดค่าแรงมา

ฉันให้เกียรติช่างเสมอ ฉันไม่เคยต่อค่าแรงช่าง เพราะถือว่า นั่นเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าเขาควรได้รับ คำตอบของฉัน คือทำ หรือไม่ทำ

ถ้าจ่ายไม่ไหว ก็ไม่ทำ เรียบง่ายแค่นี้

พี่ยกกลับไปคิดสองวัน ก่อนจะโทร.มาบอกฉัน

“ทำเสาร์นี้เลยค่ะ” ฉันตอบเขา

ตัวเลขที่เขาให้มา ต่ำกว่าการคะเนของฉันมาก ฉันรู้สึกได้ว่า เขาเข้าใจ เห็นใจ และอยากช่วยฉันทำบ้าน

 

พี่ยกชอบทำบ้าน แต่ข้อจำกัดของพี่ยกก็คือ พี่ยกมีทีมเล็กๆ แค่สามคน และทีมของพี่ยกทำงานได้แค่เสาร์-อาทิตย์

พี่ยกมีงานประจำอยู่แล้ว จะทำบ้านกับพี่ยก ต้องรู้จักรอ แต่ฉันเจอช่างมาก็หลายคน ไม่เคยเห็นใครสนุกกับงานเท่าพี่ยก ที่สำคัญ พี่ยกเก่งงานไม้ ซึ่งเลอค่ามากสำหรับฉัน

เสาร์แรก พี่ยกทำพื้นครัวเสร็จ วางผังห้องทำงานเสร็จ พี่ยกบอกว่า สัปดาห์หน้าจะเริ่มก่อ

ส่งถุงก๊อบแก๊บให้ฉันก่อนกินมื้อกลางวันของวันอาทิตย์ “ตำมะเขือครับ ผมทำมาเผื่อ”

ฉันยิ้ม เขาคงเห็นว่าเมื่อวานฉันแอบดูสำรับของพวกเขา มันน่ากินมากถึงมากที่สุด ไม่มีอะไรทำให้ฉันอยากอาหารเท่าการห่อข้าวมากินด้วยกันอีกแล้ว

ตำมะเขือทำไม่ยาก แต่ฉันไม่ค่อยทำ เพราะทำทีไร ก็เผลอทำรสจัดไปหน่อย

ไม่ใช่แค่ฝีมือเชิงช่าง พี่ยกทำอาหารด้วยหรือนี่

ฉันจัดลงจานสวยๆ กินกับผัดผักและไข่เจียวของเรา บอกเขา “พี่ยกทำมาให้”

“แกน่ารักจริงๆ” เขาบอก

ใช่ ในความโชคไม่ดีทั้งมวล การได้เจอช่างแบบพี่ยกคือความโชคดี คือสิ่งชุบชูใจ

เขาตักชิม

ฉันรีบบอก “จริงๆ ต้องกินกับไข่ต้ม แต่เห็นว่าเรามีไข่เจียวแล้ว”

“อร่อย” เขาว่า “หน้าตาดูไม่ดีนะ มันซีดๆ เศร้าๆ แต่อร่อยมาก”

ฉันรีบตักกิน รสดีมาก สัมผัสดีมาก

 

ตํามะเขือทำไม่ยาก ใจความสำคัญคือ เราต้องย่างมะเขือยาวให้สุกเสียก่อน และควรสุกอย่างช้าๆ ด้วยไฟอ่อนของเตาถ่าน

ลอกเปลือกดำๆ ของมะเขือออก แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ มะเขือยาวย่างรสจะหวานนุ่มนวล เอามายำก็อร่อย

ตอนที่ย่างมะเขือ ใส่หัวหอม กระเทียม พริก และกะปิห่อใบตองใต้เตา ได้ย่างไปด้วยกัน

เอามาปอกเปลือกออก ตำให้ละเอียด แล้วค่อยตำมะเขือให้เข้ากันเป็นอย่างสุดท้าย

โรยกระเทียมเจียว ต้นหอม ผักชี อืม…ถ้ามีสะระแหน่จะเด็ดมาก

ปรุงรสด้วยเกลือนิดหน่อย ก็จบ

แต่กับจานนี้ ฉันว่าต้องมีอะไรอีกสักอย่าง หรือสองอย่าง นอกเหนือจากนั้น

กินข้าวเสร็จ ล้างจานเสร็จ ฉันจึงเดินไปถามพี่ยก

“ผมใส่ฮ้าแห้งนิดหนึ่งครับ ย่างให้หอมๆ ใส่ลงไปด้วย” เขาบอก

มิน่าล่ะ มันมีมิติที่แตกต่าง เคล็ดลับของพี่ยกสินะ

“พี่พูกินได้มั้ย ฮ้าแห้ง” พี่ยกถาม น้ำเสียงมีความกังวล

ฉันไม่เคยถามอายุเขา แต่เราต่างเรียกกันว่าพี่ -ด้วยความนับถือ

“ไม่ใช่กินได้ค่ะ อร่อยมาก อร่อยจนต้องมาถามพี่เลย ว่าทำยังไง”

พี่ยกยิ้มอายๆ “ผมทำไปตามประสา พี่พูชอบ ผมก็ดีใจ เสาร์หน้าผมจะตักแกงมาเผื่อนะ”

ฉันหัวเราะ “โอเคค่ะ พูทำแกงเขียวหวาน เราเอามากินด้วยกันนะคะ”

“ได้เลยครับ” แล้วเขาก็เดินไปทำงาน

เขารู้เสมอว่าเขากำลังทำอะไร และต่อไปต้องทำอะไร พี่ยกเป็นช่างในฝันของฉันจริงๆ