สุจิตต์ วงษ์เทศ : ชาวสุพรรณเล่นเพลง ในวังหลวง พระเพทราชา

เพลงสุพรรณ "บ้านพลูหลวง" สมัยอยุธยา อาจมีอีแซวอยู่ด้วย (ภาพเพลงอีแซวของคณะขวัญจิต ศรีประจันต์ ที่โรงละครแห่งชาติ พ.ศ.2518)

 

ชาวสุพรรณเล่นเพลง

ในวังหลวง พระเพทราชา

 

“สุพรรณเมืองเพลง” เป็นที่รับรู้สืบเนื่องยาวนานมาก ตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ดังพบ “นิทานการเมือง” ในพระราชพงศาวดารฯ เล่าว่าชาวสุพรรณเล่นเพลงในวังหลวงของพระเพทราชา

ชาวเมืองสุพรรณบ้านพลูหลวง หญิงและชายกลุ่มหนึ่งเล่นเพลงโต้ตอบแก้กันในวังหลวงอยุธยา เพื่อสมโภชพระเพทราชาเมื่อได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2231 ราว 333 ปีที่แล้ว

เพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชายเป็นชื่อในเอกสารดั้งเดิม ต่อมาเรียกสั้นๆ ว่า “เพลงโต้ตอบ” แต่ปัจจุบันเรียก “เพลงพื้นบ้านพื้นเมือง” ส่วนภาษาวิชาการเรียกยากขึ้นไปว่า “เพลงปฏิภาคย์”

เพลงโต้ตอบที่ชาวเมืองสุพรรณบ้านพลูหลวงพากันเล่นในวังหลวงอยุธยาเป็นพวกเพลงเก็บดอกไม้ร้อย, เพลงไก่ป่า และเพลงต่างๆ (พบในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา) น่าจะหมายถึงประเภทเพลงฉ่อย, เพลงปรบไก่, เพลงเทพทอง, เพลงเรือ, เพลงอีแซว เป็นต้น

เพลงเหล่านี้จัดอยู่ในกลอนเพลง (หรือกลอนร้องเล่น) เป็นกลอนหัวเดียว มีต้นตอรากเหง้าจากคำคล้องจองของภาษาไทย ซึ่งฟักตัวอยู่บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง (ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา) ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกการค้าโลก (ไทยเรียก สมัยทวารวดี) เรือน พ.ศ.1000

ชาวเมืองสุพรรณบ้านพลูหลวงกลุ่มหนึ่งเล่นเพลงโต้ตอบแล้วถูกบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารซึ่งเขียนในแผ่นดิน ร.4 กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นหลักฐานตรงตัวว่าลักษณะเด่นเป็นพิเศษของชาวเมืองสุพรรณคือ “เล่นเพลง” จะเพลงโต้ตอบ หรือเพลงอะไรก็ตาม เป็นที่รับรู้สืบเนื่องยาวนานผ่านสมัยอยุธยา, ธนบุรี, จนถึงรัตนโกสินทร์ ลักษณะเด่นอย่างนี้หล่อหลอมให้ชาวท่าจีน-แม่กลอง ร่วมสมัยเป็นนักร้อง “เพลงลูกทุ่ง” ในวัฒนธรรมป๊อป

 

นิทานการเมือง “ด้อยค่า” พระเพทราชา

ชาวบ้านพลูหลวง เมืองสุพรรณ ล้วนเป็น “ข้าหลวงเดิม” ของพระเพทราชา พากันเล่นเพลงโต้ตอบในวังหลวงอยุธยา เป็น “นิทานการเมือง” ใส่ร้ายเพื่อ “ด้อยค่า” พระเพทราชา ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง

พระราชพงศาวดารฯ ตอนชาวบ้านพลูหลวง เมืองสุพรรณ เข้าวังหลวง อยุธยา มีข้อความพรรณนาจงใจใช้สำนวนโวหารและถ้อยคำภาษาแสดงอารมณ์ความรู้สึกเยาะเย้ยเหยียดหยันถากถางเชือดเฉือนว่าพระญาติวงศ์และข้าหลวงเดิมของพระเพทราชาเป็นพวก “บ้านนอก” ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง, ผู้ใหญ่ผู้น้อย และกาลเทศะ

ดังนั้น จะยกมาให้อ่านแล้วพิจารณาร่วมกัน ต่อไปนี้

 

บางตอนจากพระราชพงศาวดารฯ

ขณะนั้นส่วนพระญาติวงศ์และข้าหลวงเดิมทั้งหลาย ซึ่งอยู่ ณ บ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี แจ้งว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้ผ่านพิภพแล้วต่างคนต่างก็ชื่นชมยินดียิ่งนัก จึงชวนกันหามัจฉมังสาและผลตาลแก่อ่อน สิ่งของต่างๆ ตามมีประสาชนบทประเทศบ้านนอก นำเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เหล่าพระญาติวงศานุวงศ์และข้าหลวงเดิมทั้งหลายเข้ามาในพระราชวัง โดยทางประตูมหาโภคราชข้างท้ายสระ และให้ยับยั้งอยู่ในพระราชวัง ใกล้พระราชนิเวศน์มหาสถาน แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้เข้ามาเฝ้าถวายสิ่งของทั้งปวง

และพระญาติวงศานุวงศ์และข้าหลวงเดิมทั้งหลายเป็นชาวชนบทประเทศ มิได้รู้จักพิดทูลตามขนบธรรมเนียมประการใดไม่ เคยพูดจาแต่ก่อนอย่างไรก็พูดจาพิดทูลอย่างนั้น และว่าตูข้าทั้งหลายรู้ว่านายท่านได้เป็นเจ้าก็ยินลากยินดียิ่งนัก ชวนกันเข้ามาเพื่อจะชมบุญนายท่าน และซึ่งตายายผู้เฒ่าผู้แก่คนนั้นๆ พ่อแม่อีนั่นอ้ายนั้นป่วยเจ็บอยู่เข้ามาไม่ได้ ได้ฝากแต่สิ่งของอันนั้นเข้ามาให้กำนัลนายท่านด้วย

ส่วนข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลายได้ฟังดังนั้น จึงห้ามว่าท่านทั้งหลายอย่าเรียกว่านาย พระองค์ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว และท่านทั้งหลายอย่าพูดจาพิดทูลดังนี้มิสมควรยิ่งนัก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงพระสรวล ดำรัสว่าคนเหล่านี้มันเป็นชาวบ้านนอก เคยชำนาญพูดจามาแต่ก่อนอย่างนั้น เรามิได้ถือ อย่าห้ามมันเลย แล้วทรงพระกรุณาให้วิเสทตกแต่งโภชนาหารมาเลี้ยงดูให้อิ่มหนำ

และพวกพระญาติวงศ์และข้าหลวงเดิมทั้งหลายได้รับพระราชทานโภชนาหารมีรสอันอร่อยต่างๆ บางคนเป็นนักเลงสุรา ก็กราบทูลว่านายท่านตูข้าอยากกินสุรา ก็ทรงพระกรุณาให้เอาสุรามาพระราชทานให้บริโภค ครั้นได้รับพระราชทานแล้วก็เมาสุรา บ้างร้องเพลงเก็บดอกไม้ร้อย และเพลงไก่ป่าต่างๆ

สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินตรัสได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงพระสรวล แล้วมีพระราชดำรัสให้เจ้าจอมเถ้าแก่นำเอาพระญาติวงศ์และข้าหลวงเดิมทั้งหลายเข้าไปเที่ยวชมในพระราชวังข้างใน และพระราชมนเทียร และพระญาติวงศาข้าหลวงเดิมทั้งหลายเข้าไปเที่ยวชมในพระราชวังข้างใน และบนพระราชมนเทียร และพระญาติวงศ์ข้าหลวงเดิมทั้งหลาย ได้เห็นเครื่องสิริราชสมภารอันงามวิเศษต่างๆ และนางพระสนมอันมีสิริรูปอันงามกอปรด้วยเครื่องอลังการนุ่งห่มงามต่างๆ ต่างคนต่างสรรเสริญเป็นอันมาก และชมพระราชกฤษฎาธิการว่านายเรามีบุญยิ่งนัก และเที่ยวชมบนพระราชมนเทียรและจังหวัดพระราชวังทั้งปวงทั่วแล้วกลับมาเฝ้า ถวายบังคมแล้วกราบทูลสรรเสริญโดยได้เห็นทั้งปวงนั้น แล้วทูลถามว่าค่ำวันนี้นายท่านจะให้ตูข้าทั้งหลายนอนที่ไหน จึงมีพระราชดำรัสว่าเอ็งทั้งหลายจงนอนอยู่บนพระราชมนเทียรเถิด แล้วทรงพระกรุณาให้เหล่าพระญาติวงศ์และข้าหลวงเดิมทั้งหลาย นอนอยู่บนพระราชมนเทียรสถาน

ครั้นรุ่งเช้าทรงพระกรุณาให้จัดแจงเลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญแล้ว ก็พระราชทานเงินทองพรรณผ้านุ่งห่ม สิ่งของเครื่องศรีสมรสต่างๆ เป็นอันมากโดยลำดับฐานานุรูปถ้วนทุกคน แล้วให้พระราชทานเงินทองสิ่งของทั้งปวงฝากไปให้แก่ผู้ซึ่งไม่ได้มานั้น และเหล่าพระญาติวงศ์ข้าหลวงเดิมทั้งหลายได้รับพระราชทานสรรพวัตถุทั้งปวงแล้ว ถวายพระพรต่างๆ แล้วถวายบังคมลา

ทรงพระกรุณาโปรดให้กลับออกไปอยู่ภูมิลำเนาแห่งตนดุจก่อน