ไล่ไทม์ไลน์ปมพิพาท ‘บางกลอย’ : เปิดคำสั่งเอาผิด ‘ชัยวัฒน์’ ให้ออก-เผาบ้านกะเหรี่ยง เจ้าตัวสู้-ฟ้องเอาผิดปปท.

เปิดคำสั่งเอาผิด ‘ชัยวัฒน์’ ให้ออก-เผาบ้านกะเหรี่ยงเจ้าตัวสู้-ฟ้องเอาผิดปปท.

ย้อนปมพิพาท ‘บางกลอย’

ยังคงเป็นเรื่องราวที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด สำหรับการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย

ที่ประกาศจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่บ้านใจแผ่นดิน ภายในเขต อ.แก่งกระจาน จ.เพชบุรี หลังจากต้องพลัดที่นาคาที่อยู่จากแนวนโยบายของรัฐ

ทั้งที่เคยอยู่ในที่ดังกล่าวมานานกว่าร้อยปี นานกว่าการประกาศเขตพื้นที่ป่าเสียอีก!??

ต้องเผชิญกับไม้แข็ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการกวาดต้อน เผาทำลายทรัพย์สิน

ผ่านการต่อสู้มานับสิบปี ต้องเผชิญกับปฏิบัติการข่าวสาร ระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงไม่ใช่คนไทย ทำลายป่าต้นน้ำ ซึ่งก็ต้องสู้ด้วยความจริงเรื่อยมา

ต่อสู้กันจนแกนนำคนสำคัญอย่าง “บิลลี่ พอละจี” ถูกอุ้มหาย และจนถึงวันนี้ความยุติธรรมก็ยังไม่ปรากฏ

อย่างไรก็ตาม ในห้วงที่เรื่องราวยังไม่มีข้อสรุป ก็พอจะมีเค้าลางของความยุติธรรมให้ได้เห็น

เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน ออกจากราชการ ด้วยความผิดบุกเผาบ้านกะเหรี่ยงนับร้อยหลัง

พร้อมให้ดำเนินคดีอาญา

ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าคดีจะสิ้นสุดลงที่ใด และชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจะได้กลับบ้านเกิดหรือไม่

ต้องติดตามกันต่อไป

 

ฟัน ‘ชัยวัฒน์’ เผาบ้านปู่คออี้

ท่ามกลางความสับสนในเรื่องของการเดินทางกลับบ้านเกิดที่บ้านบางกลอย ใน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

อย่างน้อยกลุ่มชาวบ้านก็ยังได้ชุ่มชื่นจิตใจกับความยุติธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ที่มีนายประสาท พงษ์ศิวาภัย เป็นประธาน มีมติชี้มูลความผิดนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี กรมอุทยานแห่งชาติฯ ในความผิดสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติรวม 6 คน เข้ารื้อถอน เผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สินอื่นๆ ของนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และชาวบ้านอีกหลายราย โดยระบุว่าเป็นความผิดตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา และให้ออกจากราชการ

พร้อมให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้นสังกัด ดำเนินการทางวินัยและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องในคดีอาญา

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างช่วงวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 นายชัยวัฒน์และพวกเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ เข้ารื้อถอน เผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สินอื่นๆ ของนายโคอิ หรือปู่คออี้ มีมิ และของชาวบ้านอีกหลายรายซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ได้รับความเสียหายราว 100 หลัง

จากนั้นนายคออี้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนายชัยวัฒน์และพวก ต่อพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน และสำนวนถูกส่งไปยัง ป.ป.ท. มีการสืบสวนสอบสวนเป็นระยะเวลานานกว่า 9 ปี กระทั่งมีมติชี้มูลความผิด ขณะที่ความผิดตามมาตรา 217 วางเพลิงเผาทรัพย์ และมาตรา 358 ทำให้เสียทรัพย์กำลังจะขาดอายุความ 10 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2564

ซึ่งคดีดังกล่าว นายคออี้ฟ้องศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีคำพิพากษามาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 กรณียื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่รื้อถอน เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า พิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดในคดีนี้ ประกอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ สามารถใช้ดุลพินิจไม่ใช้มาตรการที่มีความรุนแรงกระทำต่อสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีได้ แม้จะมีกฎหมายให้อำนาจไว้ก็ตาม การเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินจึงทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกต้องสูญเสียปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ถือเป็นพฤติการณ์ที่มีความร้ายแรง กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิในการดำรงชีวิตและสิทธิในทรัพย์สินอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จึงให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นเงิน 51,407 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นเงิน 51,032 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นเงิน 51,407 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 4 เป็นเงิน 45,302 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 5 เป็นเงิน 50,807 บาท และผู้ฟ้องคดีที่ 6 เป็นเงิน 51,032 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

เป็นบทสรุปของการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เป็นธรรม

เจ้าตัวสู้-ยื่นเอาผิด ป.ป.ท.

ขณะที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ผู้บังคับบัญชานายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อ ป.ป.ท.ชี้มูลและมีมติออกไปแล้ว ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามนั้นคือไม่สามารถขัดมติได้ ไม่สามารถอุทธรณ์ได้เพราะเป็นกฎหมายตามความผิดที่ ป.ป.ท.ชี้มูลทันที

มติ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ท. นายชัยวัฒน์ต้องออกจากราชการ

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า มติของ ป.ป.ท.ทำให้เกิดความยุติธรรมต่อปู่คออี้ และชาวบ้าน 98 หลังที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เผาตามยุทธการตะนาวศรี เพราะมีหลักฐานว่าพื้นที่ที่ถูกเผาคือใจแผ่นดิน อยู่ในรายงานของอุทยานฯ แก่งกระจานชัดเจน ไม่ใช่กองกำลังต่างชาติที่เข้ามาค้ายาเสพติดตามที่เจ้าหน้าที่อ้าง

อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ก็ยังตอบโต้ ระบุว่า ถูกกลั่นแกล้ง ทั้งหมดเป็นการสอบสวนโดยมิชอบ ซึ่งการสอบสวนเหมือนถูกตั้งธงมาแล้ว ไม่มีการสอบถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง ใครเป็นคนเผา ภาพที่ปรากฏตามข่าวที่มีการเผาบ้านนั้นเป็นคนละจุดกับหมู่บ้านปู่คออี้ บ้านของปู่คออี้อยู่ที่ห้วยสามแพร่ง จ.ราชบุรี ไม่มีการเผาทำลายแต่อย่างใด

ส่วนจุดที่เผาเป็นพื้นที่สันเขาชายแดนไทย-พม่า ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นเจ้าของ แต่ขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าไปเจรจากับกลุ่มคนที่อยู่จุดนั้น ส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ และพบการพกพาอาวุธ มีการปลูกกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติด และสุดท้ายเมื่อเขารู้ว่าเจ้าหน้าที่รู้ว่าเขามียาเสพติด เขาก็ทิ้งพื้นที่และอพยพกันไป

พร้อมเดินหน้าแจ้งความดำเนินคดีต่อ บก.ปปป. เพื่อให้เอาผิดคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่มีมติชี้มูลความผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ม.157

สู้กันยาวเป็นหนังชีวิตแน่นอน

ย้อนที่มา ‘เซฟบางกลอย’

อย่างที่รู้กันว่าการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ผ่านการต่อสู้กันมายาวนาน โดยนักต่อสู้คนสำคัญที่จะลืมไม่ได้ก็คือบิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ ลูกของปู่คออี้ ที่หายตัวไปอย่างปริศนาหลังถูกนายชัยวัฒน์จับกุมข้อหามีน้ำผึ้งป่า ต่อมาอ้างว่าปล่อยตัวไป เหตุเกิดเมื่อปี 2557

ต่อมาในปี 2563 ดีเอสไอมีความเห็นส่งอัยการสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์และพวกในคดีอุ้มฆ่าบิลลี่ แต่สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี เรื่องอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานโดยภรรยาของบิลลี่ เพื่อจะฟ้องคดีเอง

ประกาศต่อสู้จนกว่าจะได้รับความยุติธรรม

สำหรับความขัดแย้งของชาวบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอย ที่ยืดเยื้อยาวนานกันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี กลายมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง เมื่อเครือข่ายภาคี Saveบางกลอย รณรงค์ในเรื่องการกลับคืนสู่บ้านเกิดที่ใจแผ่นดินของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เมื่อต้นปี 2564

และเมื่อชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้เดินทางกลับไปก็ต้องเผชิญกับการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำมาซึ่งการเดินทางเข้ามาเรียกร้องใน กทม. ต่อหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

จากนั้นทำเอ็มโอยูร่วมกัน 6 ข้อ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนาม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีข้อเรียกร้องโดยสรุปให้ชาวบ้านกลับไปทำไร่หมุนเวียนได้ โดยรับรองสิทธิในการอยู่อาศัย ยุติการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ และการข่มขู่คุกคาม หยุดขัดขวางการส่งเสบียง ให้รัฐบาลทำตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 หยุดจับกุมเกษตรกรที่ทำไร่หมุนเวียน

แต่พอผ่านมาอีกเพียงวันเดียว ชาวบ้านที่เดินทางกลับบ้านก็ต้องเผชิญการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ภายใต้ชื่อยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร กดดันจับกุมให้ต้องออกจากพื้นที่

วิพากษ์วิจารณ์กันว่าที่รับปากไปตอนแรกก็เพื่อลดกระแสการชุมนุมในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สะท้อนถึงความจริงใจที่แสดงออกว่ามีมากน้อยเพียงใด

ถือเป็นเรื่องราวการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ยังไม่ยุติลงง่ายๆ อย่างแน่นอน