‘หมอยง’ ชวนฉีดวัคซีนเพื่อชาติ ลั่นไม่ต้องเสียเวลาคิด

วันที่ 27 ก.พ. 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า การฉีดวัคซีนจะช่วยยับยั้งการระบาด คาดว่าใช้เวลา 1 ปีหลังฉีดจึงจะมีภูมิ ทั้งนี้ วัคซีนที่ทั่วโลกมีการฉีดมี 3 ชนิด คือ 1.วัคซีนชนิด mRNA แต่การเก็บรักษาต้องอยู่ในที่แช่แข็ง ลบ 20 และ 70 องศาเซลเซียส การขนส่งเป็นไปได้ยากสำหรับประเทศไทย

2.วัคซีนไวรัสเวคเตอร์ เก็บตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศา ไทยมีของแอสตราเซนเนกา มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยเป็น อาการไม่รุนแรง ส่วนวัคซีนสปุตนิก 5 ของรัสเซีย ฉีด 2 เข็ม ใช้ไวรัสนำสารพันธุกรรมโควิดคนละตัว ทำให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันมากขึ้น ที่ต้องจับตามอง คือ ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่กำลังขึ้นทะเบียนในไทย เป็นการฉีดเข็มเดียว สามารถป้องกันโรคได้ค่อนข้างดี

และ 3.วัคซีนเชื้อตาย ที่มาเมืองไทยและกำลังฉีดในเร็วๆ นี้ มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี โดยอาการเกรด 3 คือ ป่วยแล้วต้องอาศัยการดูแลของแพทย์ช่วยป้องกัน 78% ส่วนป่วยที่ต้องเข้า รพ. ป้องกันได้ 100% ถ้าเจ็บป่วยเล็กน้อยจากไข้โควิดตั้งแต่เกรด 2 คือ ติดเชื้อแต่ไม่ต้องการดูแลทางการแพทย์ป้องกันได้ 50% ขึ้นไป

“วัคซีนของซิโนแวคกำหนดฉีดอายุ 18-59 ปี เพราะการศึกษาในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีในคนระยะที่ 1-3 มี 3% กว่าๆ จึงไม่รู้ผลการป้องกันโรคและอาการแทรกซ้อนเป็นอย่างไร แต่ไม่ถึงกับเป็นข้อห้าม ต้องรอผลการศึกษาอีก 1-2 เดือน เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นค่อยมาปรับเกณฑ์ฉีดภายหลัง”

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อายุเกิน 60 ปีการปฏิบัติจึงต้องยึดกฎเกณฑ์เป็นหลักก่อน ถ้าต่อไปมีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนขึ้นมา เชื่อว่า อย. คณะกรรมการต่างๆ คงกำหนดการฉีดวัคซีนซิโนแวคให้ผู้มีอายุเกิน 60 ปีได้ นายกฯ ก็ยินดีที่มาฉีดแน่นอน ส่วนผู้สูงอายุรอสักนิดนึง จนผ่านแอสตราเซนเนกาแล้ว คงให้ของแอสตราฯ ก่อน หรืออนาคตซิโนแวคมีข้อมูลแล้วว่าฉีดได้ก็จะให้ของซิโนแวค

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า คนถามว่าควรฉีดวัคซีนไหม ไม่ต้องเสียเวลาคิด นอกจากเป็นการป้องกันเรา ยังป้องกันคนรอบข้างเราด้วย โรคก็ลดลง เหมือนใส่หน้ากากอนามัย อยากเชิญชวนฉีดวัคซีนเพื่อชาติ ถ้าเราได้ฉีดกันมากๆ ป้องกันเราป้องกันเขา โรคจะสงบลงไป ความเป็นอยู่ก็จะกลับคืนมา เศรษฐกิจฟื้นฟูขึ้นมา แล้วฉีดเมื่อไร สธ.มีกฎเกณฑ์ทยอยฉีดตามความเสี่ยงเรียงลำดับไว้แล้ว ถ้าถึงลำดับของเราต้องรับวัคซีนก็ไม่ต้องรีรอ

อย่างอิสราเอลฉีดเข็มแรกครอบคลุมประชากร 80% โรคเริ่มลดลง โดยฉีดให้อายุเกิน 60 ปีก่อน ขยายลงมา 55 ปี 40 ปี และเด็กนักเรียน จนปัจจุบันให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี จำนวนผู้ป่วยลดลงเห็นได้ชัดกว่าครึ่ง อัตราตายต่อวันลดลงแบบมีนัยยะสำคัญ

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า คนถามว่าควรฉีดชนิดไหนดี วัคซีนทุกตัวในปัจจุบันประสิทธิภาพดีทั้งนั้น ไทยเรามีวัคซีนสองชนิด ตัวไหนมาก่อน เราอยู่เงื่อนไขอย่างไรให้ฉีดตัวนั้นไปเลย ไม่ต้องรีรอ ซึ่งการสำรวจคนไทยเกิน 80% อยากฉีดวัคซีนถือว่าเป็นเรื่องดี ส่วนอาการแทรกซ้อน ทั่วโลกฉีดแล้ว 220 ล้านโดส ไม่มีใครตายจากวัคซีนแม้แต่คนเดียว

อย่างสหรัฐฯ ฉีดเดือนแรก 13 ล้านคน แพ้แบบรุนแรง มีช็อก 5 ในล้าน แต่ไม่มีใครตายเลย อย่างไรก็ตาม ที่เสียชีวิตหลังมีการฉีด 113 คน สืบสวนละเอียดผ่าศพดู ไม่มีใครเลยเกี่ยวข้องกับวัคซีน บางคนอุบัติเหตุ โรคหัวใจ โรคประจำตัว ขอให้มั่นใจ ส่วนอาการแพ้ เจ็บ ปวดเมื่อย ไข้เล็กน้อย ถือว่าเป็นปกติการให้วัคซีนในทุกชนิดที่เกิดได้อยู่แล้ว

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิต้านทานก่อนหรือหลังฉีดวัคซีน เะราะไม่จำเป็น ยกเว้นเพื่องานวิจัย ส่วนคนอายุ 90 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนของแอสตราฯ ได้ อย่างควีนเอลิซาเบธที่ 2 อายุเกิน 90 ปีก็ทรงฉีด ส่วนตอนนี้ใกล้ฤดูฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ จึงไม่แนะนำให้ฉีดพร้อมวัคซีนอื่น เพราะอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นมาจะไม่รู้ว่าเกิดจากวัคซีนตัวไหน ควรจะฉีดห่างจากวัคซีนอื่น 2 สัปดาห์ แต่มีข้อยกเว้น เช่น ฉีดวัคซีนโควิดแล้วถูกสุนัขกัด ก็ต้องรีบฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักทันที ไม่ต้องรอ 2 สัปดาห์ ส่วนฉีดวัคซีน 2 เข็มสลับยี่ห้อทั่วโลกกำลังศึกษา คาดว่า 3-4 เดือนอาจมีข้อมูลมากขึ้น ปัจจุบันขอให้ฉีดยี่ห้อเดียวกันก่อน

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ส่วนเด็กควรฉีดวัคซีน แต่เป็นกลุ่มสุดท้าย เนื่องจากป่วยอาการไม่รุนแรง สำหรับคนเป็นโควิดแล้วจากการศึกษาพบว่าภูมิต้านทานเริ่มลดลงหลัง 6 เดือน จึงแนะนำให้เป็นแล้วแล้ว 6 เดือนจึงมาฉีดวัคซีน ส่วนการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ต้องฉีดกระตุ้นหรือไม่ ต้องรอผลการศึกษาใน 6 เดือนหรือปีหน้า ว่าต้องฉีดกระตุ้นหรือไม่ ขณะที่คนท้องให้นมบุตรยังไม่ให้ฉีด แม้ผกติจะฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายได้ในหญิงตั้งครรภ์ เช่น ไข้หวัดใหญ่ แต่โควิดเป็นวัคซีนใหม่จึงไม่แนะนำ แต่การฉีดในสตรีเราไม่มีการตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ แต่ถ้าตั้งครรภ์ก็ขอให้งดฉีดเข็มถัดไป หรืออาจพิจารณาเป็นรายกรณี

“ส่วนวัคซีนโนวาแวค ที่สังเคราะห์โปรตีนจากสิ่งมีชีวิต คือเซลล์แมลง เอามาทำเหมือนวัคซีนไวรัสตับแกเสบบี ที่คนเรียกร้องให้เอาเข้ามา กำลังรอขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในสหรัฐฯ คงต้องรอก่อน” ศ.นพ.ยงกล่าวและว่า การเตรียมตัวไปรับวัคซีนร่างกายต้องแข็งแรงไม่มีไข้ หรือเจ็บป่วยแบบปัจจุบัน เช่น ไม่สบาย เป็นต้น เมื่อไปรับวัคซีน การฉีดส่วนใหญ่ฉีดในท่านั่ง ต้องดูอาการหลังฉีด 30 นาทีในรพ. กลับบ้านแล้ว ถ้ามีอาการอะไรก็ตามผิดปกติ ไข้สูงหรืออะไร ต้องแจ้งผ่านหมอพร้อมถ้าอาการไม่มาก ถ้าต้องการพบแพทย์ให้กลับไปหา รพ.ที่รับการฉีด เล่าอาการทั้งหมดเพื่อดูแลและป้องกันการแทรกซ้อนทั้งหมด” ศ.นพ.ยง กล่าว