วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ : วัคซีนจีนถึงไทยแล้ว ‘สิทธิ’ หรือ ‘หน้าที่’ ของคนไทยในการรับวัคซีน

วันนี้เป็นวันดี วันที่หลายคนรอคอยได้มาถึงแล้ว อากาศยานจากจีนได้ขนส่งวัคซีนโคโรแวคของบริษัทซิโนแวคมาถึงแผ่นดินไทย หลายคนไปต้อนรับที่สนามบิน ผมขอชวนคุยหลาย ๆ มุมมอง ฝากพวกเราไปคิดดูนะครับ

ปี 2564 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความหวัง หลังจากเงาอำมหิตของโควิดครอบคลุมไปทั่วโลก มนุษยชาติก็ได้พัฒนาวัคซีนด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ มารับมือ สร้างความหวังว่าจะค่อย ๆ กวาดล้างให้โควิดเป็นปัญหาน้อยลง หรือ หมดไปได้ในที่สุด ประเทศร่ำรวยและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีวัคซีนอย่างสหรัฐและสหราชอาณาจักรเร่งวันเร่งคืนระดมผลิตและอัดฉีดวัคซีนเข้าไปในประชากร ประเทศรายได้ปานกลางที่สามารถผลิตวัคซีนได้เอง เช่น จีน รัสเซีย และ อินเดีย ก็ได้โอกาสใช้ไบโอเทคของตนขยายบทบาททางการเมือง แจกจ่ายวัคซีนไปยังประเทศพันธมิตรของตนที่ยังไม่มีเทคโนโลยี ดีครับ แข่งขันทำดีด้วยวิทยาศาสตร์ช่วยกันทั้งโลก

ไทยเราเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ความสามารถทางไบโอเทค (bio-technology) ก็ยังอยู่ในระยะตั้งไข่ เราเลือกที่จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหราชอาณาจักรมาผลิตในประเทศไทยเอง แต่ก็ธรรมดาแหละครับ ต้องใช้เวลาในการพัฒนา ไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ในเร็ววันเท่าประเทศเจ้าของเทคโนโลยีเอง วัคซีนที่เราซื้อจากจีน ถือเป็นการแก้ขัดฉุกเฉินเป็นพิเศษเพราะเรายังมีการระบาดในพื้นที่สมุทรสาคร กรุงเทพ ฯ ด้านตะวันตก และส่วนอื่น ๆ ของประเทศประปราย เมื่อผสมโรงกับแรงกดดันทางการเมือง (ไม่ใช่จากพรรคการเมืองอย่างเดียว

แต่จากความรู้สึกของประชาชนที่เปรียบเทียบว่าประเทศได้วัคซีนแล้วทำไมเราไม่ได้ซักที) ทำให้รัฐบาลต้องนำเข้าวัคซีนจีนมาแก้ขัดดังกล่าว

 

วัคซีนทุกยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกัน อังกฤษ จีน อินเดีย หรือ รัสเซีย ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเพียงสำหรับใช้ฉุกเฉิน เพราะการทอลองในอาสาสมัครยังไม่ถึงที่สุด แต่ระดับความฉุกเฉินและความเข้มข้นย่อหย่อนให้ใช้วัคซีนแบบฉุกเฉินไม่เหมือนกัน ที่อเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง อินเดีย และอีกหลายประเทศ สถานการณ์ทางระบาดวิทยาฉุกเฉินจริงเพราะมีผู้ป่วยแน่นโรงพยาบาล ต้อง ล็อกดาวน์ประเทศยาวต่อเนื่องเพื่อลดการระบาด อเมริกาและยุโรปยอมย่อหย่อนความเข้มงวดให้ใช้วัคซีนได้อย่างฉุกเฉิน แล้วเร่งใช้หลังจากได้รับรายงานเบื้องต้นจากการศึกษาทดลองระยะที่สาม (มีอาสาสมัครเป็นหมื่น แต่ติดตามยังไม่ถึง 6 เดือน) เขาเดาว่าประสิทธิผลของวัคซีนต่อการควบคุมโรคและพลิกพื้นทางเศรษฐกิจมันคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดจากข้อมูลยังไม่ครบ พอเริ่มฉีดวัคซีนไปได้ไม่กี่สิบเปอร์เซ็นต์ การระบาดก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จะว่าเป็นผลจากวัคซีนก็ไม่เชิงเพราะยังฉีดครอบคลุมได้น้อย แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ในอเมริกาเองสองในสามก็ปฏิเสธไม่รับวัคซีน ยังไม่รู้เหมือนกันว่าการระบาดลดลงจากอะไร

แต่สภาวะฉุกเฉินและความย่อหย่อนให้กับความฉุกเฉินของไทยต่างกับที่อเมริกาและยุโรป ก่อนอื่น การระบาดของโควิดในประเทศไทยทั้งเมื่อไตรมาสแรกของปีกลาย และที่เริ่มต้นปลายปีกลายต่อด้วยต้นปีนี้ ค่อย ๆ สงบลงจากความสามารถในการควบคุมโรคไม่ใช่จากวัคซีนแน่นอน ช่วยกันจำประวัติศาสตร์ตรงนี้ไว้อย่าให้ใครมาอ้างว่าการระบาดลดลงเพราะวัคซีนที่เขาส่งมาช่วยในช่วงนี้นะครับ ตอนนี้ตัวเลขผู้ป่วยที่มารักษาในสถานพยาบาลของเราอยู่แถว ๆ 100 คนต่อวัน หรือ ต่ำกว่านั้นมาเป็นสัปดาห์ จนรัฐบาลประกาศให้ผ่อนคลายจังหวัดรอบนอกก่อนวัคซีนมาถึงเป็นสัปดาห์แล้ว

เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ความฉุกเฉินทางระบาดวิทยาของเราเป็นเพราะมีการระบาดที่สมุทรสาครและจังหวัดภาคตะวันออก ซ้ำเติมด้วยความฉุกเฉินทางการเมือง กล่าวคือ วัคซีนขาดตลาดและมีความซับซ้อนในการแย่งกันซื้อ มีประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศเริ่มได้ฉีดกันแล้วด้วยกลไกอะไรก็แล้วแต่ ส่วนไทยเรายังไม่ได้ฉีดซักที คนไทยส่วนหนึ่งทั้งพรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายและประชาชนก็เริ่มหงุดหงิด ทำให้รัฐบาลต้องหาวัคซีนฉุกเฉินมาแก้ขัด วัคซีนชาติตะวันตกขาดตลาด เราต้องการวัคซีนอย่างฉุกเฉินก็ต้องหันมาซื้อจากจีน ทั้ง ๆ ที่วัคซีนจีนยังไม่มีรายการผลการศึกษาระยะที่สามอย่างเป็นทางการเลย เนื่องจากวัคซีนเพิ่งจะเริ่มฉีดครบในอาสาสมัครเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตัวเลขที่ผู้สื่อข่าวเอาเผยแพร่ มาจากบริษัทผู้ผลิตไม่ใช่มาจากวารสารวิชาการซึ่งมีรายงานผลที่ดีเฉพาะระยะที่สองและติดตามอาสาสมัครได้เพียงสองสัปดาห์ของระยะที่สามเท่านั้น อเมริกาและอังกฤษยอมหย่อนใช้วัคซีนของเขาเองเมื่อมีรายงานการทดลองระยะที่สามในช่วงแรก แต่เราต้องยอมหย่อนให้ใช้วัคซีนของจีนโดยยังไม่มีรายงานการทดลองระยะที่สามออกมา ทั้ง ๆ ที่ภาวะการระบาดที่ฉุกเฉินไม่มากเท่าในสหรัฐและยุโรป ก็เพราะความฉุกเฉินทางการเมืองนั่นก็คือความกังวลของคนไทยที่กล่าวมากแล้ว แต่อย่าเพิ่งด่าหรือบ่นรัฐบาลหรือใครทั้งนั้น ลองอ่านย่อหน้าต่อไปซะก่อนนะครับ

สุนทรภู่ท่านว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา” ในยุคปัจจุบันที่ยังไม่มีคำตอบทางวิชาการแน่นอน “รู้อะไรไม่สู้รู้งี้” อาจจะเป็นคำอธิบายแห่งยุคสมัย เพราะเราต้องตัดสินใจท่ามกลางความรู้ที่จำกัดและความไม่รู้อยู่ตลอดเวลา อเมริกาและยุโรปตัดสินใจใช้วัคซีนของเขาทั้งที่ ๆ ไม่รู้ว่าติดตามไประยะยาวจะเป็นอย่างไร เราก็ตัดสินใจใช้วัคซีนจีนในช่วงนี้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาระยะที่สามอย่างเป็นทางการเลย ประเทศอื่น ๆ อย่างอินโดนีเซียก็ตัดสินใจใช้วัคซีนตัวเดียวกันนี้ และจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งโรงงานผลิตเอง ด้วยข้อมูลที่จำกัดแบบเดียวกับเรา เขาเป็นประเทศที่ทำการทดลองเอง แต่การตัดสินใจก็เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ ผลการศึกษาในประเทศตนระยะที่สามยังไม่ออก (แต่อย่างว่าแหละครับ อินโดนีเซียอยู่ในภาวะฉุกเฉินทางระบาดวิทยารุนแรงกว่าไทยมาก)

สถานการณ์ทางระบาดวิทยาและทางการเมืองในวันที่เรากำลังจะเริ่มฉีดวัคซีนกันดีกว่าวันที่เราสั่งซื้อวัคซีนมาก ถามว่า”รู้งี้” ไม่ซื้อวัคซีนรอวัคซีนอังกฤษที่เราผลิตเองได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะดีกว่าไหม เพราะวัคซีนอังกฤษผ่านการวิจัยมามากกว่า ผมคุยกับนักวิชาการระดับศาสตราจารย์หลายคนความเห็นยังไงก็ไม่ตรงกัน ศาสตราจารย์ที่เป็นหมออาวุโสส่วนหนึ่งอยากได้วัคซีนจีนถึงแม้ยังไม่มีผลจากการทดลองระยะที่สามก็เหอะ ท่านเหล่านั้นเชื่อว่าวัคซีนชุดนี้ผลิตด้วยเทคโนโลยีเก่าที่เรารู้แล้วว่าปลอดภัย และผลการศึกษาระยะที่สองออกมาว่าสร้างภูมิต้านทานได้ดี ผลการทดลองระยะที่สามก็น่าจะออกมาว่าดีด้วย ส่วนท่านที่คิดว่าน่าจะรอวัคซีนอังกฤษก็เห็นว่าข้อมูลต่าง ๆ ครบถ้วนกว่า มีคนทั่วโลกใช้ไปแล้วไม่ค่อยมีรายงานด้านผลข้างเคียงและประเทศที่ใช้ก็ดูเหมือนจะมีการระบาดลดลง ถ้าเรามีความเสี่ยงต่ำก็รอวัคซีนอังกฤษที่เราผลิตเองดีกว่า

เอ รัฐบาลลงทุนไปก็ไม่น้อย จะให้ประชาชนมีสิทธิเลือกได้แค่ไหนดี ถ้าเกิดคนไทยเหมือนหมออเมริกาคือสองในสามไม่ยอมรับวัคซีนล่ะ รัฐบาลจะทำยังไง

 

ตามหลักธรรมาภิบาล การสร้างฉันทามติ (consensus) เป็นเรื่องสำคัญระดับต้น ๆ ประเทศเราสู้โควิดได้ดีเมื่อปีกลาย ถึงปีนี้ก็ยังถือว่าไม่เลว เพราะประชาชนมีฉันทามติ ตัดสินใจเลือกที่จะปฏิบัติตนด้วยความรับรู้ที่ถูกต้อง (well informed decision) อย่าลืมว่าตอนแรก ๆ เมื่อต้นปีที่แล้ว สหรัฐและองค์การอนามัยโลกก็รับรู้ผิด ๆ ว่าคนที่ควรสวมหน้ากากอนามัย คือ คนที่มีอาการเท่านั้น อาจจะเป็นเพราะถูกชี้นำด้วยความรับรู้ที่ผิดแบบนี้ทำให้โรคระบาดให้ประเทศทางตะวันตกอย่างรุนแรงในตอนกลางปี ขณะที่ประเทศไทยได้รับการปลูกฝังอย่างเร่งด่วนว่าต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างทุกคนไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการ ทำให้เรารอดมาได้

มาถึงตอนนี้เราต้องช่วยกันสร้างฉันทมติเรื่องวัคซีนด้วยความรับรู้ที่คาดว่าถูกต้อง ผมใช้คำว่า “คาดว่า” เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการโดยตรงอย่างแน่ชัด มีแต่หลักฐานอ้อม ๆ บวกกับการเดา ๆ นิดหน่อยอย่างที่กล่าวมาแล้ว

ถึงแม้ยังไม่มีรายงานการทดลองระยะที่สาม คุณหมอไทยทั้งหลายมีฉันทามติว่าในตอนนี้ก่อนว่าวัคซีนจีนน่าจะป้องกันการป่วยและการตายจากโควิดได้ แต่ตรงคำถามที่ว่าวัคซีนป้องกันการแพร่เชื้อได้ไหมยังไม่ได้ฉันทามติ หมอส่วนหนึ่งบอกว่าเมื่อยังไม่มีหลักฐานก็ถือซะก่อนว่าป้องกันไม่ได้ นอกจากนี้วัคซีนมีการทดลองในผู้สูงอายุน้อยไปหน่อย เราก็อย่าเพิ่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุเลย

 

เรื่องไม่ฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุนี้ย้อนหลังไปไม่กี่เดือนที่แล้ว มีผู้สูงอายุในประเทศนอร์เวย์กลุ่มหนึ่งตายดูเหมือนจะยี่สิบคนรวด หลังฉีดวัคซีน ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ประกาศห้ามฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ เหตุผลเพิ่มเติมคือการทดลองระยะที่สามมีอาสาสมัครผู้สูงอายุน้อยไปหน่อย ส่วนนอร์เวย์เองและอีกหลายประเทศยังคงฉีดผู้สูงอายุต่อ เพราะเค้าบอกว่ากลุ่มที่ตายพวกนั้นป่วยหนักอยู่แล้ว ถ้าวัคซีนได้ผลดีในการป้องกันการเจ็บป่วยของคนวัยกลางคนก็น่าจะได้ผลดีสำหรับผู้สูงอายุด้วย โดยสรุปของความขัดแย้งในวิธีคิดก็คือว่า ฝ่ายบอกว่าอย่าเพิ่งให้วัคซีนโดยไม่มีข้อมูลที่ดีพอสนับสนุน อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าการไม่มีข้อมูลไม่ควรแปลว่าข้อมูลบ่งไม่ได้ผล ควรใช้การคาดเดาที่มีเหตุผลมาตัดสินว่าจะการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุจะคุ้มความเสี่ยงหรือไม่

ผมเป็นพวกหลัง และชอบเถียงคอเป็นเอน ถ้าเราคิดว่าต้องมีข้อมูลครบหมดจึงใช้วัคซีนได้ เราก็ไม่ควรสั่งวัคซีนจีนเข้ามาตั้งแต่แรกแล้ว ด้วยตรรกะอันนี้ การไม่มีขัอมูลความปลอดภัยของวัคซีนจีนสำหรับผู้สูงอายุไทย ต้องพิจารณาให้รอบคอบ

 

ผมเห็นด้วยที่เรายังไม่ควรจะฉีดวัคซีนจีนชุดแรกนี้ให้ผู้สูงอายุ ไม่ใช่เพราะไม่ไว้ใจวัคซีนจีน แต่เพราะคิดว่าผู้สูงอายุไทยโดยทั่วไปมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไม่มาก น่าจะรอไปก่อนให้คนวัยอื่นฉีดวัคซีนที่มีอยู่จำกัดนี้ไปซะก่อน แต่มีก็ข้อยกเว้น  คือ ผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงมีการระบาดสูง เช่น สมุทรสาคร หรือ ด้านตะวันตกของกรุงเทพ ฯ รัฐบาลควรให้ข้อมูลด้านผลประโยขน์และความเสี่ยง แล้วให้ครอบครัวและเจ้าตัวตัดสินใจเอง (make informed decision) ถ้ารัฐบาลจำกัดสิทธิของเขาเบ็ดเสร็จจนเกินไป เมื่อผู้สูงอายุป่วยหรือตายขึ้นมาญาติพี่น้องของเขาหรือประชาชนก็อาจจะโทษรัฐบาลได้

มีหลักฐานว่าวัคซีนยุโรป นอกจากจะลดการป่วยและตายแล้ว ยังลดการติดเชื้อที่ไม่มีอาการซึ่งก็คือการแพร่โรคด้วย ผมเดาว่าวัคซีนจีนถ้าเสริมสร้างภุมิคุ้มกันได้ดีจริงตามผลการทดลองในระยะที่สอง ก็จะมีผลลดการติดเชื้ออย่างไม่มีอาการหรือการแพร่โรคด้วย ก็เข้าอีหรอบเดิมอีกครับ มีบางท่านบอกว่าไม่มีหลักฐานต้องถือว่าไม่ได้ผลไว้ก่อน ถ้าคิดอย่างที่ท่านเหล่านั้นว่าเราก็ไม่ต้องเน้นแรงงานและคนหนุ่มสาวในการฉีดวัคซีนเที่ยวแรกนี้สิครับ เมื่อฉีดผู้สูงอายุก็ไม่ได้ฉีดแรงงานก็ไม่คุ้ม งั้นก็ฉีดหมอกับคนไข้เรื้อรังก็แล้วกัน อ้าว แล้วเราหวังว่าต้องนำเข้าวัคซีนฉุกเฉินเพราะจะเอาเข้ามาระงับการแพร่เชื้อในสมุทรสาคร ถ้าเชื่อว่าวัคซีนจีนระงับการแพร่เชื้อไม่ได้แล้วมันจะม้วนเสื่อ (roll back) สงครามโควิดที่สมุทรสาครได้ยังไงล่ะครับ งงครับ

ผู้อ่านที่ไม่ใช่หมอหรือนักวิทยาศาสตร์อ่านแล้วอาจจะงง ผู้อ่านคงจะบ่นว่าหมอเถียงกันให้สะเด็ดน้ำแล้วค่อยมาชี้แจงประชาชนไม่ดีกว่าหรือ ก็คงเป็นอย่างนั้นแหละครับ ทีมคุณหมอที่ทางรัฐบาลไว้วางใจเขาช่วยให้ชาติไทยเรารอดพ้นโควิดเมื่อปีกลายได้ ปีนี้มีวัคซีนแล้วปล่อยเค้าเถียงกันไปสักพัก เดี๋ยวเค้าก็คงหาฉันทามติได้ แล้วมาอธิบายให้เราแจ่มแจ้งจนได้

วัคซีนจีนรอบแรกมาแค่สองแสนโด๊ส นิดเดียวเท่านั้นเมื่อเทียบกับประชากรไทย อาจจะไม่ถึงครึ่งของจำนวนแรงงานในสมุทรสาครด้วยซ้ำ การฉีดวัคซีนรอบแรกนี้จึงเป็นงานเชิงสัญลักษณ์ทางกำลังใจ เพื่อลดความกังวลของคนไทยมากกว่าที่จะมีผลในการควบคุมโรคได้จริงจัง ยังมีวัคซีนจีนจะทะยอยมาอีกแปดแสนโด๊ส ผสมกับวัคซีนอังกฤษที่เราจะผลิตเอง เราต้องร่วมมือร่วมใจกันสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด ปลายปีนี้คาดว่าอเมริกาและอังกฤษคงจะฉีดได้มากและเปิดประเทศได้ ถึงตอนนั้นเราก็ยังครอบคลุมเป้าหมายได้เพียงครึ่งเดียว เราก็จะเปิดประเทศช้ากว่าประเทศเจ้าของเทคโนโลยีพวกนั้นเป็นเวลาแรมปี

ช่วยกันหน่อยนะครับ การฉีดวัคซีนเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ของทุกคนในประเทศครับ