ผลกระทบทางการเมืองและการบริหารปกครองของโควิด-19 : รัฐนิยมและอำนาจนิยม (จบ) / การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ผลกระทบทางการเมืองและการบริหารปกครองของโควิด-19

: รัฐนิยมและอำนาจนิยม (จบ)

 

วิกฤต COVID-19 นำไปสู่ -> 3 ปัจจัยซึ่งทำให้รัฐในเอเชียใหญ่ขึ้น ได้แก่ :

1. รัฐบาลต่างๆ ในเอเชียพากันใช้จ่ายงบประมาณมหาศาลอย่างไม่เคยทำมาก่อนเพื่อรับมือ COVID-19 ระบาด โอบอุ้มประชากรและกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ช็อกหยุดชะงักหนักหนาสาหัสจากผลกระทบโควิด ในแนวทางประชานิยมทางเศรษฐกิจหรือรัฐสวัสดิการคล้ายหลักนโยบาย New Deal ของอเมริกาสมัยประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์

2. ต้นทุนการกู้ยืมระหว่างประเทศต่ำลงมากโดยการนำและประสานงานของประธานธนาคารกลางสหรัฐ เจโรม เพาเวล กับธนาคารกลางนานาชาติเพื่อปล่อยสภาพคล่องเข้าตลาดไปช่วยกอบกู้ธุรกิจทั่วโลก

3. ประจวบเหมาะกับประชากรและแนวโน้มอนาคตในภูมิภาคนี้ก็เรียกร้องต้องการให้รัฐในเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์เข้าไปแบกรับภาระใหม่ๆ ด้านดูแลรักษาประชากรสูงวัย, แก้ไขความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มทวีขึ้นและปัญหาโลกร้อน

ดังข้อมูลแผนการทุ่มงบประมาณครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 25.5 ล้านล้าน US$ เพื่อแก้วิกฤตโควิดซึ่งรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีสมาชิกธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้ประกาศออกมาตามแผนภูมิ (แสดงเฉพาะบางประเทศ) :

เหล่านี้สะท้อนการขยับปรับเปลี่ยนแนวโน้มทิศทางการเมืองและการบริหารปกครองในเอเชียจาก ฉันทามติรัฐบาลขนาดเล็กหรือรัฐขั้นต่ำของลีกวนยูกับมหาธีร์ไปสู่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองเรียกว่ากฎของวากเนอร์

อดอล์ฟ วากเนอร์ (1835–1917) เป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองชาวเยอรมัน รวมทั้งนักวิชาการสังคมนิยมชั้นนำ ผู้ชำนาญด้านการเงินการคลังและเศรษฐกิจเกษตร

เขาประมวลวิเคราะห์และนำเสนอเป็นกฎทางเศรษฐศาสตร์การเมืองไว้ว่าเมื่อชาติทั้งหลายมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น สังคมยิ่งพัฒนาไป บรรดานักการเมืองก็จะหันมาตอบสนองข้อเรียกร้องต้องการของพลเมืองในแง่สินค้าสาธารณะและประกันสังคมมากขึ้น เกิดเป็นแนวโน้มระยะยาวที่จะเก็บภาษีมากขึ้นและใช้จ่ายงบประมาณสูงขึ้นตามลำดับ

ตัวแบบใหม่ของรัฐหลังโควิด-19 ในเอเชียจึงน่าจะไม่ใช่รัฐสวัสดิการเสรีนิยม-ปัจเจกนิยมคลาสสิคแบบตะวันตก แต่เป็นรัฐเอเชียที่ผสมผสานการใช้สมรรถภาพที่สูงของรัฐไปทำหน้าที่จัดหาสวัสดิการสังคมให้แก่พลเมืองมากขึ้น เข้ากับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

อย่างที่เกาหลีใต้กับไต้หวันแสดงให้เห็นในการรับมือวิกฤตโควิดระบาด ในทำนองรัฐไฮเทคขั้นสูง (the maximal hi-tech state)

อย่างไรก็ตาม ควบคู่ไปกับแนวโน้มรัฐนิยม (statism) รัฐบาลบางประเทศในเอเชียก็แสดงแนวโน้มอำนาจนิยมไวรัส (viral authoritarianism) คือฉวยจังหวะแปรวิกฤตไวรัสโคโรนาระบาดให้กลายเป็นโอกาสเพิ่มขยายอำนาจของตนออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐของระบอบการเมืองและประชาสังคมอ่อนแอจำกัดอยู่แล้วแต่เดิม

อำนาจนิยมไวรัสบ่อนเบียนเสรีประชาธิปไตย

สำหรับแถบเอเชียอาคเนย์ซึ่งเอาเข้าจริงประชาธิปไตยถดถอยอยู่แล้วในบางประเทศก่อนหน้าโควิด-19 ระบาด เช่น ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา รวมไปถึงฮ่องกง ฯลฯ นั้น

ผู้นำบางประเทศได้ใช้วิกฤตโควิดระบาดมาเสริมการปกครองอำนาจนิยมของตนภายใต้ข้ออ้างภาวะฉุกเฉิน โดยจำกัดเสรีภาพ กระชับการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดขึ้น และฉวยใช้บิดเบือนอำนาจฉุกเฉินของตัวไปในทางมิชอบ

อีกทั้งยังมีปัจจัยเอื้ออำนวยส่งเสริมแนวโน้มอำนาจนิยมในภูมิภาค อันได้แก่ อำนาจเศรษฐกิจการทูตที่เพิ่มขึ้นของจีน และอำนาจถ่วงทานที่ลดน้อยถอยห่างออกไปของอเมริกาสมัยประธานาธิบดีทรัมป์

ทว่าในทางกลับกันพลเมืองผู้ตื่นตัวทางเสรีประชาธิปไตยก็กำลังโต้กลับแนวโน้มดังกล่าว อย่างที่ปรากฏเป็นพันธมิตรชานมของไทย-ไต้หวัน-ฮ่องกง เป็นต้น (ดู หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “ชานมข้นกว่าเลือด : ประจักษ์ ก้องกีรติ มองพันธมิตรชานมปะทะ “สลิ่มจีน” ใน “ศึกทวิตภพข้ามพรมแดน”, บีบีซีไทย, 15 เมษายน 2020)

แกนตั้งคือรายชื่อประเทศภาคีสมาชิกธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ส่วนแกนนอนเป็นตัวเลขงบประมาณแก้วิกฤตโควิดที่ประกาศออกมาหน่วยเป็นล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย

ขอยกตัวอย่างแนวโน้มอำนาจนิยมในเอเชียอาคเนย์บางประเทศ เช่น (https://www.freiheit.org/southeast-and-east-asia/asia-democracy-tested-coronavirus-and-china)

กรณีฟิลิปปินส์ : เมื่อไวรัสโคโรนายกพลขึ้นฝั่ง ประธานาธิบดีดูแตร์เตก็ฉวยใช้โอกาสนี้กดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพพลเมืองโดยประกาศล็อกดาวน์ประเทศอย่างเข้มงวดและยาวนานที่สุดในเอเชีย เขาสั่งตำรวจให้ยิงผู้ฝ่าฝืนการกักกันโรคได้เลย ส่งผลให้มีคนตายอย่างน้อยหนึ่งราย ผู้คนหลายพันถูกจับกุมเนื่องจากฝ่าฝืนข้อห้ามการกักกันโรค ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าคนฟิลิปปินส์ที่ได้รับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาเสียอีก พวกพ้องของดูแตร์เตในรัฐสภาก็ผสมโรงโดยสั่งปิดเครือข่ายทีวีใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยเหตุผลทางการเมืองและออกกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายอันเข้มงวดกวดขันซึ่งคุกคามเสรีภาพพลเมือง

กรณีกัมพูชา : นายกฯ ฮุน เซน ประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งให้อำนาจเขาในการจำกัดเสรีภาพในการพูด การเคลื่อนย้ายและการชุมนุม เปิดช่องให้เพ่งเล็งตรวจตราการสื่อสารโทรคมนาคมได้อย่างแทบไม่มีข้อจำกัด อีกทั้งปราบปรามสื่อสิ่งพิมพ์และโซเชียลมีเดียหนักข้อกว่าเดิมอีก

กรณีเมียนมา : ภายใต้ข้ออ้างบริหารจัดการไวรัสโคโรนา ทางการเมียนมาได้สั่งปิดเว็บไซต์ข่าวอิสระต่างๆ และจำกัดการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล และในการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ศกนี้ ประธานาธิบดีวิน มินต์ ซึ่งถูกทหารจับกุม ได้ถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎห้ามรวมตัวชุมนุมกันเพื่อป้องกันโควิด-19 ระบาดระหว่างเขาหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วด้วย

กรณีประเทศไทย : ทางการจัดการโควิด-19 ระบาดได้ผลดี (“นัยของอันดับ 4 ของไทยในการรับมือโควิด”, https://www.matichonweekly.com/column/article_397145) แต่กระนั้นก็ล้มเหลวที่จะสนองตอบต่อเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ระยะหลังนี้เมื่อโควิด-19 กลับมาแพร่เชื้อระลอกใหม่หลังสงบไปหลายเดือน รัฐบาลประยุทธ์ก็ได้สั่งห้ามการชุมนุมประท้วง และเสริมประกาศภาวะฉุกเฉินให้เข้มงวดขึ้น

(ดังที่หน่วยข่าวกรองของนิตยสาร The Economist จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ “ประชาธิปไตยบกพร่อง” หรือ flawed democracies ด้วยคะแนน 6.04 จากเต็ม 10 เป็นอันดับที่ 73 จากจำนวนทั้งสิ้น 167 ประเทศ ในการประเมินล่าสุด ดู “Democracy Index 2020 : In sickness and in health?” by The Economist Intelligence Unit 2021, p. 4, 10, 23)

ช่วงก่อนนี้ แฟลชม็อบของนักเรียน นักศึกษาได้เกาะติดรัฐบาลนานหลายเดือน เรียกร้องให้นายกฯ ลาออกและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น พวกเขายังทะลุทะลวงเพดานความเงียบในสังคมโดยตั้งคำถามในประเด็นอันแหลมคมทางการเมืองวัฒนธรรมตามที่ตนมองเห็นและเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย

กล่าวโดยสรุป ขณะที่โควิด-19 ผลักดันรัฐชาติในเอเชียอาคเนย์ไปในทิศทางรัฐขั้นสูงโดยเพิ่มหน้าที่ของรัฐด้านสวัสดิการสังคม แต่ในแง่อำนาจของรัฐ มันยังคงเป็นรัฐอำนาจนิยมที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานสิทธิ

ใต้ภาพ

1-อำนาจนิยมไวรัสบ่อนเบียนเสรีประชาธิปไตย

2-แกนตั้งคือรายชื่อประเทศภาคีสมาชิกธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ส่วนแกนนอนเป็นตัวเลขงบประมาณแก้วิกฤตโควิดที่ประกาศออกมาหน่วยเป็นล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย