อาฟเตอร์ช็อก! ศึกซักฟอก 10 รมต. จับตา 3 เส้าพรรคร่วม ‘หลวงพ่อป้อม’ ตบะแตก เกมปรับ ครม.ร้อนฉ่า หลัง 3 รมต.เจอคุก / บทความในประเทศ

ในประเทศ

 

อาฟเตอร์ช็อก!

ศึกซักฟอก 10 รมต.

จับตา 3 เส้าพรรคร่วม

‘หลวงพ่อป้อม’ ตบะแตก

เกมปรับ ครม.ร้อนฉ่า หลัง 3 รมต.เจอคุก

 

ถึงแม้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะผ่านไปได้โดยรัฐมนตรีทั้ง 10 คนได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจเกินครึ่งสภาทั้งหมด

แต่สิ่งที่ทิ้งไว้คือรอยปริร้าวระหว่าง 3 พรรครัฐบาล พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์

โดยมีเชื้อชนวนจากการมี ส.ส.พลังประชารัฐ กับ ส.ส.ประชาธิปัตย์ บางส่วนงดออกเสียงไว้วางใจให้รัฐมนตรีพรรครัฐบาลด้วยกันเอง

ฝ่ายค้านเปิดศึกซักฟอกรัฐบาลทรหด 4 วัน 4 คืน ระหว่าง 16-19 กุมภาพันธ์ เปิดแผลปมทุจริตอันชวนสงสัยให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบมากมายหลายประเด็น ก่อนนำมาสู่การลงมติในเช้าวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์

รัฐบาลมีเสียง ส.ส.ในสภาตุนไว้ในมือทิ้งห่างฝ่ายค้านกว่า 60 เสียง ทำให้มีการประเมินกันตั้งแต่แรกว่าศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ไม่ว่าฝ่ายค้านจะมีข้อมูลเด็ดขาดขนาดไหนก็ยากที่จะโค่นรัฐบาลล้มลงได้

แต่การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน สุดท้ายก็เกิดเรื่องนอกเหนือการคำนวณขึ้นจนได้

เมื่อมี ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล แหกมติพรรคด้วยการงดออกเสียงลงคะแนนไว้วางใจให้กับรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปราย ส่งผลให้ตัวเลข “ไว้วางใจ” ของรัฐมนตรีบางคนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

ที่น่าสนใจกลับเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ได้รับคะแนนไว้วางใจมากอันดับ 1 ด้วยคะแนน 275 เสียง

ไม่เพียงมากกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ 272 เสียงด้วยซ้ำไป

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ “ผู้กำหนดเกม” ตัวจริง ครั้งนี้ไม่เพียงสลัดหลุดตำแหน่งบ๊วย ยังทะยานเทียบชั้น พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรค ด้วยคะแนนไว้วางใจ 274 เสียงอีกด้วย

ที่รั้งท้ายสุดกลับเป็นนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้คะแนนไว้วางใจเพียง 258 แต่ที่เป็นปัญหาสร้างรอยบาดหมางระหว่างพรรครัฐบาลด้วยกันคือกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย

จากคะแนนไว้วางใจที่ได้มา 268 เสียง ที่ 3 จากท้ายตาราง

 

จากการตรวจสอบที่มาที่ไปคะแนนของรัฐมนตรีแต่ละคน

พบมี ส.ส.บางส่วนทั้งในพรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคร่วมแหกมติพรรคในการลงมติ

เริ่มจาก 2 ส.ส.ประชาธิปัตย์ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี “งดออกเสียง” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีทั้ง 9 คน

นายพนิตและนายอันวาร์ ก่อนหน้าเคยประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าไม่สนับสนุนให้พรรคจับมือร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้ง 2 คนเป็น ส.ส.สายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ซึ่งถือว่าอยู่คนละขั้วกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน

นั่นทำให้ทั้งนายพนิต นายอันวาร์ ร่วมกับนายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมเป็น 3 คน งดออกเสียงไว้วางใจนายจุรินทร์ กับอีกคนคือนายสมพงษ์ โสภณ ส.ส.ระยอง จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่โหวตให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

ตัดมายังฝั่งพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ ไม่วายมี ส.ส.แตกแถวโหวตสวนมติพรรค

นอกจากนายสมพงษ์ โสภณ ที่งดออกเสียงให้นายจุรินทร์

ที่เป็นเรื่องใหญ่กว่า กรณีกลุ่ม ส.ส.ดาวฤกษ์ 6 คน นำโดย น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. และนายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม.

ได้งดออกเสียงลงมติไว้วางใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย

 

น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ แกนนำกลุ่มดาวฤกษ์ กล่าวถึงเหตุผลการโหวตสวนมติพรรคในกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ว่า

เรื่องทั้งหมดตัดสินใจบนพื้นฐานความสุจริตใจ ไม่มีอคติใดๆ

ยืนยันการงดลงคะแนนไม่มีเรื่องผลประโยชน์หรือมีบุคคลอื่นอยู่เบื้องหลัง แต่เห็นความไม่ชัดเจนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ส.ส.กทม. เพราะเป็นพื้นที่ของเรา และมีคำถามจากชาวบ้านมาตลอด

เมื่อเราเป็นผู้แทนฯ กทม. ถ้าไม่ปกป้องประชาชน ถือว่าทำหน้าที่อย่างไม่น่าภูมิใจ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจให้พรรคภูมิใจไทยอย่างมาก

ร้อนถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องออกหน้าเคลียร์ปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยการเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อพิจารณามาตรการลงโทษ 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ และ 1 ส.ส.ระยอง

รายงานข่าวระบุถึงการประชุมช่วงหนึ่ง พล.อ.ประวิตรกล่าวอย่างฉุนเฉียว “โหวตอย่างนี้รับไม่ได้ อย่างนี้ต้องขับออก ไปรับปากเขามา เขาก็ให้เราเต็ม แต่เรามีปัญหา พรรคเราเสียหาย ต้องมีบทลงโทษ”

“ทำไมตอนถามในที่ประชุมพรรควันที่ 19 ว่ามีปัญหาอะไร แล้วไม่บอก”

ส่งผลให้บรรดากรรมการบริหารพรรคที่อยู่ในห้องประชุมถึงกับนิ่งอึ้งตะลึงงัน เพราะไม่เคยเห็น พล.อ.ประวิตร “ตบะแตก” แบบนี้

สุดท้ายเป็นนายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนการขับออกจากพรรคคงเป็นไปไม่ได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญที่ให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ลงมติในสภา

อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชารัฐเตรียมบทลงโทษไว้แล้วสำหรับ ส.ส.แหกมติพรรค ท้าทายอำนาจแกนนำ ด้วยการไม่ให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการใดๆ ตลอดจนไม่ส่งสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ลืมเช็กเสียงให้ดี นึกไม่ถึงว่าจะมีการกระทำที่ผิดมารยาท ไม่เป็นไปตามข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาล

“การที่ 6 ส.ส.พลังประชารัฐงดออกเสียงให้นายศักดิ์สยาม เป็นเรื่องใหญ่สำหรับพรรคภูมิใจไทยมาก พรรคพลังประชารัฐต้องมีคำอธิบายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

กระทั่งในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม วาระ 2 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ระหว่างพลังประชารัฐกับภูมิใจไทย ก็ได้เกิดความขัดแย้งอีกครั้ง

เมื่อ ส.ส.พลังประชารัฐขอให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมขึ้นมาพิจารณาก่อน

ปรากฏว่า ส.ส.ภูมิใจไทยคัดค้าน ไม่เห็นด้วย เพราะอาจทำให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 เสร็จไม่ทันก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์

สุดท้ายเมื่อพลังประชารัฐดึงดัน ร่วมมือกับ ส.ว.ลงมติผลักดันเลื่อนร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อนเป็นผลสำเร็จ

ส.ส.พรรคภูมิใจไทยจึงตอบโต้ด้วยการ “วอล์กเอาต์” จากห้องประชุม

สะท้อนให้เห็นรอยร้าว 2 พรรครัฐบาลชัดเจนมากขึ้น

 

ภายในพลังประชารัฐเองก็วุ่นวายไม่แพ้กัน

เมื่อ “พรรคเล็ก” ร่วมรัฐบาลโหวต “ไม่ไว้วางใจ” และ “งดออกเสียง” ให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พรรคพลังประชารัฐ จนทำให้คะแนนออกมาอยู่ในอันดับบ๊วย ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้ตำแหน่งรองบ๊วย

ตรวจสอบพบว่า ส.ส.พรรคเล็กที่ลงมติไม่ไว้วางใจนายณัฏฐพล ประกอบด้วย นายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย

ส.ส.งดออกเสียง 8 ราย ในนั้นมี ส.ส.พรรคเล็กร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย

ส่วนของนายสุชาติ มี ส.ส.ร่วมรัฐบาลลงมติไม่ไว้วางใจ 7 ราย แยกเป็นพรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 พรรคเล็กอื่นๆ อีก 3

ในกรณี “ณัฏฐพล-สุชาติ” ถูกมองเป็นเกมการเมืองภายในพลังประชารัฐ ตามที่มีข่าวสะพัดก่อนหน้าการอภิปรายว่า รมช.บางคนในพรรคเดียวกันแอบต่อสายดีลกับพรรคเล็ก ต้องการกดคะแนน รมว.ร่วมพรรค หวังให้มีการปรับ ครม.หลังจบศึกซักฟอก

กรุยทางเข้าเสียบเก้าอี้แทน

 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็น “อาฟเตอร์ช็อก” สั่นสะเทือนเสถียรภาพรัฐบาล

ความขัดแย้งในลักษณะ 3 เส้าพรรคร่วม พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ จะยกระดับไปถึงขั้นไหน จะมีบทสรุปลงเอยอย่างไร

สังคมไม่พลาดติดตามทุกย่างก้าวแน่นอน

โดยถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะบอกว่าไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีในเวลาอันใกล้นี้

แต่เหตุแทรกซ้อนที่ทำให้ 3 รัฐมนตรี ซึ่งเคลื่อนไหวกับ กปปส. คือ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายถาวร เสนเนียม ถูกศาลพิพากษาจำคุก ทำให้ต้องหลุดจากตำแหน่ง ตามมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญ ขาดคุณสมบัติเป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก ทำให้การปรับคณะรัฐมนตรีต้องเกิดเร็วขึ้น

และจะรวมถึงตำแหน่งอื่นๆ หรือไม่ ต้องจับตา ขณะที่สถานการณ์การเมืองขณะนี้ร้อนฉ่า!