นิธิ เอียวศรีวงศ์ | สภาเล็ก

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

สภาเล็ก

 

บทบาทของสภาในระยะหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” นั้น มันเป็นอย่างไรกันแน่

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีข้อจำกัดมาแต่แรกว่า เนื้อหาสาระอะไรพูดได้ และอะไรพูดไม่ได้ ที่อ้างถึงไม่ได้เลยคือสถาบันกษัตริย์ แม้แต่จะแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายบริหารใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อปกป้องตนเองทางการเมือง แทนที่จะเป็นผู้ปกป้องสถาบัน ก็ยังพูดไม่ได้ เพราะมีคำว่า “สถาบัน” อยู่ในนั้นด้วย

เมื่อฝ่ายค้านไม่ยอมเปลี่ยนญัตติการอภิปราย ก็ถูก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลประท้วงเสียจนไม่สามารถดำเนินการอภิปรายให้ผู้ฟังรู้เรื่องว่าตัวกำลังพูดอะไร

ถ้าสภาคือองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แล้วมันจะมีหรือครับว่าเรื่องไหนพูดได้ และเรื่องไหนพูดไม่ได้ ถ้ามี เรื่องที่พูดไม่ได้ก็คือเรื่องที่ได้รับการยกเว้นจากอำนาจอธิปไตยของปวงชน ทั้งนี้ ย่อมแสดงว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเพียงบางส่วนเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ในการอภิปราย ส.ส.ยังถูกประธานเตือนเสมอว่า อย่าพูดถึงบุคคลภายนอก แม้ว่าบุคคลภายนอกเหล่านั้นคือคนที่ผู้อภิปรายเชื่อว่า มีส่วนในการฉ้อฉลอำนาจรัฐ หรือทำให้อำนาจรัฐถูกฉ้อฉล สภาจึงเป็นเพียงชมรมของผู้ได้รับการเลือกตั้ง เพื่อมาตั้งวงคุยวิพากษ์วิจารณ์กันและกัน จะนินทาว่าร้ายคนอื่นไม่ได้ เพราะเขาอยู่นอกวง

สภากับวงเหล้าของสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนอะไรสักแห่งจะต่างกันอย่างไรเล่าครับ

 

ข้อทักท้วงของประธานนั้นฟังดูเหมือนพยายามให้ความเป็นธรรมแก่คนนอก แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความไร้ความสำคัญของสภาไปพร้อมกัน เรื่องคอขาดบาดตายแก่บ้านเมืองแค่ไหน ก็อย่าให้คนที่สามเดือดร้อน ทั้งๆ ที่เขาสามารถปกป้องตนเองได้จากกระบวนการยุติธรรมตามปรกติ ผู้ละเมิดย่อมต้องรับผิดชอบในศาลยุติธรรมเอง

เราไม่ควรสมมุติไว้ก่อนหรือว่า ตัวแทนประชาชนไม่ใช่นักป้ายสี (slanderer)

หรือประธานสภาต้องการให้สภาเป็นที่สนทนาธรรม ตามรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมรัฐสภา?

 

ก่อนหน้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่นาน สภาเพิ่งส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สภาจะแก้รัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่สภาเห็นเหมาะสมได้หรือไม่ แล้วศาลก็รับเรื่องไว้พิจารณาเสียด้วย

ในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป รัฐสภาย่อมเป็น “ที่สุด” เสมอ เพราะสามารถออกกฎหมายบังคับอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่อำนาจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ เป็นเพราะรัฐสภาเป็นองค์กรทางการเมืองเพียงหนึ่งเดียว ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรงและ “ตลอดเวลา” คือต้องกลับไปให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ในทุกวาระ ส.ส.จึงเป็นบุคลากรทางการเมืองกลุ่มเดียวที่ต้องอ่อนไหวต่อทัศนคติของประชาชนที่สุด

การใช้เสรีภาพการพูดอย่างไม่รับผิดชอบในสภา จะเป็นหนทางไปสู่การได้รับเลือกตั้งอีกหรือ

แต่สภาไทยกลับเลือกที่จะเป็นรองฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหาร แทนที่จะถือตนว่าเป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งย่อมทรงอิสรภาพที่จะบัญญัติกฎหมายใดๆ ก็ได้ หากศาลรัฐธรรมนูญขัดขวาง ก็อาจออกกฎหมายอย่างเจาะจงเพื่อจำกัดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญได้

แต่ในเมืองไทย เราไม่มีสภาบน สภาล่าง เรามีแต่สภาเล็ก สภาคือส่วนที่เล็กสุดในอำนาจอธิปไตย มีบทบาทในเชิงพิธีกรรม เพื่อเสกความชอบธรรมให้แก่ผู้ถืออำนาจอธิปไตยส่วนอื่น

 

สภาเล็กเกินกว่าจะมีพื้นที่ให้แก่เรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นปัญหาของประชาชน ดังนั้น ท้องถนนจึงเป็น “สถาบัน” เดียวที่ประชาชนสามารถใช้เป็นปากเป็นเสียงของตนได้ ไม่ว่าจะถูกไล่จากที่ทำกินด้วยอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน ยิ่งทั้งสองอำนาจร่วมมือกัน ประชาชนก็หมดตัว หรือราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำจนแทบไม่อาจมีชีวิตรอดต่อไปได้ หรือถูกรัฐธรรมนูญโกง หรือตกงานไม่มีกิน หรือ ฯลฯ

ท้องถนนนั้นเป็นปากเสียงได้ดีทุกอย่าง เสียแต่ว่าท้องถนนมักทำให้ทุกปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องเป็นปัญหาเฉพาะถิ่น จึงขาดพลังต่อรองกับฝ่ายบริหาร, กองทัพ, ตุลาการ, ทุน, สมาคมพ่อค้า, หอการค้า หรือแม้แต่สถานทูตต่างชาติ และองค์กรโลกทั้งหลาย

เช่น โครงการพัฒนาที่ไม่เห็นหัวประชาชน และไม่รองรับทักษะและวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น จึงไม่เป็นผลให้สมรรถนะของประชาชนได้พัฒนาขยายตัวขึ้น โครงการลักษณะนี้ดำเนินการมาหลายชั่วคนแล้ว โดยเทคโนแครตบ้าง, ทหารผู้เผด็จอำนาจและนายของเขาบ้าง, นักการเมืองทุจริตบ้าง และก็ยังทำสืบเนื่องตลอดมา ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนทุกหย่อมหญ้ามาเนิ่นนาน

แต่ท้องถนนเปิดให้ประชาชนเคลื่อนไหวได้เฉพาะท้องถิ่น เช่น ต่อต้านเขื่อนพลังน้ำ, นิคมอุตสาหกรรม, โรงงานขยะหรือโรงงานบำบัดน้ำเสีย, การประกาศเขตป่าทับที่ทำกิน, กฎหมายที่ปล่อยให้คนเป็นแสนเป็นล้านไร้สัญชาติ ฯลฯ ทั้งๆ ที่ทุกเรื่องล้วนเป็นผลมาจากนโยบายพัฒนาที่ขาดความสมดุล เอียงข้างเข้าหาผู้คนในเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่พร้อมจะใช้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาเหล่านั้น ปัญหาใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังทุกปัญหาเช่นนี้ใหญ่เกินกว่าที่ท้องถนนจะรับได้

นานๆ ครั้ง ภายใต้สถานการณ์พิเศษบางอย่างเช่นในปัจจุบันเท่านั้น ที่ปัญหาใหญ่ระดับชาติจึงสามารถใช้ท้องถนนได้สักที แล้วปัญหาใหญ่ขนาดนี้จะเข้าไปหาทางออกกันในสภาซึ่งเล็กกว่าท้องถนนได้อย่างไร เพราะแม้แต่ปัญหาความเดือดร้อนที่เล็กกว่านี้สภายังรองรับไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

สภาเล็กสะท้อนความจริงข้อหนึ่งว่า ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ประชาชนเล็ก

นอกจากรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 แล้ว รัฐธรรมนูญทุกฉบับหลังจากนั้น พยายามทำให้ประชาชนเล็กลงๆ มาเรื่อยๆ แม้ไม่ต้องทำอย่างออกหน้าเหมือนรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ก็แทรกมาตราต่างๆ ลงไปให้ประชาชนไร้อำนาจมากขึ้นทุกที

เช่น การริเริ่มกฎหมายของสภาจะทำได้ก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีลงนามอนุมัติว่าไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ข้อกำหนดข้อนี้ข้อเดียว ก็ลิดรอนอำนาจในการวางนโยบายออกไปจากตัวแทนของประชาชนโดยสิ้นเชิงแล้ว สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องบนท้องถนน จึงไม่มีทางที่พรรคการเมืองจะประมวลกันขึ้นมาสู่การปรับแก้นโยบายได้

ประชาชนถูกกำหนดให้เลือกผู้แทนฯ ไปทำเรื่องเล็กๆ ที่ไร้ความสำคัญ และปล่อยเรื่องใหญ่ๆ เช่น นโยบายพัฒนาไว้ในมือของชนชั้นนำที่ครองอำนาจมาอย่างสืบเนื่อง

 

เอาเข้าจริง “ประชาชน” ในฐานะแนวคิดหนึ่ง ไม่มีในวัฒนธรรมไทยด้วยซ้ำ (ประชาชนหรือ The People ซึ่งเป็นโจทย์ในคดีอาญาอเมริกันเสมอนั้น ไม่มีในภาษาไทย) ประชาชนในภาษาไทยหมายถึง คนที่ไม่ใช่ข้าราชการ, ไม่ใช่ทหาร-ตำรวจ, ไม่ใช่ตุลาการ, ไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ และไม่ใช่ “เอกชน” ซึ่งหมายถึงนักธุรกิจขนาดกลางถึงใหญ่ ประชาชนจึงเป็นพวกคอหยักๆ ที่ไร้ตัวตนและสถานะ

คนจำนวนมากที่ถูกเรียกว่าประชาชนนี้ไม่นับเป็นกลุ่มก้อน ดังข้าราชการและคนในสถานะต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่แยกออกมาเป็น “องคาพยพ” หนึ่ง ที่พึงถืออำนาจหรือสิทธิที่จะไปกำหนดเรื่องอะไรที่ใหญ่ๆ ได้

ถึงบัญญัติให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่ความไร้ตัวตนของประชาชนทำให้อำนาจอธิปไตยลอยเคว้งคว้าง รอการหยิบฉวยจากองคาพยพที่เป็นตัวตนอื่นๆ ไปครอบครอง

เมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตย เราหมายถึงประชาชนในฐานะองคาพยพที่มีจริง ทรงอำนาจสูงสุด และมีกลไกที่จะทำให้องคาพยพนี้เป็น “ที่สุด” ของการตัดสินใจทุกอย่าง แต่ถ้าไม่มี “ประชาชน” ในแนวคิดนี้ ประชาธิบไตยก็เป็นเพียงชื่อที่ไร้ความหมาย

อย่างมากที่สุดที่ประชาชนในความหมายนี้จะปรากฏตัวขึ้นมาบ้างในเมืองไทย ก็คือการเคลื่อนไหว “ชุมชนนิยม” (communitarianism) แม้ว่าชุมชนนิยมมีประโยชน์ โดยเฉพาะในการต่อรองกับกลุ่มอื่นๆ แต่ชุมชนนิยมไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะประชาชนโดยรวมก็ยังไม่ใช่องคาพยพที่มีตัวตนในสังคมอยู่นั่นเอง พลังของชุมชนนิยมไม่เพียงพอจะต่อรองกับรัฐซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยได้

แต่ถึงชนะในบางกรณี (ซึ่งมีอยู่น้อย) ก็ไม่ได้เพิ่มอำนาจให้แก่ “ประชาชน” ที่เป็นองค์รวม เพราะแม้แต่อัตลักษณ์ของประชาชนที่เป็นองค์รวมก็ไม่ปรากฏชัดขึ้นมาในความสำเร็จ ประชาชนในท้องถิ่นหนึ่งๆ ซึ่งตัดสินใจ “ลงถนน” ต่างหาก ที่ทำให้รัฐและทุนไม่อาจตัดสินใจใช้ทรัพยากรท้องถิ่นตามอำเภอใจได้ แต่กลไกการตัดสินใจก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือไม่มี “ประชาชน” อยู่ในนั้นต่อไป

ยิ่งลัทธิกลับไปสู่วิถีการผลิตเลี้ยงตนเอง โดยการสร้างทรัพยากรขึ้นในไร่นาของตนเอง ไม่ต้องพึ่งทั้งตลาดและทรัพยากรชุมชน กลายเป็นหน่วยอิสระที่ไม่เชื่อมโยงกับใครเลย แม้ว่าจะอยู่ในชุมชน ก็ไม่มีชุมชน แม้ว่าเป็นประชาชน ก็ไม่มีประชาชน จึงยิ่งรอนพลังของ “ประชาชน” ที่เป็นองค์รวมลง

ตราบเท่าที่สำนึกถึงประชาชนที่เป็นองค์รวมยังไม่เด่นชัดในสังคมไทย ประชาธิปไตยแบบไทยซึ่งหมายถึงสภาเล็ก ย่อมดำรงอยู่ตลอดไป เล็กทั้งในรัฐธรรมนูญ และเล็กทั้งในวัฒนธรรมประเพณีทางการเมือง